“ร้อนจัด” ใช้ไฟทะลุ 30,000 MW ภาคใต้เสี่ยงไฟตก-ดับในพื้นที่

เมื่อวันที่ 24 เมษายนที่ผ่านมานี้ ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (peak) ในระบบของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้ทำลายสถิติอีกครั้งด้วยตัวเลขที่สูงถึง 30,120.2 เมกะวัตต์ (MW) อุณหภูมิ (กทม.) 32.6 องศาเซลเซียส เวลา 20.29 น. หรือสูงกว่าสถิติเดิมที่ 29,680.3 MW ที่อุณหภูมิ 32 องศาเซลเซียส ที่เวลา 21.35 น. ของวันที่ 20 เมษายน นับเป็น peak ติด ๆ กันในช่วงไม่ถึงสัปดาห์ และยังเป็นครั้งแรกที่ peak พุ่งทะลุ 30,000 MW ขึ้นไปด้วย

กฟผ.ได้ตั้งข้อสังเกตว่า peak ที่เกิดขึ้นติดต่อกันนี้เกิดจากสภาพอากาศที่ร้อนจัด มีการใช้เครื่องปรับอากาศมากขึ้น แต่ peak กลับเกิดขึ้นในช่วงกลางคืน ซึ่งแตกต่างจาก peak ของปีก่อนหน้านี้ ที่มักจะเกิดขึ้นในช่วงกลางวันเสมอ ๆ ในประเด็นนี้มีความเป็นไปได้ว่า เกิดกำลังผลิตไฟฟ้าแบบผลิตเองใช้เอง (Isolated Power Supply หรือ IPS) ในช่วงกลางวันมากขึ้น

จากเดิมที่จะต้องพึ่งพากำลังผลิตไฟฟ้าจาก 3 การไฟฟ้าเหมือนในอดีต นับเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญของการผลิตไฟฟ้าของประเทศต่อไปในอนาคต

Peak ทะลุเกินคาดการณ์

เป็นที่น่าสังเกตว่า peak ที่เกิดขึ้นนั้นเป็น peak ที่ “เกินไปกว่า” การคาดการณ์ของ กฟผ.ที่คาดว่า จะเกิดขึ้นในระหว่างเดือนเมษายน-พฤษภาคม อยู่ระหว่าง 28,000-29,000 MW เท่านั้น แม้ peak ของประเทศไทยขณะนี้จะพุ่งทะลุ 30,000 MW ไปแล้วและมีแนวโน้มช่วงฤดูร้อนที่เหลืออาจจะมี peak ครั้งใหม่เกิดขึ้นมาอีก แต่โดยในภาพรวมของระบบ กฟผ.ยังมั่นใจว่า ยังสามารถรักษาความมั่นคงระบบไฟฟ้าไว้ได้ และคาดว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อการใช้ไฟฟ้าของประชาชน จากข้อเท็จจริงที่ว่ากำลังผลิตไฟฟ้ารวมของประเทศไทยทั้งประเทศ ขณะนี้อยู่ที่ 42,619.50 MW หรือสูงกว่า peak ที่เกิดขึ้นถึง 12,499.3 MWแต่จากชุดตัวเลขกำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศข้างต้น หากนับเฉพาะกำลังผลิตไฟฟ้าของ กฟผ. ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักที่ดูแลความมั่นคงระบบไฟฟ้าของประเทศจะพบว่า ปัจจุบัน กฟผ.มีกำลังผลิตไฟฟ้ารวมแค่ 14,565.58 MW หรือคิดเป็น 34.18% ขณะที่กำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศที่เหลือจะมาจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ (IPP) 4,948.50 MW หรือคิดเป็น 35.07% ซึ่ง “แซงหน้า” กำลังผลิตไฟฟ้าของ กฟผ.ไปแล้ว, ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายเล็ก (SPP) 9,227.82 MW หรือคิดเป็น 21.65% และการรับซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศ (สปป.ลาว) อีก 3,877.60 MW หรือคิดเป็น 9.10%

