‘คณิศ’ เคลื่อนโปรเจ็กต์ EEC ดันรถไฟไฮสปีดถึงฝั่ง-จ่อลงนามเมืองการบิน

พระอาทิตย์แห่งการลงทุนฉายแสงขึ้นอีกครั้งในอ่าวตะวันออก เมื่อโครงการประวัติศาสตร์การรถไฟสมัยใหม่ “ไฮสปีด” ผ่านการลงนามในสัญญาร่วมลงทุนในทำเนียบรัฐบาล โครงการลงทุนทั้งสนามบิน-มหานครการบิน ท่าเรือน้ำลึก และศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน กำลังเข้าสู่เส้นทางประกาศผู้ชนะประมูลในเร็ว ๆ นี้ “นายคณิศ แสงสุพรรณ” เลขาธิการคณะกรรมการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เปิดใจ 24 ชั่วโมงก่อนการลงนามปักหมุดรถไฟความเร็วสูงและบันไดลงทุนขั้นต่อไป

ไม่มีรถไฟความเร็วสูง-สนามบินไม่มีมูลค่า

นายคณิศกล่าวว่า โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม3 สนามบิน (สุวรรณภูมิ-ดอนเมือง-อู่ตะเภา) ที่มีการลงนามในสัญญาระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) กับบริษัท รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน จำกัด เป็นครั้งแรกของโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ที่นำทรัพย์สินของประเทศที่มีอยู่มาใช้ประโยชน์ โดยโครงการรถไฟความเร็วสูงต้องเกิดก่อน เพื่อให้โครงการอื่น ๆ เช่น การพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา, มหานครการบิน และศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานก็จะเกิดตามมา “ถ้ามีเมืองการบินแล้วไม่มีรถไฟความเร็วสูง สนามบินก็ไม่มีมูลค่า โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาจะทำให้รัฐบาลได้เงินส่วนหนึ่งมาดำเนินการโครงการรถไฟความเร็วสูงด้วย โดยที่ EEC ก็ไม่ต้องจ่ายงบประมาณในโครงการนี้”

โดยแผนการส่งมอบที่ดินเพื่อการก่อสร้างในโครงการรถไฟความเร็วสูงจะคู่ขนานไปกับแผนการกู้เงินเพื่อลงทุน เมื่อยังเริ่มก่อสร้างไม่ได้ เอกชนก็อาจจะยังไม่ต้องกู้เงิน เมื่อที่ดินเพื่อการก่อสร้างเรียบร้อย เอกชนจะเริ่มก่อสร้าง ตอนนั้นเขาก็ทำแผนการเงินได้

เคยท้อ…แต่ไม่ถอย

การลงนามในครั้งนี้ถือว่าเป็นการทำงานร่วมกัน เพื่อให้โครงการมีความสำเร็จตามที่กำหนดไว้ ผลที่จะเกิดขึ้นจากนี้คือ 1) มูลค่าผลตอบแทนทางเศรษฐกิจต่อประเทศ มูลค่าปัจจุบันกว่า 350,000 ล้านบาท ได้มาจากการที่ประเทศประหยัดการใช้รถมาใช้ราง และการทำให้มลพิษในอากาศลดลง 2) เงินลงทุนโครงการ (มูลค่าปัจจุบัน) ประมาณ 182,000 ล้านบาท รัฐร่วมลงทุนประมาณ 119,000 ล้านบาท ได้ผลตอบแทนทางการเงินเป็นมูลค่าปัจจุบันประมาณ 184,000 ล้านบาท 3) เมื่อจบโครงการ ทรัพย์สิน สิ่งก่อสร้าง ราง สถานี อสังหาริมทรัพย์ที่มักกะสัน ทั้งหมดตกเป็นของรัฐ คาดว่ามูลค่าอย่างน้อย 273,000 ล้านบาท และ 4) กำหนดว่าต้องใช้คนไทยไม่น้อยกว่าร้อยละ 90 การจ้างงานของโครงการระหว่างการก่อสร้างประมาณ 20,000 อัตรา รวมทั้งจะมีการจ้างงานในธุรกิจเกี่ยวเนื่องประมาณ 100,000 อัตรา ใน 5 ปีหลังจากเปิดให้บริการ

