อีสานจี้พัฒนาบุคลากร รับ “เขตเศรษฐกิจบริการ” เร่งทำอินฟราฯเชื่อม EEC-เพื่อนบ้าน

หมายเหตุ : ในการจัดประชุมใหญ่หอการค้า 5 ภาค ประจำปี 2562 ระหว่างวันที่ 31 พฤษภาคม-2 มิถุนายน 2562 ที่กรุงเทพฯ ได้มีการระดมความคิดเห็นของนักธุรกิจจากทั่วประเทศ เพื่อร่วมกันวางแผนในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภูมิภาค ซึ่งกลุ่มหอการค้าจังหวัดแต่ละภาคมีการนำเสนอโจทย์สำคัญเร่งด่วนที่อยากให้รัฐบาลดำเนินการ ซึ่ง “ประชาชาติธุรกิจ” ขอนำทยอยลงทีละภาค ดังนี้

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ถือเป็น “เขตเศรษฐกิจบริการ” มีเรื่องเร่งด่วนที่อยากให้รัฐบาลแก้ไขปัญหา เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ โดย นายสวาท ธีระรัตนุกูลชัย รองประธานกรรมการ และประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวว่า เร่งด่วนที่อยากให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาประกอบด้วย เร่งรัดเรื่องการแก้ปัญหาคอร์รัปชั่น การพัฒนาคน

การพัฒนาบุคลากรด้านการท่องเที่ยว การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางราง ถนน ทางอากาศ เพื่อเชื่อมต่อกับ EEC และประเทศเพื่อนบ้าน การเข้าถึงแหล่งเงินทุน ในการพัฒนาการผลิต ผลิตภัณฑ์ เพื่อสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ตรงนี้เป็นการเรียกร้องขอมาของทางจังหวัด การแก้ไขกฎหมาย ระเบียบ ลดขั้นตอนที่เกี่ยวข้องต่อการดำเนินธุรกิจ, การยกระดับด่านการค้าชายแดน อีสานเป็นจังหวัดที่มีกายภาพติดกับจังหวัดชายแดนลาว และกัมพูชา รวมถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชน และการเร่งพัฒนาผู้สูงอายุ และด้านกีฬา

ด้านความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ต้องการให้ภาครัฐเร่งพัฒนาแหล่งน้ำถือเป็นสิ่งสำคัญ ทั้งโครงการโขง-เลย-ชี-มูล และโครงการชลประทาน รวมถึงสร้างความสมดุลระหว่างวัฒนธรรม การกระจายอำนาจสู่ชุมชน

การให้โอกาสภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายในพื้นที่ และการแก้ไขปัญหาราคาสินค้าเกษตร

สำหรับแนวทางการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจ แบ่งเป็น 3 ด้าน ได้แก่ 1.การค้าการลงทุน และการค้าชายแดน แบ่งเป็น (1) ด้านการพัฒนาผู้ประกอบการ และสิ่งอำนวยความสะดวกทางการค้า มีการผลักดันให้เกิดศูนย์กระจายสินค้าและศูนย์ขนถ่ายสินค้าที่ จ.ขอนแก่น-นครราชสีมา-อุดรธานี (dry port), การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ทางราง ถนน และทางอากาศ, การพัฒนาฝีมือแรงงานสู่สากล, มีมาตรการทางภาษี และดอกเบี้ย เพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการ, การคุ้มครองและช่วยเหลือผู้ประกอบการ รวมถึงการสร้างศูนย์กลางกระจายสินค้าในภูมิภาค CLMV, การพัฒนาฝีมือแรงงานให้ได้มาตรฐาน และการส่งเสริมและพัฒนา SMEs

(2) ด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ได้แก่ การนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาพัฒนา ได้แก่ การสร้าง brand สินค้าที่มีอัตลักษณ์โดดเด่น รวมถึงยกระดับการบริการ และการเข้าถึงลูกค้าที่รวดเร็ว

(3) ด้านโครงสร้างพื้นฐาน ประกอบด้วย การพัฒนาระบบการขนส่งทางอากาศ และผู้โดยสารข้ามภาค รวมถึงการเร่งทำโครงการสะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 5 (บึงกาฬ) และแห่งที่ 6 (อุบลราชธานี) การเร่งรัดโครงการขยายถนนที่เชื่อมโยงจังหวัดทั้งหมดในภาคให้เป็น 4 จราจร การเชื่อมโยงโครงข่ายทางรถไฟ (โครงข่ายใยแมงมุม) ในภาคอีสาน หลังเส้นทางบ้านไผ่-นครพนมเสร็จเรียบร้อยจะเชื่อมต่อระบบราง

