‘กนอ.’ ไฟเขียวผุดนิคมฯโรจนะชลบุรี 2 คาดดูดเงินลงทุน 6,000 ล้าน

“กนอ.” ไฟเขียวผุดนิคมฯโรจนะชลบุรี 2 ลุ้น EIA ปักเสาเข็ม เปิดขายปี 64 คาดดูดเงินลงทุน 6,000 ล้าน

นางสาวสมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า เพื่อรองรับนักลงทุนในอนาคต จึงได้ร่วมลงนามสัญญาร่วมดำเนินงานกับ บริษัท สวนอุตสาหกรรมโรจนะ จำกัด(มหาชน) จัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมโรจนะชลบุรี 2 (เขาคันทรง) ตำบลเขาคันทรง อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี บนพื้นที่กว่า 900 ไร่ มูลค่าการลงทุน รวม 2,100 ล้านบาท รองรับการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(EEC) ตามนโยบายของภาครัฐ ได้แก่ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและชิ้นส่วน ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์สมัยใหม่ การแพทย์และอุปกรณ์ทางการแพทย์แบบครบวงจร แปรรูปเกษตร และอุตสาหกรรมเบา เป็นต้น

คาดจะสามารถดึงดูดการลงทุนเข้าไทยได้มากกว่า 6,000 ล้านบาท จากทั้งไทยและต่างชาติ เช่น จีน ญี่ปุ่น และยุโรปที่สนใจลงทุนในพื้นที่ เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพด้านทำเลที่ตั้ง และความพร้อมด้านโลจิสติกส์ทั้งทางบก ทางเรือ และทางอากาศ ไม่ว่าจะเป็นโครงข่ายทางด่วนมอเตอร์เวย์ ทางด่วนบางนา-ชลบุรี ท่าเรือแหลมฉบัง สนามบินแห่งชาติสุวรรณภูมิสามารถกระจายสินค้าเชื่อมต่อไปยังประเทศเพื่อนบ้านโดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชีย ทั้งยังเป็นพื้นที่เป้าหมายของรัฐบาลที่สามารถยื่นขอเป็นเขตส่งเสริมในพื้นที่อีอีซี เพิ่มการจ้างงานในพื้นที่ได้มากกว่า 10,000 อัตราในอนาคตต่อไป

สำหรับนิคมอุตสาหกรรมโรจนะชลบุรี 2 (เขาคันทรง) เป็นนิคมอุตสาหกรรมร่วมดำเนินงานที่เป็นพื้นที่การลงทุนใหม่ในภาคตะวันออกที่ได้ยื่นขอเป็นเขตส่งเสริมตามโครงการอีอีซีแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างจัดทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม(EIA) และเมื่อได้รับความเห็นชอบแล้ว คาดจะใช้ระยะเวลาพัฒนาพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 1 ปี พร้อมเปิดรับนักลงทุนที่สนใจเข้าใช้พื้นที่ประกอบกิจการได้ในเชิงพาณิชย์ในปี 2564

สำหรับผลการดำเนินงานล่าสุด ณ เดือนพ.ค.2562 มีนิคมที่จัดตั้งแล้ว 55 แห่ง ใน 16 จังหวัด มีพื้นที่ขาย/เช่าทั้งสิ้น 110,564 ไร่ มียอดขาย/เช่าแล้ว 89,149 ไร่ มีพื้นที่คงเหลือ 21,415 ไร่ เงินลงทุนสะสมรวม 3.8 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2561 มียอดสะสมรวมประมาณ 3 ล้านล้านบาท เป็นพื้นที่ กนอ. ดำเนินการเอง 14 แห่ง เป็นนิคมร่วมดำเนินงาน 42 แห่ง บนพื้นที่ 165,608 ไร่ มูลค่าเงินลงทุน 3.82 ล้านล้านบาท มีผู้ประกอบการ 4,896 ราย อัตราการจ้างงาน 4.79 แสนคน

ปัจจุบัน กนอ.มีพื้นที่เหลือ 21,415 ไร่ ส่วนผลการดำเนินงานในรอบ 8 เดือนของปีงบประมาณ (ต.ค.2561-พ.ค.2562) มียอดขายพื้นที่ 1,765 ไร่ เพิ่มขึ้น 76.85% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนมี 998 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่อีอีซี 1,641 ไร่ นอกอีอีซี 124 ไร่

ส่วนการลงทุนในพื้นที่พัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(EEC) ขณะนี้มีนิคมฯลงทุนทั้งสิ้น 34 แห่ง บนพื้นที่ 134,805 ไร่ ประมาณการเงินลงทุน 1.31 ล้านล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นพื้นประกาศเป็นเขตส่งเสริมกิจการอุตสาหกรรม 21 แห่ง พื้นที่ 88,242 ไร่ แบ่งเป็นระยอง 8 แห่ง ชลบุรี 12 แห่ง ฉะเชิงเทรา 1 แห่ง โดยแบ่งเขตส่งเสริมฯระยะแรก 2 แห่ง พื้นที่ 3,608 ไร่ เงินลงทุน 2.1 แสนล้านบาท เขตส่งเสริมฯระยะที่สอง 19 แห่ง พื้นที่ 84,634 ไร่ เงินลงทุน 1.048 ล้านล้านบาท

นอกจากนี้ ยังมีโครงการที่รอส่งเสริมอีก 18 โครงการ พื้นที่ 35,788 ไร่ แบ่งเป็นฉะเชิงเทรา 8 โครงการ ชลบุรี 6 โครงการ ระยอง 4 โครงการ ซึ่งกรมโยธาธิการและผังเมืองอยู่ระหว่างร่างแผนผังการพัฒนาพื้นที่ EEC โดยจะมีการปรับปรุงสัดส่วนการใช้พื้นที่ใหม่ คาดจะแล้วเสร็จภายในเดือนส.ค.นี้

ส่วนความคืบหน้าโครงการลงทุนท่าเรือมาบตาพุด ระยะที่ 3 นั้นเตรียมรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 4 ครั้งสุดท้ายภายในเดือนก.ค.ตามกำหนดการที่วางไว้ เพื่อประกอบการเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ชุดใหม่รับทราบทันทีที่เข้าปฏิบัติหน้าที่