“ที่สำคัญที่สุดก็คือ ประโยชน์ของชาวบ้านที่จะได้รับจากการขึ้นรถไฟแอร์พอร์ตลิงก์ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น เดินทางสะดวกปลอดภัยในราคาไม่แพง เกิดธุรกิจใน พื้นที่ รายได้ก็จะตามมา ผมดีใจที่โครงการนำร่องประสบผลสำเร็จ ระหว่างทางที่ผ่านมาเหนื่อยมากทั้งกายและใจ ?แต่แข็งใจยืนให้อยู่ รู้ว่าถ้าถอดใจเมื่อไรจะมีผลกระทบต่อขวัญและกำลังใจของทีมงาน งานนี้ส่วนหนึ่งได้กำลังใจจากคณะกรรมการที่ให้ความเชื่อมั่นในความเห็น โดยไม่มีอคติว่าจะเข้าข้างฝ่ายใด มีอิสระ แต่ก็เคารพในความเห็นของกันและกัน”

คิวต่อไปเมืองการบินอู่ตะเภา

สำหรับความคืบหน้าโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก วงเงินลงทุน 290,000 ล้านบาท ภายหลังศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งคุ้มครองให้คณะกรรมการคัดเลือกเปิดเอกสารการประมูลของกลุ่มธนโฮลดิ้ง จำกัด (กลุ่ม CP) คณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการ จึงได้กำหนดเปิดเอกสารส่วนที่เหลือในกล่องที่ 6 เพื่อพิจารณาคุณสมบัติด้านเทคนิคของกลุ่มธนโฮลดิ้ง ซึ่งเมื่อรวมคะแนนด้านเทคนิคแล้ว ต้องมีคะแนนไม่ต่ำกว่า 80% ตามเกณฑ์การประมูล ซึ่งขั้นตอนการทำงานนี้จะแล้วเสร็จภายในเดือน ต.ค.นี้

“หากกลุ่มธนโฮลดิ้งผ่านคุณสมบัติด้านเทคนิค ขั้นตอนต่อไปในเดือน พ.ย. คณะกรรมการคัดเลือกจะเปิดเอกสารในกล่องที่เป็นข้อเสนอในเรื่องราคา ขณะเดียวกัน คณะกรรมการคัดเลือกจะรอฟังการตัดสินของศาลปกครองสูงสุดที่จะออกนั่งบัลลังก์วินิจฉัยในวันที่ 4 หรือ 7 พ.ย.นี้ เพื่อชี้ขาดในประเด็นความล่าช้าของการยื่นซองประกวดราคา เป็นสาระสำคัญที่ทำให้ต้องตกคุณสมบัติในการร่วมประมูลหรือไม่ โดยถือเป็นกระบวนการคู่ขนานในการทำงานเพื่อหาผู้ชนะการประมูลในโครงการ”

และคาดว่า หลังจากศาลชี้ขาด คณะกรรมการคัดเลือกจะได้ดำเนินการเปิดทุกซองข้อเสนอ และคัดเลือกผู้ชนะ 1 ใน 3 ราย แล้วส่งเข้าบอร์ดอีอีซีที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และเสนอคณะรัฐมนตรีอนุมัติ เพื่อนำไปสู่การลงนามในสัญญาระหว่างกองทัพเรือ กับบริษัทที่ชนะประมูลได้ ในช่วงเดือนมกราคม 2563 โดยขั้นตอนในการประมูลจัดทำร่างสัญญาจนถึงการลงนามในสัญญา ได้เผื่อเวลาการทำงานไว้ประมาณ 2 เดือน ซึ่งคาดว่าทันเวลาเนื่องจากโครงการนี้ไม่มีประเด็นเรื่องการส่งมอบพื้นที่เหมือนกับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน

“ขณะนี้เป็นขั้นตอนการทำงานในส่วนที่เหลือก็จะทำงานคู่ขนานระหว่างรอคำตัดสินของศาลปกครองสูงสุด ซึ่งหากศาลชี้ว่ากลุ่มธนโฮลดิ้งสามารถร่วมประมูลต่อได้ ในขั้นตอนการตัดสินซองราคาก็จะมีเอกชน 3 กลุ่ม ส่วนถ้าศาลตัดสินในทางตรงกันข้าม ก็จะมี 2 กลุ่มที่เข้าสู่การพิจารณาในซอง 3 เรื่องราคา”

รัฐบาล-ทัพเรือได้ผลตอบแทนสูงกว่า 50,000 ล.

