TUปั้นแคลเซียมทูน่า-น้ำมันปลา โหมนวัตกรรมต่อยอดส่งออก

ราชาทูน่าโลก “ทียู-ไทยยูเนี่ยน” รุกนวัตกรรมโปรดักต์ทูน่าเต็มสูบ ผุดโรงงานต้นแบบก่อนขึ้นไลน์ผลิตจริง เตรียมออกสินค้าใหม่ “แคลเซียมทูน่า” หวังเพิ่มสัดส่วนรายได้จากนวัตกรรม 10% ใน 5 ปี ด้านภาพรวมธุรกิจ TU ปีนี้มั่นใจโตได้ 3-5% พร้อมรับอานิสงส์สงครามการค้าดันยอดส่งออก “ทูน่าลอยน์” ไปสหรัฐเพิ่มอีก 10% 

นายธีรพงศ์ จันศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป หรือ TU กล่าวว่า การพัฒนานวัตกรรมเป็นกลยุทธ์สำคัญในการขับเคลื่อนและสร้างการเติบโตให้ TU โดยย้ายศูนย์นวัตกรรมไทยยูเนี่ยน หรือ Global Innovation Center (GIC) จากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งตั้งมา 4 ปี มายังบริษัท พร้อมตั้งงบประมาณสนับสนุนปีละ 400-500 ล้านบาท

“เราย้ายศูนย์ GIC มาที่ตึกเอสเอ็มทาวเวอร์ชั้น 28 และ 35 ขนาดพื้นที่ใหญ่กว่าเดิม 3 เท่า หรือ 5,000 ตร.ม. และสร้างโรงงาน Pilot Plant ผลิตสินค้าต้นแบบ ก่อนจะลงไลน์การผลิตเชิงอุตสาหกรรม ส่วน GIC เดิมได้พัฒนาเป็น space-F เพื่อส่งเสริมและพัฒนา startup ร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดล-NIA เพื่อค้นหา startup ด้านอาหาร โดย TU ช่วยส่งเสริมด้านต่าง ๆ”

เป้าหมายการพัฒนานวัตกรรมนั้น คาดว่าจะสร้างรายได้กลับคืนให้ TU ในสัดส่วน 10% ของรายได้ยอดขาย 3-5 ปีข้างหน้า หรือสร้าง gross margin ไม่ต่ำกว่า 25% ล่าสุดปีนี้ TU จะทดลองทำตลาดแคลเซียมทูน่า ซึ่งได้จากการพัฒนาการผลิตจากโรงงาน TU ที่ฝรั่งเศสพร้อมจดสิทธิบัตรสินค้าที่มีนวัตกรรม 4 รายการ ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ประกอบไปด้วย 1) ผลิตภัณฑ์ Yellowfin Tuna Slices หรือทูน่าแล่แผ่นบางปรุงรสพร้อมรับประทาน ที่ทำจากเนื้อปลาทูน่าสายพันธุ์ครีบเหลือง มาใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยทำให้มีลักษณะคล้าย “แฮม” ประกอบอาหารในฟู้ดเซอร์วิส โดยจดสิทธิบัตรเริ่มวางตลาดในสหภาพยุโรป, สหรัฐ และจีนแล้ว

2) การพัฒนาแพ็กเกจจิ้งจากพลาสติกแทนกระป๋อง พร้อมอุปกรณ์ในการรับประทาน เพื่อให้เกิดความสะดวก ตอบโจทย์ตลาดคนรุ่นใหม่ที่ไม่นิยมการซื้อบรรจุกระป๋อง และต้องการเห็นสินค้าภายใน ซึ่งทำให้ผู้บริโภคหันมานิยมรับประทานมากขึ้น และมีน้ำหนักเบา ขณะนี้ได้เริ่มใช้บรรจุภัณฑ์นี้ในตลาดสหรัฐและอังกฤษ ในแบรนด์ John West และในอนาคตมีแผนจะพัฒนาให้ใช้ทดแทนกระป๋อง 100% ในบางตลาด

3) สิทธิบัตรการเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการผลิตอาหาร และ 4) การกลั่นน้ำมันปลาทูน่าบริสุทธิ์คุณภาพสูง ซึ่งเป็นแหล่งกรดไขมันโอเมก้า 3 และ DHA ซึ่งเป็นส่วนผสมสำคัญในการผลิตนมผงเด็ก โดยตั้งโรงงานอยู่ที่เยอรมนีแคลเซียมทูน่าโปรดักต์ใหม่แคลเซียมทูน่า มีทั้งแบบชงละลายน้ำกับแคปซูลนั้น ดร.ธัญญวัฒน์ เกษมสุวรรณ

ผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมไทยยูเนี่ยน กล่าวเสริมว่า TU ได้ร่วมพัฒนากับมหาวิทยาลัยมหิดลพบว่า โครงสร้างกระดูกปลานำไปทดสอบเพิ่มความแข็งแรงและมวลกระดูก เป็นสารจากธรรมชาติ 100% และได้จดสิทธิบัตรแล้ว ขณะนี้เพิ่งทดสอบเชิงพาณิชย์ไปเมื่อ 2 สัปดาห์ก่อน อยู่ระหว่างเตรียมผลิตจริงในโรงงานต้นแบบที่ฝรั่งเศส โดยมีออร์เดอร์ติดต่อซื้อเข้ามาแล้ว คาดว่าโรงงานจะผลิตได้ 200 ตันต่อปี

“tuna calcium พัฒนาจากกระดูกปลา ปกติจะทิ้งหรือไม่ก็นำไปทำเป็นปุ๋ย มีราคา 0.2 เหรียญสหรัฐ/กก. แต่ TU ได้พัฒนาเป็นส่วนประกอบผลิตภัณฑ์ในทางการแพทย์ สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้ถึง 100 เหรียญ/กก. คล้ายผลิตภัณฑ์น้ำมันดิบปลาทูน่า ปกติราคา กก.ละ 6-8 เหรียญ เมื่อนำไปกลั่นเป็นน้ำมันทูน่าบริสุทธิ์ ราคา กก.ละ 12-16 เหรียญ เป็นการสร้างประโยชน์จากบายโปรดักต์จากการผลิตปลากระป๋องในแต่ละปี TU ผลิตได้ 130,000 ตัน”

ทูน่าลอยน์ขายดี

ส่วนภาพรวมธุรกิจของ TU นายธีรพงศ์กล่าวว่า ยังคงตั้งเป้ายอดขายรวมไว้ 5% คิดว่าจะมีโอกาสทำได้ระหว่าง 3-5% หลังผลประกอบการไตรมาส 1/2562 เติบโต 2% กว่า ถือว่า “ไม่ได้เติบโตมาก” แต่กำไรเติบโตค่อนข้างมาก เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว โดยเฉพาะ gross margin ที่ต่ำกว่ามาตรฐาน 11%

“ปีนี้เป็นปีที่ดีอีกปีหนึ่งของเรา ท่ามกลางเศรษฐกิจทั่วโลกชะลอตัว บริษัทจึงเน้นการควบคุมต้นทุน-บริหารจัดการกำไรให้มาก ส่วนการลงทุนธุรกิจใหม่ครึ่งปีหลังยังไม่มี ถ้ามีก็จะเน้นการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตมากกว่า”

ปัจจัยเสี่ยงครึ่งปีหลังยังต้องจับตาความผันผวนของราคาวัตถุดิบ และอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งราคาวัตถุดิบปรับตัวลดต่ำลงกว่าปีที่ผ่านมา ส่วนอัตราแลกเปลี่ยนมีความท้าทายพอสมควร นอกจากนั้นเงินปอนด์-เงินยูโรมีผลต่อการทรานสเลชั่นมาเป็นงบฯของเรา ทำให้เหมือนกับเราไม่โต และมีความเสี่ยงเรื่องการเมืองระหว่างประเทศกรณี Brexit

