สงครามการค้าทุบกำไร SCG ครึ่งปีแรกปี’ 62 หด 16% กัดฟันจ่ายปันผลหุ้นละ 7 บาท

สงครามการค้าทุบกำไร SCG ครึ่งปีแรกปี’ 62 หด 16% กัดฟันจ่ายปันผลผู้ถือหุ้น 7 บาทต่อหุ้น “รุ่งโรจน์” ปรับแผนครึ่งปีหลัง ผุดแลป “SCG” ที่อังกฤษ เพิ่มสัดส่วนรายได้นวัตกรรม ‘HVA’ พร้อมลุยลงทุนซื้อหุ้น “Fajar” ผู้ผลิตกระดาษอินโด เร่งรัดโครงการปิโตรเคมีครบวงจรเวียดนามให้จบตามแผน

นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี เปิดเผยว่า ผลประกอบการเอสซีจีในไตรมาสที่ 2 ปี 2562 มีรายได้จากการขาย 109,094 ล้านบาท ลดลง 9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้กำไรเท่ากับ 9,079 ล้านบาท ลดลง 27% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และลดลง 22% จากไตรมาสก่อน จากปัจจัยสงครามการค้าต่อราคาสินค้าเคมีภัณฑ์ และการขาดทุนจากการปรับมูลค่าสินค้าคงเหลือ 1,150 ล้านบาท

ทั้งนี้ หากรวมรายการปรับเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงานดังกล่าวมูลค่า 2,035 ล้านบาท จะทำให้เอสซีจีมีกำไรสำหรับงวด 7,044 ล้านบาท

ส่วนผลประกอบการครึ่งปีแรกของปี 2562 มีรายได้จากการขาย 221,473 ล้านบาท ลดลง 7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มีกำไร 20,741 ล้านบาท ลดลง 16% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากส่วนต่างราคาสินค้าเคมีภัณฑ์ที่ปรับตัวลดลงจากผลกระทบของสงครามการค้า แต่ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้างยังมีรายได้สูงขึ้นตามการฟื้นตัวของการก่อสร้างในภูมิภาค ทั้งนี้ หากรวมรายการปรับเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงาน จะทำให้เอสซีจีมีกำไรสำหรับงวด 18,706 ล้านบาท

ทั้งนี้ ในไตรมาสที่ 2 ปี 2562 เอสซีจีมียอดขายสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่ม (High Value Added Products & Services – HVA) 47,164 ล้านบาท คิดเป็น 43% ของยอดขายรวม เพิ่มขึ้น 4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้น 4% จากไตรมาสก่อน ทำให้ในครึ่งปีแรกของปี 2562 เอสซีจีมียอดขายสินค้า HVA 92,628 ล้านบาท คิดเป็น 42% ของยอดขายรวม เพิ่มขึ้น 2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

นอกจากนี้ ยังมีรายได้จากธุรกิจในต่างประเทศ รวมการส่งออกครึ่งปีแรกของปี 2562 ทั้งสิ้น 88,825 ล้านบาท คิดเป็น 40% ของยอดขายรวม ลดลง 11% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยสินทรัพย์รวมของเอสซีจี ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2562 มีมูลค่า 618,591 ล้านบาท โดย 33% เป็นสินทรัพย์ในอาเซียน

ครึ่งปีแรกยอดขายซีเมนต์-ก่อสร้างดี

หากแยกรายได้ตามประเภทธุรกิจหลัก 3 กลุ่ม ประกอบด้วย

1) ธุรกิจเคมิคอลส์ มีรายได้ 45,995 ล้านบาท ลดลง 19% เพราะได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าและค่าเงินบาทแข็งค่า รวมทั้งการขาดทุนมูลค่าสินค้าคงเหลือ และลดลง 1% จากไตรมาสก่อน โดยมีกำไร 4,424 ล้านบาท ลดลง 46%

เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สวนครึ่งปีแรกของปี 2562 ธุรกิจนี้มีรายได้ 92,235 ล้านบาท ลดลง 16% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากราคาสินค้าเคมีภัณฑ์ที่ปรับตัวลดลง โดยมีกำไร 10,530 ล้านบาท ลดลง 35% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

2) ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง ไตรมาสที่ 2 ปี 2562 มีรายได้ 45,928 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ลดลง 5% จากไตรมาสก่อน เนื่องจากการซบเซาของธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้างในช่วงฤดูฝน โดยมีกำไร 1,837 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ลดลง 40% จากไตรมาสก่อน

ส่วนครึ่งปีแรกของปี 2562 ธุรกิจนี้มีรายได้ 94,238 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากตลาดซีเมนต์ในประเทศเติบโต โดยมีกำไร 4,877 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 17% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

3) ธุรกิจแพคเกจจิ้ง ในไตรมาสที่ 2 ปี 2562 มีรายได้ 20,402 ล้านบาท ลดลง 6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และลดลง 3% จากไตรมาสก่อน ส่งผลให้มีกำไร 1,375 ล้านบาท ลดลง 14% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และลดลง 18%

จากไตรมาสก่อน ส่วนในครึ่งปีแรกปี 2562 ธุรกิจนี้มีรายได้ 41,529 ล้านบาท ลดลง 5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากความต้องการซื้อที่ลดลง โดยมีกำไรสำหรับงวดก่อนรายการปรับเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงาน 3,056 ล้านบาท ลดลง 2%

ครึ่งปีหลัง ตั้ง “SCG Advanced Materials Laboratory” ที่อังกฤษเสริมแกร่งสินค้า HVA

นายรุ่งโรจน์ กล่าวว่า ในช่วงครึ่งปีหลังเอสซีจียังคงเดินหน้าพัฒนานวัตกรรมสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่ม หรือ HVA ควบคู่กับการตอบโจทย์แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) พร้อมส่งมอบโซลูชั่นแบบครบวงจรให้ลูกค้า

