เปลี่ยนผ่านสู่พลังงานทางเลือก กรณีศึกษาจากฟินแลนด์-เดนมาร์ก

รายงาน
โดย สมปรารถนา คล้ายวิเชียร

สำหรับประเทศที่พัฒนาแล้วในโซนยุโรปเหนือ โดยเฉพาะกลุ่มนอร์ดิก (เดนมาร์ก ฟินแลนด์ ไอซ์แลนด์ นอร์เวย์ และสวีเดน) วันนี้ “พลังงานทางเลือก” ที่เคยมีสถานะเป็นทางเลือก หรือส่วนเสริม กำลังถูกจัดวางลำดับความสำคัญเสียใหม่ให้เป็นพลังงานกระแสหลัก หรือ “พลังงานที่ต้องเลือก”

แม้ในรอบทศวรรษที่ผ่านมา มีการค้นพบแหล่งพลังงานฟอสซิล ทั้งในรูปของน้ำมันและก๊าซธรรมชาติเพิ่มขึ้น ทำให้แนวโน้มราคาพลังงานฟอสซิลเหล่านี้ลดลงอย่างต่อเนื่อง ทั้งยังมีปริมาณให้ใช้มากจนไม่ต้องกังวลในประเด็นที่จะขาดแคลนหรือหมดไป

กระนั้นกลุ่มประเทศนอร์ดิก ก็ยังเดินหน้าด้วยความมุ่งมั่นที่จะเปลี่ยนผ่านไปใช้หรือพึ่งพาพลังงานสะอาดให้เป็นสัดส่วนการใช้หลัก พร้อมทั้งตั้งเป้าหมายที่จะลด-เลิกใช้พลังงานฟอสซิล หรือใช้ให้น้อยที่สุด

โดยมีหมุดหมายที่ปี ค.ศ. 2030 หรืออย่างช้าในปี 2050 พวกเขาวางโจทย์ที่ท้าทายตัวเองเอาไว้ว่า

พลังงานสะอาดจากแสงอาทิตย์, พลังงานลม, พลังความร้อนชีวมวล (จากการเผาขยะหรือเศษไม้), พลังน้ำ (เขื่อนต่าง ๆ) จะเป็นพลังงานหลัก ทดแทนการใช้น้ำมัน, ก๊าซธรรมชาติ, ถ่านหิน และรวมถึงพลังงานนิวเคลียร์ ที่เคยเป็นเชื้อเพลิงหลักที่ใช้กันมานานหลายศตวรรษ

นั่นทำให้ทั้งสวีเดน, ฟินแลนด์, เดนมาร์ก ก้าวขึ้นมาอยู่แถวหน้าในฐานะชาติชั้นนำในยุโรปที่พัฒนาการใช้พลังงานทางเลือกได้อย่างโดดเด่น

นอกจากการเปลี่ยนผ่านการใช้พลังงานไฟฟ้าหลักของประเทศแล้ว ยังผนวกเอาความท้าทายในการรณรงค์เพื่อเปลี่ยนไปใช้รถยนต์ไฟฟ้า เพื่อลดการใช้พลังงานฟอสซิล ลดการปล่อยก๊าซ CO2 ในภาคการคมนาคม (รถยนต์ส่วนบุคคล) อีกด้วย

ในโปรแกรมการเดินทางร่วมกับบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ในช่วงต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ประเทศฟินแลนด์เป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจ และกำลังวางโรดแมปเพื่อก้าวไปสู่พลังงานทางเลือกอย่างแข็งขัน

PEKKA GRANLUND : Deputy Director General at Ministry of Economic Affairs and Employment อธิบายสั้น ๆ ว่า แรงจูงใจที่ชัดเจนอาจเป็นเพราะคนฟินแลนด์อยู่ใกล้ขั้วโลกเหนือมาก แน่นอนว่าพวกเขาเห็นประจักษ์กับตาตัวเองว่ามนุษย์สร้างผลกระทบ ทำให้โลกร้อนขึ้น ปริมาณน้ำแข็งที่ละลายเพิ่มขึ้น สภาพภูมิอากาศที่แปรปรวน ฯลฯ เป็นสัญญาณเตือนที่ชัดเจนว่า พวกเขาจะทำแบบเดิม อยู่แบบเดิม ใช้พลังงานแบบเดิมไม่ได้อีกต่อไปแล้ว

รัฐบาลฟินแลนด์จึงกระตือรือร้น ถือเป็นลำดับต้น ๆ ของประเทศในสหภาพยุโรป (อียู) ที่จะกำหนดเป้าหมายว่า ถึงเวลาแล้วที่จะต้องเร่งเปลี่ยน !

โดยรัฐบาลตั้งเป้าหมายที่ท้าทายในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ CO2 ให้การปล่อยเท่ากับการดูดกลับจากสิ่งแวดล้อมให้มีค่าเท่ากับศูนย์ (carbon neutral) ในปี 2035

ในปี 2030 จะลดการใช้พลังงานจากฟอสซิลลงอีก 50% และเลิกใช้พลังงานจากถ่านหิน โดยอาศัยแกนหลักของพลังงานทางเลือกที่เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องประกอบด้วยพลังงานจากน้ำ (เขื่อน), พลังงานจากเชื้อเพลิงชีวมวล, พลังงานลม, พลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์) ฯลฯ