(4) ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม ประกอบด้วย การทำดิจิทัลแพลตฟอร์ม และบิ๊กดาต้า

(5) ด้านนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษ คือ เร่งผลักดันให้เขตเศรษฐกิจภาคอีสานเกิดขึ้นได้จริง เช่น ตอนนี้มี จ.นครพนมแห่งเดียวที่มีผู้เข้าไปดำเนินการ นอกจากนี้ส่งเสริมภาคอีสานให้เป็นเขตอุตสาหกรรมแปรรูปเกษตรและสินค้าทางด้านอาหาร มีการจัดตั้งศูนย์ซ่อมบำรุงเครื่องบิน

(6) ด้านการค้าชายแดน ได้แก่ การยกระดับด่านจุดผ่านแดนการค้าให้เป็นจุดผ่านแดนถาวร ทั้งชายแดนไทย-ลาว และชายแดนไทย-กัมพูชา, มีรถโดยสารเชื่อมโยงไทย-กัมพูชา เส้นทางอุบลราชธานี-ช่องสะงำ-เสียมเรียบ, ปรับปรุงมาตรฐานของถนนที่เชื่อมโยงสู่ด่านชายแดน, การแก้ไขกฎหมาย ข้อบังคับ เพื่ออำนวยความสะดวกในการทำการค้าชายแดนและข้ามแดน, การบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างประเทศ MOU ตามแนวแม่น้ำโขง ควรมีมาตรการบังคับใช้อย่างเป็นธรรมทั้ง 2 ฝ่าย และการลดขั้นตอนเอกสารในการเข้า-ออกด่านชายแดน

2.ด้านเกษตรและอาหาร ได้แก่ เน้นการพัฒนาแหล่งน้ำและระบบชลประทาน, ด้านการพัฒนาแหล่งผลิต เช่น เน้นการพัฒนาเมืองสมุนไพร ซึ่งสกลนครและอุดรธานีจะเป็นพื้นที่ในเรื่องการขับเคลื่อนเมืองสมุนไพร

เน้นการทำเกษตรและอาหารปลอดภัยตามมาตรฐาน Thaigap มีการสร้างมาตรฐานสินค้าเกษตร การผลิตในรูปแบบการสร้าง supply chain เพื่อให้เกิดประโยชน์ร่วมกัน

สำหรับด้านแหล่งเงินทุน ขอให้สนับสนุนเงินทุนและดอกเบี้ยอัตราพิเศษ เพื่อเพิ่มความสามารถให้เกษตรกรในการซื้อเครื่องจักรในอัตราที่ไม่สูง สนับสนุนเกษตรกร

ด้านเทคโนโลยี นวัตกรรม ต้องรวบรวมระบบฐานข้อมูลทางการเกษตรที่จะเป็นข้อมูลที่แท้จริงและรวดเร็ว รวมทั้งการวิเคราะห์ข้อมูล และการทำตลาดสินค้าออนไลน์

3.ด้านการท่องเที่ยวและบริการ ประกอบด้วย ด้านผลิตภัณฑ์ เป็นการขับเคลื่อนเรื่องอัตลักษณ์ท้องถิ่น รวมถึงชูอัตลักษณ์ท้องถิ่นอีสาน วัฒนธรรม ประเพณี เรื่องราว ตามศักยภาพของพื้นที่ เน้นให้เกิดคุณค่าที่ดี

เน้นวัฒนธรรมการกินอาหาร ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงประเพณี ความเชื่อ ความศรัทธา ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม การแต่งกาย แฟชั่น รวมถึงการพัฒนาอาหารปลอดภัยและของฝาก

ด้านการพัฒนาบุคลากรทางการท่องเที่ยว ต้องมีมาตรฐานการให้บริการ ด้านภาษา ต้องสื่อสารกับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้ รวมถึงการผลักดันให้มีมัคคุเทศก์ และมีการพัฒนาผู้นำชุมชน

ด้านโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเชื่อมโยงการท่องเที่ยว ให้มีการปรับปรุงเส้นทางหลักในการเข้าถึงแหล่งท่องเที่ยวเก่าและใหม่ ทำระบบสาธารณูปโภคน้ำไฟให้พร้อม รวมถึงจัดระบบสาธารณะเข้าแหล่งท่องเที่ยว

ด้านเทคโนโลยี มีการทำประชาสัมพันธ์ การตลาด จัดทำเรื่องราว story รูปแบบการท่องเที่ยว และมีการใช้แอปพลิเคชั่นอำนวยความสะดวกนักท่องเที่ยว