“สงครามการค้าสหรัฐ-จีน ผมคิดว่าไทยได้ประโยชน์ แต่ไม่ใช่ได้ทั้งหมด อาจจะมีบาง section อย่างอาหารทะเลได้ประโยชน์เพราะสหรัฐสวิตช์การนำเข้าจากจีนมาที่ประเทศไทยแทน โดยเฉพาะทูน่าลอยน์ (tuna loins) ซึ่งเรามีโอกาสมากขึ้น

จากคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นประมาณ 10% ส่วนกุ้งไม่มากเพราะจีนเป็นเนตอิมพอร์ตเตอร์ เขาตอนนี้กลับมาเป็นผู้นำเข้า สำหรับการที่สหรัฐตัดสิทธิพิเศษทางภาษี GSP อินเดีย ผมไม่คิดว่าจะมีผลกับการผลิตของฐานผลิตกุ้งของ TU ที่อินเดีย เพราะฐานผลิตนั้นค่อนข้างจะ competitive ฐานการผลิตที่นั่นมี supply มากที่สุดในโลก” นายธีรพงศ์กล่าว

ไฟไหม้โรงกลั่นน้ำมันทูน่า 

ส่วนกรณีที่เกิดไฟไหม้ (1 มิถุนายน 2562) โรงกลั่นน้ำมันทูน่าบริสุทธิ์ของ TU ที่เมืองรอสต็อก เยอรมนีนั้น

“เจ้าหน้าที่อยู่ระหว่างตรวจสอบความเสียหายและสาเหตุที่เกิดขึ้น” แต่ยังโชคดีที่ในช่วงไฟไหม้โรงงานปิด และไม่มีพนักงานปฏิบัติงาน จึงไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บ และน้ำมันปลาบริสุทธิ์ที่กลั่นไว้ไม่ได้รับความเสียหาย แต่เครื่องจักรและระบบการผลิตเสียหายเกินกว่า 50% จึงต้องก่อสร้างโรงงานขึ้นมาใหม่ คาดว่าจะใช้เวลาก่อสร้างไม่นานเพราะใช้แปลนเดิม

ทั้งนี้ TU เพิ่งเปิดโรงงานนี้ในเดือนพฤศจิกายน 2561 ใช้เงินลงทุน 24 ล้านเหรียญสหรัฐ มียอดจำหน่ายน้ำมันทูน่าบริสุทธิ์แล้ว 250 ตัน ให้กับบริษัทผู้ผลิตนมผง บริษัทวางเป้าหมายรายได้ในปีแรก 800 ล้านบาท และคาดว่าจะเพิ่มการทำตลาดจนเต็มกำลังการผลิต 5,000 ตันได้ภายใน 3-5 ปีข้างหน้า ซึ่งจะทำให้ครองส่วนแบ่งตลาดสูงสุด คิดเป็น 25-30% ของตลาดน้ำมันปลาทูน่าโลก แต่โรงงานก็มาไฟไหม้เสียก่อน

ธุรกิจครอบครัวปลูกไม้กฤษณา

ล่าสุดในปีนี้ ตระกูลจันศิริได้ตั้งบริษัทในส่วนของครอบครัวขึ้นมาอีก 2 บริษัท ได้แก่ บริษัท ไทยยูเนี่ยนพัฒนาไม้กฤษณา จำกัด กับบริษัท ไทยยูเนี่ยน ครอว์ฟิช ดิเวลลอปเม้นท์ โดยบริษัทแรกตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2562 ทุนจดทะเบียน 100 ล้านบาท ประกอบธุรกิจปลูกป่ากฤษณา เพาะพันธุ์ไม้ขาย สกัดน้ำมันและจำหน่าย ส่วนบริษัท ไทยยูเนี่ยน ครอว์ฟิชฯ ตั้งขึ้นเมื่อ 23 พฤษภาคม 2562 ทุนจดทะเบียน 100 ล้านบาท ประกอบกิจการทำฟาร์มเพาะเลี้ยงและเพาะพันธุ์สัตว์น้ำ เพื่อจำหน่าย แปรรูปและส่งออก สำนักงานตั้งอยู่ที่อาคารเอสเอ็มทาวเวอร์ทั้ง 2 บริษัท

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลยพิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat 

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!