‘หอการค้าไทย’ เดินหน้า Circular Economy ชูจัดการปัญหาขยะ วาระแห่งชาติ

หอการค้าไทยประกาศขับเคลื่อน Circular Economy เน้นจัดการปัญหาขยะ-ของเหลือใช้ภาคอุตสาหกรรม ภาคบริการ/ภาคการเกษตร เสนอแผนรณรงค์ขับเคลื่อนอย่างจริงจัง พร้อมจ้าง TDRI ศึกษาปัญหาขยะทะเล เสนอรัฐประกาศเป็นวาระแห่งชาติ

ดร.ฮาราลด์ ลิงค์ ประธานคณะกรรมการขับเคลื่อน Circular Economy หอการค้าไทย กล่าวว่า หอการค้าไทยขับเคลื่อนนโยบาย Circular Economy หรือเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยมุ่งเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพของการจัดการขยะพลาสติกและขยะอาหารแบบบูรณาการ โดยได้มอบหมายให้สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ศึกษาที่มาของขยะทะเลและมาตรการจัดการปัญหาขยะทะเล มากว่า 6 เดือนแล้ว

เนื่องจากมองเห็นถึงปัญหาความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ
ในเชิงลบ โดยเฉพาะปัญหาการขาดแคลนทรัพยากรและปัญหามลภาวะ อันเนื่องมาจากขยะและของเหลือใช้
จากภาคอุตสาหกรรม ภาคบริการ และภาคการเกษตร

“ขณะนี้ปัญหาขยะทะเลเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศไทยและของโลก ทั้งนี้ ไทยถูกจัดอยู่ในลำดับที่ 6 ของประเทศที่ทิ้งขยะลงสู่ทะเลมากที่สุด และขยะที่พบในทะเล ส่วนใหญ่คือขยะพลาสติก นอกจากนี้ขยะอาหารก็เป็นอีกหนึ่งปัญหาใหญ่ของประเทศ เพราะประมาณ 60% ของขยะมูลฝอยทั้งหมดมาจากขยะอาหาร ซึ่งหากจัดการแยกขยะอาหารไม่ถูกต้องก็จะส่งผลกระทบต่อการจัดการขยะโดยรวม”

ทั้งนี้ หอการค้าไทยจะใช้เครือข่ายที่มีสมาชิกรวมกว่า 120,000 ราย เป็นตัวขับเคลื่อน Circular Economy ของประเทศร่วมกับภาครัฐและหน่วยงานเอกชนอื่น และเชื่อว่าจะเป็นแนวทางหนึ่งที่จะนำไปสู่การพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนในอนาคต​

ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ได้ชี้แจงผลการศึกษาที่มาขยะทะเลว่า จากที่หอการค้าไทยได้ว่าจ้าง TDRI ให้ศึกษาที่มาขยะทะเลนั้น พบว่า แหล่งที่มาของขยะทะเลที่สำคัญในไทย ประกอบด้วย ชุมชนหรือร้านค้าที่อยู่บริเวณริมแม่น้ำและริมชายฝั่ง การท่องเที่ยวริมชายหาด และขยะจากหลุมฝังกลบที่จัดการไม่ถูกต้อง นอกจากนั้น ยังมีแหล่งที่มาอื่น ๆ ได้แก่ ขยะจากเรือประมง เรือขนส่งสินค้า รวมถึงขยะที่มาจากประเทศเพื่อนบ้าน โดยประเภทขยะที่พบมากที่สุดคือ ถุงพลาสติก กล่องโฟม ถุงก๊อปแก๊ป

ทั้งนี้ ข้อเสนอแนะในการป้องกันและแก้ไขปัญหาขยะทะเล มีดังนี้

1. เสนอให้รัฐบาลประกาศเรื่องการแก้ไขปัญหาขยะ เป็น “วาระแห่งชาติ”

2. รัฐควรออกกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับปัญหาขยะ เช่น การเลิกใช้โฟม การเก็บเงินหากใช้ถุงพลาสติก
การมัดจำขวด เป็นต้น

3. ภาครัฐและภาคเอกชน ต้องร่วมกันรณรงค์ลดการสร้างขยะ พร้อมส่งเสริมการแยกขยะ
​​
รศ.ดร.เสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และกรรมการขับเคลื่อน Circular Economy หอการค้าไทย กล่าวว่า หอการค้าไทยได้มีการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการระดมความคิดเห็นของคณะกรรมการฯ และเครือข่าย ร่วมกันกำหนดจุดยืนเพื่อขับเคลื่อน Circular Economy ให้เป็นรูปธรรม ซึ่งจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจและเป็นความยั่งยืนของประเทศ

ทั้งนี้ ได้กำหนดแผนการดำเนินงานในการขับเคลื่อน Circular Economy ของหอการค้าไทยไว้ 4 แผน ซึ่งจะขับเคลื่อนผ่านเครือข่าย โดยเน้นหวังผลในเชิงปฏิบัติและบูรณาการครอบคลุมทั้งประเทศ ได้แก่

1. การรณรงค์ให้ความรู้ เปลี่ยน Mindset โดยเน้น 2 กลุ่มเป้าหมาย คือ นักเรียนและนักศึกษา เช่น บรรจุในบทเรียน จัดทำ Board Game และนำโมเดลโรงเรียนต้นแบบมาเผยแพร่ และประชาชนทั่วไป ซึ่งประกอบด้วย ชุมชน ผู้ประกอบการ และนักท่องเที่ยว โดยใช้ Social Media, Influencers, YouTubers รวมถึงพระสงฆ์และวัด ให้เข้ามามีส่วนร่วม

2. การแยกขยะ เช่น จัดตั้งถังแยกขยะในจุดที่เหมาะสม โดยร่วมมือกับภาครัฐและเครือข่าย

3. การลด Food Waste (ขยะอาหาร) ในภาคการค้าและบริการ เช่น โรงแรม โดยการเผยแพร่ Best Practice ขององค์กรที่มีการบริหารจัดการ Food Waste ที่มีประสิทธิภาพ

4. การนำ Food Surplus (อาหารเหลือที่สามารถบริโภคได้) บริจาคผู้ขาดแคลน