ขั้นตอนที่ผ่านมา คณะกรรมการคัดเลือกได้เปิดซองข้อเสนอทางเทคนิคของภาคเอกชน 2 กลุ่ม ที่ผ่านคุณสมบัติในด้านเทคนิคแล้ว คือ กลุ่มแกรนด์ คอนซอร์เตียม (GRAND Consortium) กับ กลุ่มกิจการร่วมค้า BBS ซึ่งข้อเสนอด้านการเงินเป็นข้อเสนอที่จะตัดสินว่า ใครที่จะเป็นผู้ชนะการประมูลได้เข้าสู่ขั้นตอนการเจรจาสัญญากับภาครัฐ และเป็นผู้บริหารโครงการระยะเวลา 50 ปี

ทั้งนี้ ตามข้อกำหนดในการประมูลจะต้องเป็นผู้เสนอผลตอบแทนสูงสุดให้กับภาครัฐ โดยผลการศึกษาของสำนักงานคณะกรรมการ EEC พบว่า ผลตอบแทนที่ภาครัฐจะได้รับต้องไม่น้อยกว่า 50,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นราคาขั้นต่ำของการเสนอตัวเลขทางการเงินของภาคเอกชน อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอของภาคเอกชนที่มีการเปิดซองไปทั้ง 2 ราย พบว่ามีข้อเสนอทางการเงินที่มากกว่า 50,000 ล้านบาท ไปพอสมควร โดยผู้ที่ชนะการประมูลจะทยอยจ่ายเงินให้กับภาครัฐจนกว่าจะบริหารสนามบินครบสัญญา

โดยข้อกำหนดในการก่อสร้างโครงการสนามบินอู่ตะเภาฯได้ระบุว่า ภายใน 5 ปีจะต้องก่อสร้างอาคารผู้โดยสารอาคารที่ 3 ศูนย์การบริหารและขนส่งสินค้าเพื่อให้เกิดธุรกิจขนส่งสินค้าทางอากาศ (แอร์คาร์โก้) และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ส่วนปริมาณผู้โดยสารภายใน 5 ปี เมื่อสนามบินเปิดให้บริการ จะมีผู้โดยสารประมาณ 15 ล้านคน จากนั้นภายใน 10 ปีจะมีผู้โดยสาร 30 ล้านคน และ 15 ปีมีผู้โดยสาร 60 ล้านคน

“ข้อเสนอทางการเงินที่แตกต่างกันและเพิ่มสูงกว่าราคาผลการศึกษาขั้นต่ำที่ 50,000 ล้านบาท (คำนวณมูลค่าแบบ NPV) เนื่องจากการคำนวณจำนวนผู้โดยสารและสมมุติฐานด้านการเติบโตของผู้โดยสารของเอกชนแต่ละกลุ่มในแต่ละช่วงเวลามีความแตกต่างกัน แม้ว่ารายใดให้ผลตอบแทนกับภาครัฐมากที่สุด แต่คณะกรรมการคัดเลือกยังต้องพิจารณาถึงความเป็นไปได้ของรายได้และสมมุติฐานทางการเงินที่ภาคเอกชนเสนอเข้ามาด้วย โดยต้องดูตัวแปรต่าง ๆ ประกอบ ทั้งเรื่องของการก่อสร้าง จำนวนผู้โดยสาร ธุรกิจที่เกี่ยวข้อง เช่น แอร์คาร์โก้ business center”

ที่ดินรัศมี 30 กิโลเมตรไข่แดงเมืองการบิน

นายคณิศกล่าวด้วยว่า ในการพัฒนาพื้นที่ต่อเนื่องจากสนามบินอู่ตะเภา ในรัศมี 30 ตารางกิโลเมตรรอบสนามบิน ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งของโครงการมหานครการบิน กลุ่มเอกชนที่เข้าร่วมการประมูลโครงการพัฒนาสนามบินฯแต่ไม่ได้รับคัดเลือก สามารถที่จะเสนอตัวเข้ามาเป็นผู้ลงทุนพัฒนาที่ดินเชิงพาณิชย์ในโครงการอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวกับพื้นที่สนามบิน 6,500 ไร่ได้ โดยไม่ได้มีการปิดกั้นการเข้ามาร่วมพัฒนาพื้นที่มหานครการบินในระยะต่อไป