กฟผ. จับมือ สทน. ลงนาม MOU พัฒนาเทคโนโลยีพลาสมาและฟิวชัน พัฒนาต้นแบบเครื่องโทคาแมคไทย

ก้าวใหม่เทคโนโลยีขั้นสูง กฟผ. จับมือ สทน. ลงนาม MOU พัฒนาเทคโนโลยีพลาสมาและฟิวชัน พัฒนาต้นแบบเครื่องโทคาแมคไทย

กฟผ. และ สทน. ลงนาม MOU ด้านการพัฒนาเทคโนโลยีพลาสมาและฟิวชัน พร้อมร่วมมือออกแบบและพัฒนาระบบประกอบของเครื่องโทคาแมคให้เป็นเครื่องต้นแบบของประเทศ ขีดเส้น 5ปี

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า วันนี้ (24 เมษายน 2562) นายพัฒนา แสงศรีโรจน์ รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ ในฐานะโฆษกการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ด้านการพัฒนาเทคโนโลยีพลาสมาและฟิวชัน กับ ดร.พรเทพ นิศามณีพงษ์ ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สทน.) โดยมี ดร.ธวัชชัย อ่อนจันทร์ รองผู้อำนวยการ (วิชาการ) สทน. ดร.จิราพร ศิริคำ ผู้ช่วยผู้ว่าการวิจัยนวัตกรรมและพัฒนาธุรกิจ กฟผ. นายสาธิต ครองสัตย์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม กฟผ. และผู้เกี่ยวข้อง ร่วมด้วย

นายพัฒนา แสงศรีโรจน์ รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ เปิดเผยว่า เทคโนโลยีพลาสมาและฟิวชันถือเป็นหนึ่งเทคโนโลยีที่ได้รับความสนใจอย่างสูงในหลากหลายประเทศ เป็นแหล่งพลังงานในอนาคตที่มีความสะอาด ปลอดภัย และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม กฟผ. เห็นว่าจำเป็นที่จะต้องมีการพัฒนาเทคโนโลยีนี้ เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศในด้านเทคโนโลยีฟิวชัน และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศให้ทันต่อสถานการณ์พลังงานที่มีความเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องในปัจจุบัน

สำหรับ MOU ฉบับนี้ มีกำหนดระยะเวลา 5 ปี โดย กฟผ. และ สทน. มีความร่วมมือระหว่างกัน อาทิ ร่วมกันศึกษาและพัฒนาเทคโนโลยีพลาสมาและฟิวชัน เพื่อนำไปสู่การสร้างนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมและเศรษฐกิจโดยรวม เพื่อยกระดับขีดความสามารถของบุคลากรในสาขาวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีพลาสมาและฟิวชัน การร่วมกันจัดอบรมและถ่ายทอดองค์ความรู้ทางวิชาการด้านดังกล่าวแก่บุคลากรของทั้งสองฝ่าย ตลอดจนสร้างเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญและการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเฉพาะทาง รวมถึงร่วมมือกันออกแบบและพัฒนาระบบประกอบของเครื่องโทคาแมค ซึ่งเป็นอุปกรณ์สำคัญในการกักเก็บพลาสมาด้วยสนามแม่เหล็กและใช้ในการศึกษาวิจัยเรื่องเทคโนโลยีฟิวชัน โดยผสานความเชี่ยวชาญด้านวิศกรรมไฟฟ้าและการออกแบบระบบไฟฟ้าของ กฟผ. กับความเชี่ยวชาญด้านการวิจัยและพัฒนาพลังงานนิวเคลียร์ของ สทน. เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการศึกษาและพัฒนาเทคโนโลยีพลาสมาและฟิวชันของประเทศต่อไป ทั้งนี้ ในอนาคตอาจสามารถใช้เทคโนโลยีฟิวชัน ซึ่งเป็นพลังงานทางเลือกที่สะอาดใช้ในการผลิตไฟฟ้าได้สำเร็จ

ด้าน ดร.พรเทพ นิศามณีพงษ์ ผู้อำนวยการ สทน. เปิดเผยถึงกรอบความร่วมมือว่า กฟผ. และ สทน. จะร่วมกันวิจัยและพัฒนาศักยภาพของระบบจ่ายพลังงาน ระบบควบคุมและเก็บข้อมูล ระบบวัดคุณสมบัติของพลาสมาขั้นพื้นฐาน และระบบสุญญากาศของเครื่องโทคาแมค เพื่อเป็นเครื่องต้นแบบสำหรับประเทศไทย รวมถึงพัฒนาเครื่องกำเนิดพลาสมาเชิงเส้นต้นแบบที่มีอุณหภูมิและความหนาแน่นของพลาสมาตามมาตรฐาน โดยเทคโนโลยีดังกล่าวสามารถนำไปใช้ประโยชน์หลากหลายด้าน อาทิ การผลิตวัสดุทนความร้อนสูงเพื่อใช้ประโยชน์ในภาคอุตสาหกรรมการใช้เครื่องพลาสมาทางการแพทย์ ตลอดจนการเกษตร และการพัฒนาระบบควบคุมความเร็วสูง นอกจากนั้น ยังเป็นการส่งเสริมให้บุคลากรภายในประเทศมีองค์ความรู้ด้านการพัฒนาเทคโนโลยีพลาสมาและฟิวชัน ซึ่งเป็นก้าวใหม่ที่สำคัญต่อการวิจัยด้านเทคโนโลยีขั้นสูง