และที่สำคัญคือ ฟินแลนด์เป็นประเทศที่มีป่าไม้อุดมสมบูรณ์ มีระบบการปลูก-ตัด มีบทบาทในอุตสาหกรรมกระดาษ และผลิตภัณฑ์จากไม้ ซึ่งนั่นคือวัตถุดิบสำคัญที่นำมาใช้สำหรับพลังงานทางเลือก (นำมาเผาเพื่อให้ได้พลังงานความร้อน) จนกลายเป็นแกนหลักของพลังงานทดแทนในวันนี้

Hekena Saren Head of Smart Energy Program Ministry of Economics Affairs and Employment ยืนยันว่า แม้จะไม่ใช่เรื่องง่าย และยังมีอีกหลายเรื่องที่ต้องทำ แต่ฟินแลนด์ก็กำหนดแผนที่ชัดเจนสำหรับรองรับการเปลี่ยนผ่านครั้งนี้ บนความเชื่อมั่นว่า จะสร้างความยั่งยืนในการใช้พลังงานระยะยาว

ทั้งนี้ จะต้องดำเนินการเพื่อเปลี่ยนผ่านรูปแบบการใช้พลังงานที่ยั่งยืน และทำอย่างรอบคอบ ชาญฉลาดด้วย smart grid หมายถึง ดำเนินการเพื่อให้เกิด connectivity, security และ reliability

บนความคาดหวังว่า การพัฒนาแบตเตอรี่ จะสนับสนุนให้การใช้พลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น (มากกว่าปัจจุบัน 15 เท่า) เช่นเดียวกับการเติบโตของการผลิตไฟฟ้าจากขยะ (waste to energy)ซึ่งในปี 2018 : มีมูลค่า 40.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ และคาดว่าในปี 2020 จะเพิ่มขึ้นเป็น 58.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ

ขณะที่ประเทศเดนมาร์กนั้นก็ก้าวหน้าในการพัฒนาพลังงานทางเลือกติดกลุ่มท็อป 5 ของยุโรปด้วยเช่นเดียวกัน

OLE EMMIK SORENSEN Chief Programme Coordinator of Climate and Energy Economy (หน่วยงานที่มีบทบาทคล้าย ๆ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงานของไทย) ให้ข้อมูลที่น่าสนใจว่า วันนี้พวกเขาสามารถผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมคิดเป็น 43% ของการผลิตไฟฟ้าทั้งหมดในประเทศแล้ว

เดนมาร์กต้องหันมาเปลี่ยนแปลงรูปแบบการใช้พลังงานมาเป็นพลังงานทางเลือก จากความต้องการที่จะพึ่งพาตนเอง และลดการใช้พลังงานฟอสซิลที่ต้องนำเข้าจากประเทศในตะวันออกกลาง พร้อมทั้งลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ เพื่อลดโลกร้อนอย่างจริงจัง

กับคำถามที่ว่า เฉพาะพลังงานทางเลือกหรือพลังงานสะอาดนั้น จะเพียงพอหรือมีระบบสำรองที่มั่นคงมากเพียงพอหรือไม่ ? OLE EMMIK SORENSEN อธิบายว่า พวกเขายังมีไฟฟ้าพลังน้ำเป็นพลังงานสำรอง และการเชื่อมต่อกับระบบผลิตไฟฟ้าจากกลุ่มประเทศ Nordic โดยมีสายส่งที่เชื่อมต่อกันระหว่างประเทศแบ็กอัพอยู่ตลอด

ตัวเลขที่น่าทึ่งคือ ตลอดทั้งปี 2018 เดนมาร์กเกิดเหตุไฟดับ (blackout) เพียง 15 นาทีเท่านั้น

กุญแจที่ไขไปสู่ความสำเร็จของการเปลี่ยนผ่านไปใช้พลังงานสะอาด พลังงานทางเลือกที่เกิดขึ้นนั้น ด้านหนึ่งเป็นเพราะเดนมาร์กสามารถสร้างแผนงานและทิศทางที่ชัดเจน โดยความเห็นชอบร่วมกันจากทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นภาคเอกชน ชุมชน ฯลฯ

ประกอบกับการกระจายการผลิตและความรับผิดชอบของระบบไฟฟ้า decentralization ออกไปอย่างกว้างขวาง และการมีสายไฟฟ้าที่เชื่อมโยงต่อเนื่องกันทั้งภายในประเทศและกลุ่มประเทศนอร์ดิก

นั่นคือองค์ประกอบสำคัญที่วันนี้ เดนมาร์กบรรลุเป้าหมายในการเปลี่ยนการใช้พลังงานทางเลือกให้เป็นพลังงานหลักของประเทศได้อย่างน่าพอใจ

เทรนด์พลังงานทดแทนที่กำลังเบ่งบานในยุโรปก็ดี กรณีศึกษาจากฟินแลนด์ หรือเดนมาร์กก็ดี น่าจะเป็นอีกมุมมองหนึ่งที่น่าสนใจ และชวนให้ย้อนคิดถึงทิศทางในการบริหารจัดการพลังงานของประเทศไทย ซึ่งแม้จะยังคงต้องพึ่งพาพลังงานฟอสซิลเป็นหลัก

แต่ก็คงไม่เร็วเกินไปที่ประเทศไทยจะหันกลับมามองทิศทางการพัฒนาพลังงานทางเลือกอย่างมีเป้าหมาย เพื่อให้พร้อมรับกับการเปลี่ยนแปลงของโลกที่หมุนเร็วขึ้น

เท่า ๆ กับที่ต้องตระหนักถึงการสร้างความยั่งยืนทางพลังงานควบคู่ไปกับการเพิ่มสัดส่วนพลังงานสะอาด-พลังงานทางเลือก เพื่อโลกที่ดีกว่าสำหรับคนรุ่นต่อไปด้วย