พาณิชย์ล็อกโควตาสินค้าเกษตร เอกชนจี้เจรจารับมือเบร็กซิตป่วนส่งออก

รับมือ Brexit ป่วนส่งออก พาณิชย์เตรียมเจรจาอียูคงโควตาสินค้าไก่-มันสำปะหลัง-ข้าว มั่นใจไม่กระทบส่งออกเอกชนจี้รัฐถกอียู-อังกฤษคงโควตา หวั่นกระทบตลาดไก่ไปอียู 2.8 แสนตัน

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่าในวันที่ 21 มกราคมนี้ นางเทเรซา เมย์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ จะเสนอแผนการแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) ฉบับปรับปรุงใหม่ต่อรัฐสภาอีกครั้ง ซึ่งยังยากจะคาดเดาว่าจะสรุปอย่างไร โดยหากอังกฤษยังใช้ระเบียบแบบเดียวกับอียู ภาคการส่งออกทางตรงอาจกระทบเล็กน้อยจากการอ่อนค่าลงของเงินปอนด์ โดยอังกฤษเป็นคู่ค้าลำดับที่ 18 ของไทย มีมูลค่าการค้า 7,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 1.53% ของการค้าทั้งหมด

“ขณะนี้ไทยอยู่ระหว่างเจรจากับทั้ง 2 ฝ่าย เพื่อรักษาส่วนแบ่งตลาดจากโควตาลดภาษีสินค้าที่ไทยเคยได้ เช่น สัตว์ปีกแช่เย็นและแช่แข็ง มันสำปะหลัง และข้าว ที่ต้องเจรจาใหม่หลัง Brexit อย่างไรก็ตาม คาดว่า Brexit จะเป็นโอกาสทำความตกลงทางการค้าเสรี (FTA)ไทย-สหราชอาณาจักร รวมถึงโอกาสในการชักชวนนักลงทุนเข้ามาลงทุนในไทย โดยเฉพาะในเขตพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เพราะอังกฤษเชี่ยวชาญด้านการบินและโลจิสติกส์ ยานยนต์สมัยใหม่ ดิจิทัล เป็นต้น”

นายคึกฤทธิ์ อารีปกรณ์ ผู้จัดการสมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อส่งออกไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาได้ประชุมร่วมกับกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งเตรียมยื่นหนังสือขอเจรจากับสหภาพยุโรป (อียู) เพื่อรักษาโควตาภาษีสินค้าส่งออกของไทย โดยคาดว่าจะมีการเจรจากับอียูในช่วงปลายเดือนนี้ เป็นไปได้ที่อียูจะเสนอให้สมาชิกพิจารณาว่าจะคงปริมาณโควตาให้ไทยเท่าเดิมหรือเพิ่มขึ้น ส่วนการเจรจากับอังกฤษจะเกิดหลังเบร็กซิต เบื้องต้นคาดว่าอังกฤษจะใช้ภาษีเช่นเดียวกับอียู แต่ยังไม่แน่นอนว่าจะให้โควตาหรือไม่ ทั้งนี้ ปัจจุบันไทยได้โควตาส่งออกไก่แปรรูปจากอียู ปีละ 174,000 ตัน ภาษีอัตรา 8.5% นอกโควตาอัตรา 1,200 ยูโรต่อตัน และไก่หมักเกลือไทย ได้รับจัดสรรโควตา 92,000 ตัน เสียภาษีในโควตาอัตรา 15.4% นอกโควตา 1,300 ยูโรต่อตัน

“อียูเป็นตลาดหลักส่วนแบ่ง 30% ปีที่ผ่านมาไทยส่งออกไก่ไปอียู 3.3 แสนตันเป็นการส่งออกในโควตา 2.7-2.8 แสนตัน ซึ่งในจำนวนนี้ 50% เป็นการส่งออกไปยังอังกฤษ และยังมีนอกโควตาอีก 50,000 ตัน ที่อียูนำเข้าจากไทย แทนบราซิลผู้ผลิตอันดับ 1 ซึ่งมีปัญหาภายใน ส่วนแนวโน้มการส่งออกในปีนี้ยังสรุปไม่ได้ เพราะเบร็กซิตที่อาจทำให้อียูเร่งนำเข้าก่อนมีนาคม แต่ค่าเงินบราซิลอ่อนกว่าไทย 20% ลูกค้าอาจหันไปซื้อบราซิลแทน ทำให้ราคาไก่ส่งออกยังทรงตัว ตันละ 2,300-2,500 เหรียญสหรัฐ ใกล้เคียงกับไตรมาส 4 ของปี 2561”

ร.ต.ท.เจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เปิดเผยว่า สมาคมขอให้กระทรวงพาณิชย์เจรจาเพื่อรักษาสิทธิประโยชน์ในการส่งออกภายใต้โควตาที่อียูเคยให้ ไม่ให้ต่ำไปกว่าเดิมที่กำหนดประมาณ 142 ยูโรต่อตัน (ปี 2561 ไทยได้โควตาข้าวขาว 21,455 ตัน และข้าวหัก 52,000 ตัน) ทั้งนี้ หากต้องติดตามว่าหลังจาก Brexit แล้ว อังกฤษใช้ฐานการคำนวณโควตา และภาษีในอัตราเดียวกับอียูหรือไม่ ซึ่งไทยขอให้ได้ไม่น้อยไปกว่าเดิม ทั้งนี้ ในอียูอังกฤษถือว่าเป็นตลาดที่ไม่มีการปลูกข้าว ส่วนอิตาลี และสเปน มีการปลูกข้าว

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!