นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ ถึงเวลาการเมืองแบน ‘พาราควอต’

สัมภาษณ์

ท่ามกลางความกดดันทั้งจากฝ่ายที่สนับสนุนให้ “แบน” 3 สารเคมีกำจัดศัตรูพืชอันตราย “พาราควอต-ไกลโฟเซต-คลอร์ไพริฟอส” กับฝ่ายที่สนับสนุนให้มีการใช้ต่อ จากความจำเป็นที่ยังไม่มีสารเคมีกำจัดศัตรูพืชชนิดใดที่มีประสิทธิภาพและราคาใกล้เคียงกับสารเคมีทั้ง 3 ชนิด จนบานปลายกลายเป็นประเด็นทางการเมืองที่ต่อสู้กันอยู่ในขณะนี้ “ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์ นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) เจ้าของมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติว่าด้วยความปลอดภัยทางอาหาร

Q : จุดยืน สช.ต่อการแบน 3 สารเคมี

ใน พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 มาตรา 5 เขียนไว้ว่า “บุคคลมีสิทธิในการดำรงชีวิตในสิ่งแวดล้อมและสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาพ…” อันนี้ชัดเจนว่าการอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยถือเป็น “สิทธิของประชาชน” พอเป็นสิทธิของประชาชนมันก็เป็นหน้าที่ของรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเข้ามาดูแลและรับรองสิทธินี้ ตรงนี้จึงเป็นแม่บทในกรณีของสารเคมีทางการเกษตร พาราควอต-ไกลโฟเซต-คลอร์ไพริฟอส ซึ่งมีข้อมูลทางวิชาการทั้งในและต่างประเทศเป็นข้อยุติตรงกันว่า เป็นสารเคมีที่มีอันตรายร้ายแรงต่อชีวิต สุขภาพ และสิ่งแวดล้อม จึงเป็นหน้าที่ของ สช.ในการป้องกันอันตรายต่อสุขภาพของประชาชนจากสารเคมีทางการเกษตร

ผมคิดว่าบทบาทของ สช.เกี่ยวกับเรื่องนี้มันมีการกำหนดไว้ใน พ.ร.บ.ชัดเจน นอกจากนี้ จากข้อเท็จจริงที่ว่าประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม เป็นแหล่งอาหารโลก เกิดการแข่งขันด้านเศรษฐกิจ ประกอบกับทิศทางอาหารโลกจะไปสู่สินค้าพรีเมี่ยมมากขึ้น ดังนั้น จึงมีความจำเป็นในเรื่องของความปลอดภัยของอาหาร ที่ผ่านมามีการศึกษาทางวิชาการมากมายสนับสนุนถึงอันตรายอย่างร้ายแรงของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชทั้ง 3 ชนิด มีประเทศทั้งที่พัฒนาแล้วและกำลังพัฒนาได้ยกเลิกการใช้ แม้กระทั่งประเทศข้างเคียงไทยก็ยกเลิกการใช้ไปแล้วนั้น จึงเห็นว่าทิศทางเป็นไปในทางนี้ทั้งนั้น สช.จึงมีความจำเป็นต้องผลักดันและขับเคลื่อนตามมาตรการ “ลด-ละ-เลิก” การใช้พาราควอต-ไกลโฟเซต-คลอร์ไพริฟอส

Q : การทำงานของ สช.

ที่ผ่านมาบนพื้นฐานของข้อมูลทางวิชาการถึงอันตรายที่ร้ายแรงของสารเคมีทั้ง 3 ชนิดร่วมกับภาคประชาสังคม เราได้จัดทำข้อเสนอผ่านทางกระบวนการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ และเสนอต่อ ครม.ให้ความเห็นชอบโดยมีเป้าหมายอยู่ที่เกษตรและอาหารปลอดภัยสำหรับคนไทยผ่านทางการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ 11 ครั้งที่ผ่านมาเฉพาะประเด็น “เกษตรและอาหารปลอดภัย” ได้เข้าสู่การพิจารณาและมีมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติรองรับถึง 4 มติ คือ มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 1 พ.ศ. 2551 เรื่องเกษตรและอาหารในยุควิกฤต มติครั้งที่ 5 เรื่องความปลอดภัยทางอาหาร การแก้ไขปัญหาจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืช และมติครั้งที่ 8 พ.ศ. 2558 เรื่องสุขภาวะชาวนา การสร้างความเข้มแข็งของเครือข่ายองค์กรชาวนา

โดยมติสมัชชาสุขภาพครั้งที่สำคัญที่สุดก็คือ ครั้งที่ 5 (20 ธันวาคม 2555) ว่าด้วยความปลอดภัยทางอาหาร การแก้ไขปัญหาจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืช เขียนไว้ชัดเจนให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ “ทบทวน” การอนุญาตให้มีการขึ้นทะเบียนสารเคมีกำจัดศัตรูพืชเพื่อผลักดันเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4