โดยชุดตัวเลขเหล่านี้ยังไม่ได้รวมกำลังผลิตไฟฟ้าที่แท้จริงของกลุ่ม IPS ทั้งหมด และยังส่งผลกระทบไปถึงการเลือกที่จะสั่งเดินเครื่องโรงไฟฟ้าประเภทใดของใคร เพื่อเตรียมรับมือกับ peak ที่เกิดขึ้น เนื่องจากต้นทุนการผลิตและการรับซื้อไฟฟ้าแต่ละประเภทไม่เท่ากันนั่นเอง

ภาคใต้สุ่มเสี่ยงไฟตกดับ

อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาลงไปในรายละเอียดของการเกิด peak เป็นรายภาค ในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561-2580 (PDP 2018) จะพบว่า ภาคใต้มีสถานการณ์ที่ “สุ่มเสี่ยง” ต่อความเป็นไปได้ที่จะเกิดไฟฟ้าตกดับในพื้นที่มากที่สุด เนื่องจาก peak ล่าสุดที่เกิดขึ้น ณ วันที่ 21 เมษายน 2562 อยู่ที่ 2,726.90 MW ที่เวลา 21.30 น.

จากกำลังผลิตไฟฟ้าในภาคใต้รวมทั้งหมด 3,876 MW หรือมีกำลังผลิตไฟฟ้าเกิน peak ที่เกิดขึ้นแค่ 1,149.1 MW เท่านั้น ซึ่งกำลังผลิตไฟฟ้าเพียงแค่นี้ไม่สามารถรองรับเหตุสุดวิสัย อาทิ กรณีโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่หยุดฉุกเฉิน, เกิดปัญหากับสายส่งที่ภาคใต้ต้องพึ่งพากำลังผลิตไฟฟ้าผ่านสายส่งจากภาคกลาง ที่อาจจะเกิดขึ้นในช่วงเดียวกันกับที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดในภาคใต้ได้

ดังนั้น ภาคใต้จึงเป็นภาคเดียวที่มีความ “จำเป็น” เร่งด่วน ที่จะต้องสร้างโรงไฟฟ้าหลักเพื่อความมั่นคงของระบบไฟฟ้า ไม่ว่าจะเป็นโครงการโรงไฟฟ้าสุราษฏร์ธานี ขนาดกำลังผลิต 1,400 MW (เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ COD ปี 2570-2572), โครงการโรงไฟฟ้าใหม่ขนาดกำลังผลิต 1,700 MW (เชื้อเพลิงถ่านหิน-ก๊าซธรรมชาติ COD ปี 2577-2578) เพื่อทดแทนโรงไฟฟ้าจะนะ ชุดที่ 1 กับโรงไฟฟ้ากระบี่ ซึ่งจะปลดออกจากระบบในปี 2577 รวมกำลังผลิต 1,025 MW

ส่วน peak ที่เกิดขึ้นในภาคอื่น ๆ นั้น กำลังผลิตไฟฟ้าในพื้นที่นั้น ๆ ยัง “สูงกว่า” peak สูงสุดที่เกิดขึ้นมาก ยกตัวอย่าง peak ที่เกิดขึ้นในภาคกลาง (รวมภาคตะวันออก) สูงสุดเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2562 เวลา 20.30 น. ที่ 10,746.10 MW ก็ยัง “ต่ำกว่า” กำลังผลิตไฟฟ้ารวมของภาคที่ 19,891 MW อยู่อีกมาก หรือภาคอีสาน ที่ peak พุ่งขึ้นไปถึง 4,005 MW เมื่อวันที่ 24 เมษายนที่ผ่านมา ก็ยัง “ต่ำกว่า” กำลังผลิตไฟฟ้ารวมของภาคที่ 6,056 MW อยู่ดี