รวมทั้งเร่งรัดโครงการลงทุนสำคัญที่ช่วยสร้างมูลค่าให้ธุรกิจให้เป็นไปตามแผน 2 กลยุทธ์ที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อรับมือกับความผันผวนทางเศรษฐกิจโลก ทั้งการบริหารจัดการการเติบโตของธุรกิจในระยะยาว และการสร้างเสถียรภาพทางการเงิน

โดยล่าสุดได้เปิดศูนย์วิจัยและพัฒนา SCG Advanced Materials Laboratory ในเมืองออกซ์ฟอร์ด ประเทศอังกฤษ เพื่อพัฒนาต้นแบบสินค้าในกลุ่ม Functional Materials จะเน้นเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้สินค้าเคมิคอลส์

โดยอาศัยจุดแข็งด้านการพัฒนาสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่ม และตอบโจทย์ความยั่งยืน และแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน เช่น การพัฒนาเม็ดพลาสติกพอลิเอทิลีนเกรดพิเศษด้วย SMX Technology สำหรับลูกค้าที่ต้องการเม็ดพลาสติกคุณภาพสูงสามารถลดปริมาณการใช้พลาสติกในผลิตภัณฑ์แต่คงความแข็งแรงได้ดี สินค้าบรรจุภัณฑ์ที่สามารถรีไซเคิลได้

ส่วนธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง ยังคงมีการเติบโตที่ดีจากการลงทุนอย่างต่อเนื่องของโครงการก่อสร้างของภาครัฐในไทย เช่นเดียวกับในภูมิภาคอาเซียนทุกประเทศ ยกเว้นอินโดนีเซียซึ่งมีความต้องการภายในประเทศชะลอตัว เอสซีจีจึงเน้นรุกตลาดใหม่ ๆ ที่มีศักยภาพและมูลค่าของตลาดที่เติบโตอย่างรวดเร็วอย่างธุรกิจค้าปลีก

เช่นการเปิดศูนย์ “SCG Home บุญถาวร” จำหน่ายวัสดุตกแต่งที่เน้นครัวและห้องน้ำ 3 จังหวัด คือ นครราชสีมา กระบี่ และนครศรีธรรมราช รวมถึงการขยายคลังสินค้าแบบควบคุมอุณหภูมิ การพัฒนาโซลูชั่นครบวงจรตอบโจทย์ลูกค้า เช่น โซลูชั่นระบบหลังคาประหยัดพลังงาน เป็นต้น

ทุ่มลงทุนซื้อ “Fajar” ผู้ผลิตกระดาษอินโด

เช่นเดียวกับธุรกิจแพคเกจจิ้ง ซึ่งรเติบโตที่ได้ดี ตามการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยและภูมิภาคอาเซียน และการเติบโตของ e-commerce พฤติกรรมการบริโภคอาหารบริการด่วน ทางบริษัทจึงขยายกำลังการผลิตเพิ่มเติมทั้งโรงงาน UPPC ในฟิลิปปินส์ และโรงงาน BATICO ในเวียดนาม และซื้อหุ้น Fajar ซึ่งเป็นผู้ผลิตกระดาษบรรจุภัณฑ์รายใหญ่ของอินโดนีเซีย

กลยุทธ์สำคัญหนึ่งคือการสร้างเสถียรภาพทางการเงิน โดยสิ้นไตรมาสที่ 2 ปี 2562 มีเงินสดและเงินสดภายใต้การบริหาร 42,573 ล้านบาท สอดคล้องกับแผนการลงทุนและสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่ยังไม่แน่นอน รวมทั้งการทบทวนโครงการลงทุน โดยเน้นโครงการที่สามารถสร้างโอกาสทางธุรกิจได้รวดเร็ว เช่น การซื้อหุ้น Fajar

ซึ่งจะสามารถรวมผลการดำเนินงานเข้ามาในธุรกิจแพคเกจจิ้งของเอสซีจีได้ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2562 ส่วนโครงการลงทุนสำคัญที่ช่วยสร้างมูลค่าให้ธุรกิจที่ได้ลงทุนไปแล้ว อย่างโครงการปิโตรเคมีครบวงจรในเวียดนามหรือ LSP ก็ได้เร่งดำเนินการให้สำเร็จตามแผน ขณะเดียวกัน เน้นขยายการส่งออกสินค้าแพคเกจจิ้งไปตลาดจีนและอาเซียนเพิ่มขึ้น และส่งออกสินค้ากลุ่มฝ้าและผนังไปเกาหลีใต้และจะขยายไปยังโซนยุโรปเพิ่มเติม

นอกจากนี้ ยังเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน ส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียน อาทิ ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ในโรงงาน สามารถจ่ายไฟฟ้าได้แล้ว 77 เมกะวัตต์ ช่วยให้ประหยัดได้ 350 ล้านบาทต่อปี และการเปลี่ยนของเสียให้เป็นพลังงาน เช่น การผลิตไฟฟ้าของเสียจากกระดาษ กำลังการผลิต 9.6 เมกะวัตต์ และการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัล และการสร้างสตาร์ทอัพ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินธุรกิจ

ทั้งนี้ คณะกรรมการบริษัทอนุมัติจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลจากผลการดำเนินงานครึ่งปีแรกของปี 2562 ในอัตรา 7.00 บาทต่อหุ้น เป็นเงินทั้งสิ้น 8,400 ล้านบาท โดยกำหนดจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลในวันที่ 23 สิงหาคม 2562 กำหนดวันที่ XD ในวันที่ 8 สิงหาคม 2562 และกำหนดรายชื่อผู้มีสิทธิรับเงินปันผล วันที่ 9 สิงหาคม 2562