นัดถกวอร์รูม ติดตาม2ปัจจัยเสี่ยง “สงครามการค้า-เบร็กซิต” ก่อนเสนอ กรอ.พาณิชย์หาแผนรับมือ

นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์เตรียมนัดประชุมวอร์รูม ร่วมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ติดตามสถานการณ์ผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน และการออกจากสหภาพยุโรปของอังกฤษ (เบร็กซิต) ในวันที่ 7 ต.ค.2562 นี้ ก่อนที่จะนำเสนอแนวทางที่หารือกันต่อในที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนพาณิชย์ (กรอ.พาณิชย์) ซึ่งมีนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานที่ประชุม ยอมรับ 2 เรื่อง มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกและต่อไทย จึงต้องเร่งหารือเพื่อกำหนดจุดยืน และแนวทางที่ไทยควรจะดำเนินการ เพื่อรับมือกับความผันผวนที่จะเกิดขึ้น

ทั้งนี้ ด้านสงครามการค้า แม้ขณะนี้สหรัฐฯ และจีนจะมีการเจรจากันอย่างเป็นทางการอยู่ แต่การปราศรัยของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่สหประชาชาติ ก็ดูไม่เอื้อต่อการสร้างบรรยากาศที่ดีในการเจรจา แต่สหรัฐฯ ถือว่าตัวเองยังมีไพ่เหนือกว่า ด้วยการขึ้นภาษีชุดสุดท้ายที่ขณะนี้ชะลออยู่ คือ การขึ้นภาษีกลุ่ม 2.5 แสนล้านเหรียญสหรัฐ จาก 25% เป็น 30% และการขึ้นภาษีกลุ่ม 3 แสนล้านเหรียญสหรัฐ รอบที่ 2 อีก 554 รายการ รวมถึงการเก็บภาษีนำเข้าเซฟการ์ดสินค้ากลุ่มยานยนต์และชิ้นส่วน ภายใต้มาตรา 232 ของกฎหมายขยายการค้าของสหรัฐฯ ที่อยู่ระหว่างการไต่สวน และจะประกาศผลในวันที่ 14 พ.ย.2562 ซึ่ง 2 มาตรการนี้ จะส่งผลกระทบกับจีนมาก และประเทศอื่นก็จะพลอยได้รับผลกระทบไปด้วย

สำหรับการขึ้นภาษีของสหรัฐฯ กับจีน ไม่ได้ส่งผลกันเพียงระหว่าง 2 ประเทศและในเอเชียเท่านั้น แต่แผ่กระจายไปถึงฝั่งยุโรปด้วย เห็นได้จากเศรษฐกิจเยอรมนี ซึ่งมีสัดส่วน 28% ของยูโรโซน และเป็นประเทศที่เน้นการส่งออกเช่นเดียวกับไทย เริ่มส่งสัญญาณไม่ดีตัวเลขเศรษฐกิจทุกตัวลดลง การขยายตัวของจีดีพีในไตรมาส 2 หดตัว 0.1% เทียบกับไตรมาสแรกของปี ภาพรวมดัชนีการผลิตอุตสาหกรรมและภาคบริการในประเทศหดตัวในรอบหลายเดือน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ที่กำลังจะได้รับผลกระทบจากกำแพงภาษีใหม่จากสหรัฐฯ ในเดือน พ.ย.นี้

“ผลจากการใช้มาตรการตอบโต้กันของสหรัฐฯ และจีน ก่อให้เกิดผลกระทบกับการค้าโลกมากกว่าที่คาดไว้ ทำให้ทั้งองค์การความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) องค์การการค้าโลก (WTO) และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ต่างก็ลดการคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกและการค้าโลกลง โดย OECD ปรับลด ประมาณการเศรษฐกิจโลกในปีนี้ลง จาก 3.6% เหลือ 2.9% WTO ประมาณการว่าจะอยู่ที่ 2.6% ในปี 2562 ลดลงจาก 10% ในปีก่อนหน้า ขณะที่ IMF ปรับลดจาก 3.5% เหลือ 3.2%”

ส่วนปัญหาเบร็กซิตในปัจจุบัน พบว่าค่อนข้างจะยุ่งยากและยังไม่เห็นทางออก แม้ว่ากำหนดวันที่ 31 ต.ค.2562 จะใกล้เข้ามาแล้ว ซึ่งเบร็กซิตที่อาจตกลงกันไม่ได้ (no deal Brexit) จะยิ่งทำให้เศรษฐกิจเยอรมนีที่ค้าขายลงทุน กับอังกฤษมาก ชะลอตัวลงไปอีก ซึ่งเยอรมนีเป็นเครื่องจักรเศรษฐกิจใหญ่ของยุโรป หากมีปัญหาจะทำให้ยุโรปเติบโตช้า กว่าที่ควร แต่จากการติดตาม ที่ผ่านมารัฐบาลเยอรมันดำเนินนโยบายอย่างระมัดระวัง มีหนี้ภาครัฐต่ำ ทำให้มีเครื่องมือและความสามารถในการดำเนินนโยบายที่ยังใช้มาตรการต่างๆ กระตุ้นได้ในอนาคต หากจำเป็น

Advertisment

นอกจากนี้ ไม่เพียงแค่ความขัดแย้งของสหรัฐฯ กับจีน และปัญหาเบร็กซิต ยังเริ่มมีจุดเปราะบางในตะวันออกกลางที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมัน และกระทบต่อเศรษฐกิจโลก ซึ่งจะต้องจับตาต่อไป

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของไทย พบว่าที่ผ่านมา ได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของประเทศต่างๆ ทั่วโลก ส่งผลให้การส่งออกลดลง 4% ในเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา และเศรษฐกิจภายในยังไม่ค่อยฟื้นตัวดีนัก ทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ต้องปรับลดประมาณการเติบโตของ GDP และการที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีนโยบายไม่ขึ้นดอกเบี้ย เนื่องจากเห็นว่านโยบายการเงินที่ผ่อนคลายจะช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจ และเอื้อให้อัตราอัตราเงินเฟ้อทั่วไปกลับสู่กรอบเป้าหมาย จึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ ซึ่งการตัดสินใจดังกล่าวอาจจะทำให้เงินบาทแข็งค่าเพิ่มขึ้นอีก และกระทบกับมูลค่าและรายได้จากการส่งออก