เปิดฉากเวที “การค้า-พลังงาน” อาเซียน

photo : ทำเนียบรัฐบาล

ในช่วงสัปดาห์นี้ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพประชุมอาเซียน 2 เวทีสำคัญที่ต้องจับตามอง คือ การประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงานครั้งที่ 37 และการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้อง” (37th AMEM) ระหว่างวันที่ 2-6 กันยายน 2562 นี้ และการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน (AEM) ระหว่างวันที่ 3-10 กันยายนนี้

โดย นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ จะเป็นประธานการประชุม AEM และรัฐมนตรี RCEP ครั้งที่ 7 รวมถึงการประชุมที่เกี่ยวข้อง เพื่อติดตามความก้าวหน้าในการดำเนินงานด้านเศรษฐกิจของอาเซียน เพื่อเตรียมเสนอต่อที่ประชุมผู้นำอาเซียนต้นเดือนพฤศจิกายนนี้ที่กรุงเทพฯ

ส่วนการประชุมรัฐมนตรี RCEP 16 ประเทศ เป็นการติดตามความคืบหน้า และปลดล็อกประเด็นข้อติดขัดที่ยังเหลืออยู่ เพื่อหาข้อสรุปให้ได้ภายในปีนี้ นอกจากนี้ยังมีการประชุมทวิภาคีระหว่างอาเซียนกับคู่ค้าอีกนับประเทศ ได้แก่ จีน, ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย, นิวซีแลนด์, เกาหลีใต้, สหรัฐ, อินเดีย, แคนาดา และฮ่องกง

พร้อมกันนี้จะลงนามข้อตกลงยอมรับร่วม ผลการตรวจสอบและรับรองมาตรฐานความปลอดภัยของยานยนต์และชิ้นส่วนของอาเซียน ช่วยลดเวลาและลดต้นทุนการทำธุรกิจของผู้ประกอบกลุ่มยานยนต์ได้ และพิธีสารว่าด้วยกลไกระงับข้อพิพาทด้านเศรษฐกิจของอาเซียนฉบับปรับปรุง เพื่อให้ทันสมัย สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน รับมือการค้าโลกที่ผันผวน

ขณะที่เวที AMEM นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเป็นผู้นำ เวทีนี้มีแนวคิดหลักในเรื่องการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านพลังงาน เพื่อให้ภูมิภาคอาเซียนก้าวเข้าสู่ยุคเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานที่มีความยั่งยืนในอนาคต ซึ่งจะหารือในความร่วมมืออาเซียนด้านพลังงาน 7 ด้าน และการติดตามความก้าวหน้าของแผนปฏิบัติการด้านพลังงาน ไม่ว่าจะเป็นเป้าหมายลดความเข้มการใช้พลังงานให้ได้ 20% ภายในปี 2563 และเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนเป็น 23% ภายในปี 2568 เป็นต้น

ไทยในฐานะประธานมุ่งจะขับเคลื่อนความมั่นคงและความยั่งยืนทางพลังงานร่วมกับประเทศในภูมิภาค แสดงศักยภาพถึงความพร้อมการเป็นศูนย์เชื่อมโยงไฟฟ้าอาเซียน อาศัยจุดแข็ง เช่น การพัฒนาพลังงานชีวภาพจากสินค้าเกษตร รวมทั้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่จะเชื่อมโยงการลงทุนจากทุกภูมิภาคตามยุทธศาสตร์แผนบูรณาการพลังงานปี 2559-2579

โดยความร่วมมือที่เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ได้แก่ การขยายปริมาณการซื้อขายไฟฟ้าเชื่อมโยงโครงข่ายไฟฟ้าพหุภาคีในโครงการลาว-ไทย-มาเลเซีย (LTM-PIP) จากเดิม 100 เป็น 300 เมกะวัตต์ ซึ่งไทยเป็นทางผ่านของการเชื่อมโยงระบบสายส่งที่มีเสถียรภาพและความมั่นคงเพียงพอ

สำหรับความร่วมมือด้านพลังงานมี 7 สาขาหลัก ได้แก่ 1.ความเชื่อมโยงโครงข่ายไฟฟ้าอาเซียน 2.การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำหรับขนส่งก๊าซธรรมชาติ 3.การส่งเสริมเทคโนโลยีถ่านหินสะอาด 4.การส่งเสริมพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ 5.การส่งเสริมพลังงานทดแทน 6.การส่งเสริมการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและอนุรักษ์พลังงาน 7.การจัดทำนโยบายและแผนพลังงานอาเซียน