กรมปศุสัตว์เข้มขนย้ายหมู 16 จังหวัดชายแดนลาว-เขมร หวังป้องกัน 1.8 แสนฟาร์มทั่วประเทศพ้นอหิวาต์แอฟริกา

กรมปศุสัตว์ยกระดับความเข้มข้นสกัดโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรเข้าไทย หลังระบาดเข้าประเทศเพื่อนบ้าน ห้ามผู้เลี้ยงหมูใน 16 จังหวัดติด สปป.ลาวและกัมพูชาขนย้ายโดยไม่ได้รับอนุญาต ลุยจับโรงฆ่า-เขียงเถื่อนแล้วหลายราย “จีระศักดิ์” ดันผู้เลี้ยงตั้งกองทุนฉุกเฉินรับมือเก็บตัวละ 10 บาท ด้านนายกสมาคมหมูยอมรับหารือตั้งกองทุนหลายครั้งแล้วแต่ล้มเหลว

น.สพ.จีระศักดิ์ พิพัฒนพงศ์โสภณ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า จากการที่ฟาร์มเลี้ยงหมูในจีนเกิดโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) เสียหาย 200 กว่าล้านตัว จากปริมาณการเลี้ยงทั่วประเทศ 580 ล้านตัวมาตั้งแต่วันที่ 3 ส.ค.2561 เป็นต้นมา และระบาดเข้ามาในเวียดนามต้นปีนี้มาจนถึงปัจจุบันใน 61 จากทั้งหมด 63 จังหวัด สร้างความเสียหายไปแล้วเกือบ 3 ล้านตัว รวมทั้งระบาดเข้ามาในกัมพูชา และ สปป.ลาวที่มีพรมแดนติดไทยนั้น

ล่าสุดกรมปศุสัตว์ได้ยกระดับการป้องกันโรคนี้เข้ามาระบาดในไทย โดยออกประกาศห้ามการขนย้ายหมูโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ตาม พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ใน 16 จังหวัดภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออกที่มีพรมแดนติด สปป.ลาว และกัมพูชา ตั้งแต่จังหวัดเชียงรายลงมาจนถึงจังหวัดตราด ผู้ใดฝ่าฝืนต้องลงโทษปรับ 4 หมื่นบาท โทษจำคุก 2 ปี กรณีขนย้ายภายในประเทศโดยไม่ได้รับอนุญาต แต่กรณีขนย้ายข้ามเขตแดนระหว่างประเทศโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษปรับ 2 แสนบาท และโทษจำคุก 2 ปี

“ต้องป้องกันไว้ก่อน แม้จะต้องเดือดร้อนในการขออนุญาตขนย้ายทั้งในประเทศและนำเข้ามาจากต่างประเทศใน 16 จังหวัดข้างต้น เพราะโรคนี้แม้จะไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้บริโภค แต่สร้างความเสียหายต่อผู้เลี้ยงมาก เพราะไม่มีวัคซีนป้องกัน ดังนั้น ผู้เลี้ยงควรร่วมมือกันตั้งกองทุนขึ้นมารับมือจ่ายตัวละ 10 บาทจะช่วยแก้ปัญหาต่างๆ ได้มาก และขณะนี้ทางกรมยังได้ออกตรวจจับโรงฆ่าสัตว์ เขียงจำหน่ายในตลาดที่ไม่มีใบอนุญาตด้วย ซึ่งดำเนินคดีไปแล้วหลายราย เนื่องจากโรงฆ่าและเขียงเหล่านี้จะเป็นต้นตอของการระบาดอีกแหล่งหนึ่ง ซึ่งสิ้นเดือน ก.ค.นี้ กรมจะเริ่มจัดอบรมผู้เลี้ยง 1.8 แสนรายทั่วประเทศในการป้องกันและวิธีการทำลายซากหมู หากเกิดโรคนี้ขึ้นมา ”

น.สพ.ดำเนิน จตุรวิธวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโสด้านสัตวแพทย์บริการวิชาการสุกร บริษัท ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า จุดเสี่ยงของไทยคือ มีเกษตรกรเลี้ยงหมูสูงถึง 184,717 ราย แต่มีฟาร์มที่ได้ได้มาตรฐาน GMP มีระบบไบโอซีเคียวริตี้ เพียง 3,600 กว่าฟาร์ม หรือประมาณ 2% แต่มีปริมาณหมู 72% ของทั้งประเทศ ที่เหลือ 98% ไม่มีระบบไบโอซีเคียวริตี้ ซึ่งน่าเป็นห่วง

ทางด้าน นายสุรชัย สุทธิธรรม นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงกรณีกรมปศุสัตว์จะให้ผู้เลี้ยงสุกรทั่วประเทศจ่ายเงินเข้ากองทุนไว้รองรับเหตุการณ์ฉุกเฉินตามปริมาณหมูที่เลี้ยงตัวละ 10 บาทว่า เห็นด้วย ถ้าทำได้จะดีมาก อยากจะให้มีการตั้งกองทุนขึ้นมา แต่วิธีการยากมาก ที่ผ่านมามีการหารือกันหลายครั้งแต่ล้มเหลว เพราะผู้เลี้ยงแตกต่างกันมาก ผู้เลี้ยงรายย่อย 95% ประมาณหนึ่งแสนกว่าราย แต่มีปริมาณหมูที่เลี้ยงประมาณ 25% ขณะที่ผู้เลี้ยงรายใหญ่ที่มีประมาณ 5% มีปริมาณหมู 75% ผู้เลี้ยงรายใหญ่ยังไม่มีใครเสียสละก่อน ที่ผ่านมาสมาคมยังไม่เคยเก็บเงินจากสมาชิกเพิ่มเติมเลย นอกจากค่าสมาชิกรายละ 100 บาทเท่านั้น