Q : ผ่านมา 7 ปีเกิดอะไรขึ้นกับมตินี้

มติสมัชชาสุขภาพ ครั้งที่ 1 เป็นเรื่องกว้าง ๆ แล้วเริ่มมีข้อมูลทางวิชาการเข้ามาสนับสนุน จริง ๆ แล้วเรื่องการแบนสารเคมีร้ายแรงเริ่มสตาร์ตอย่างจริงจังในมติสมัชชาสุขภาพ ครั้งที่ 5/2555 เรามีการสร้างกลไกรองรับเพื่อนำไปสู่อาหารปลอดภัย มีการผลักดันผ่านทางเครือข่ายประชาสังคม ขับเคลื่อนนำไปสู่สมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็นและสมัชชาในพื้นที่ทั้งในระดับจังหวัดและระดับตำบล เสร็จแล้วมันเกิดอะไรขึ้นใน 7 ปีที่ผ่านมาก็ยังใช้สารเคมีอันตรายร้ายแรงกันอยู่ ตรงนี้ผมคิดว่ามันเป็นเรื่องใหญ่มากจากการที่ไทยไม่ได้เป็น
แหล่งอาหารทางการเกษตรแบบดั้งเดิม แต่เราเป็นประเทศอุตสาหกรรมการเกษตร ดังนั้น มันจึงมีเจ้าภาพแยะ เจ้าภาพแต่ละเจ้าภาพก็มี agenda หรือจุดยืนที่แตกต่างกันไป บางเจ้าภาพก็เข้าถึงอำนาจรัฐได้ง่ายกว่าคนอื่น ๆ

ประเด็น 7 ปีนี้จึงเป็นเรื่องของผลประโยชน์และความเห็นที่แตกต่างกันไป ทั้งคนใช้-คนผลิต-คนขาย และผู้บริโภค มันผ่านกระบวนการในการเจรจาต่าง ๆ เป็นเรื่องของผลประโยชน์ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้น แต่ผมเข้าใจว่าในแง่วิชาการทุกฝ่ายเข้าใจตรงกันถึงอันตรายร้ายแรงที่เกิดจาก 3 สารเคมีการเกษตรตัวนี้ เพียงแต่มันยังมีข้อจำกัดอยู่แล้วก็ต้องเข้าสู่กระบวนการเจรจาและกระบวนการตัดสินใจทางการเมือง

Q : เป็นประเด็นทางการเมือง

ไม่ใช่ คือ ประเด็นพวกนี้ตั้งแต่เริ่มต้นทีแรกมันก็เป็นการเมืองอยู่แล้ว เพราะมันเป็นเรื่องของ 1) ผลประโยชน์ใหญ่ของประเทศ 2) มีธุรกิจการเกษตรขนาดใหญ่เข้ามาเกี่ยวข้อง 3) มีการเคลื่อนไหวทางการเมืองจากทั้งฝ่ายสนับสนุนและฝ่ายต่อต้าน-ผู้นำเข้า ผู้ค้าสารเคมีการเกษตรมาโดยตลอด ขณะที่หน่วยงานทางวิชาการโดยเฉพาะกระทรวงสาธารณสุขก็ได้จับมือกับนักวิชาการและเคลื่อนไหวเรื่องนี้เช่นกัน ทั้งหมดนี้นำไปสู่การเป็นสถานการณ์ปัจจุบัน ดังนั้น การแบนหรือไม่แบนตอนนี้จึงเป็นเรื่องการตัดสินใจของรัฐบาล เป็นเรื่องทางการเมือง อาจเป็นเรื่องของสภาหรือทำเนียบรัฐบาล แต่เรายังมีหน้าที่ต้องติดตามขับเคลื่อนเรื่องนี้ต่อ ซึ่งผมคิดว่าที่ผ่านมา 1) ด้านนโยบายมันเกิดแล้ว 2) เกิดการขับเคลื่อนเรื่องอาหารปลอดภัยทั้งในระดับชาติและระดับพื้นที่ และ 3) ข้อมูลทางวิชาการชัดเจนถึงอันตรายร้ายแรงในการใช้ 3 สารเคมี

ดังนั้น ประเด็นตอนนี้จึงอยู่ที่การตัดสินใจทางการเมือง ซึ่งในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาเราได้เห็นการตัดสินใจของนักการเมืองที่ชัดเจนเกี่ยวกับ (การแบน) สารเคมีทั้ง 3 ตัวนี้อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

Q : ไทยจะปลอดจากสารเคมีการเกษตร

ผมคิดว่า ตราบใดที่เรายังเป็นแหล่งอาหารโลกภายใต้สถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่ประเทศไทยอยู่ใน lavel ระดับกลาง ๆ แบบนี้ รายังจำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีหลาย ๆ แบบ แต่เราต้องเลือกใช้ตัวที่มันมี 1) ความปลอดภัย 2) ผลกระทบน้อย และ 3) มีความเป็นไปได้ทางเศรษฐกิจ ทั้ง 3 ตัวนี้จะต้องมาหาจุดลงตัวได้อย่างไรก็อยู่ที่ว่า การเปิดเวทีรับฟังปัญหาที่กว้างให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเข้ามาหารือกัน