กรุงเทพฯนำลิ่ว 10,407 MW

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาเฉพาะความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (peak) ที่เกิดขึ้นในกรุงเทพฯ+ปริมณฑล ที่เกิดขึ้นทั้งในระบบของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่ 10,407 MW ณ วันที่ 19 เมษายน เวลา 14.30 น. และในระบบของการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ที่ 9,412.56 MW เวลา 14.30 น. ซึ่งเป็น peak ที่ใกล้เคียงกันนั้น ได้สะท้อนให้เห็นถึงการใช้ไฟฟ้าสูงสุดใน 3 พื้นที่ คือ กรุงเทพฯ-นนทบุรี และสมุทรปราการ แบบ “นำลิ่ว” ในทุกภูมิภาคของประเทศ

ขณะที่โรงไฟฟ้าหลักในเขตนครหลวง ปัจจุบันมีกำลังผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมพระนครใต้ ชุดที่ 1-3 รวม 1,588 MW กับโรงไฟฟ้าพระนครเหนือ ชุดที่ 1-2 กำลังผลิตรวม 1,498 MW แม้ peak ที่เกิดขึ้นในเขตนครหลวงจะสูงมาก เมื่อเทียบกับกำลังผลิตไฟฟ้าในพื้นที่ แต่ก็มีกำลังผลิตไฟฟ้าจากภาคกลางและภาคตะวันตกส่งผ่านสายส่งเข้ามาหล่อเลี้ยงกรุงเทพฯและปริมณฑลอยู่แล้ว จึงไม่น่ากังวลกับ peak ที่เกิดขึ้นต่อเนื่องอยู่ในปัจจุบัน

โดยเป็นการเกิด peak ในช่วงกลางวัน จากการเปิดเครื่องปรับอากาศทั้งในบ้านเรือนและอาคารสถานที่เป็นหลัก

โดย นายจาตุรงค์ สุริยาศศิน ผู้ช่วยผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง กล่าวว่า กฟน.พร้อมที่จะดูแลระบบไฟฟ้าให้มีความมั่นคงตลอด 24 ชม. แม้ว่า “จะมีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องก็ตาม”

ด้าน นายเขมรัตน์ ศาสตร์ปรีชา รองผู้ว่าการธุรกิจ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) รักษาการบริษัท PEA INCOME กล่าวว่า จากข้อมูลในระบบของ กฟภ. peak ทั้งประเทศสูงสุด ณ วันที่ 24 เมษายน 2562 อยู่ที่ 30,000 MW ภาคกลางอยู่ที่ราว 10,000 MW ภาคเหนือและใต้ ประมาณ 3,000 MW ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 2,000 MW ส่วน peak ในระบบของ กฟภ.จะพุ่งสูงขึ้นหรือไม่ในเดือนพฤษภาคมนั้น

“เป็นธรรมชาติของระบบไฟฟ้าที่กำลังการใช้งานไฟฟ้าจะขึ้นอยู่กับอุณหภูมิ ยิ่งอุณหภูมิสูงขึ้น การใช้ไฟจะสูงขึ้นตาม เพราะประชาชนจะใช้พลังงานไฟฟ้ามากขึ้นในการสร้างความเย็น แต่ทาง PEA ซึ่งดูแลเรื่องระบบต้องชี้แจงว่า ไฟฟ้ายังมีเพียงพอ โดยหม้อไฟและสายส่งไฟยังคงสามารถรองรับการใช้ไฟฟ้าที่มากขึ้นได้” นายเขมรัตน์กล่าว

ทั้งนี้ ในจังหวัดที่มีการใช้ไฟฟ้าปริมาณมากและเป็นพื้นที่หลัก สถานการณ์ยังไม่น่าเป็นห่วง เพราะมีการจัดเตรียมโครงสร้างรองรับไว้แล้ว แต่อาจมีปรากฏการณ์ไฟตกในพื้นที่ย่อยปลายสายส่งไฟฟ้า เช่น ตรอก ซอย ต่าง ๆ ที่กำลังไฟอ่อนลง และการใช้ในปริมาณมากอาจทำให้กำลังไฟลดลงได้ ซึ่งตอนนี้ได้ระดมกำลังคนเข้าตรวจสอบและแก้ปัญหาในจุดที่คาดว่าจะมีปรากฏการณ์ดังกล่าวแล้ว