ปิดฉาก ASEAN SUMMIT ครั้งที่ 35 “RCEP” ที่ไม่มีอินเดีย ใครได้-ใครเสีย

ที่ประชุมระดับสุดยอดอาเซียน หรือ ASEAN Summit ครั้งที่ 35 ซึ่งไทยเป็นเจ้าภาพ ได้ปิดฉากลงเมื่อวันที่ 4 พ.ย. 2562 พร้อมความสำเร็จในการดำเนินงาน 10 ด้าน ก่อนส่งไม้ต่อตำแหน่งประธานอาเซียนให้ “เวียดนาม” ซึ่งจะเป็นเจ้าภาพการประชุมในปี 2563 อย่างเป็นทางการ

ครั้งนี้ไทยสามารถผูกโยงระดับผู้นำ 17 ชาติ ทั้งอาเซียนและมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ ญี่ปุ่น อินเดีย จีน นิวซีแลนด์ รัสเซีย ออสเตรเลีย และเกาหลีใต้เข้าร่วมด้วย สะท้อนภาพความสำเร็จการรวมกลุ่มในภูมิภาค ขับเคลื่อนงานตามวาระที่ไทยวางเป้าหมายไว้

เป้าหมายที่เป็นไฮไลต์สำคัญการประชุมระดับสุดยอดผู้นำครั้งนี้ คือ การประกาศบรรลุการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ที่ยืดเยื้อยาว 7 ปี เพื่อผนึก 10 ประเทศอาเซียนและพันธมิตร 6 ประเทศอย่าง จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และอินเดีย ท่ามกลางความผันผวนของเศรษฐกิจโลกจากสงครามการค้า

ที่ผ่านมาทีมเศรษฐกิจฝ่ายไทย นำโดย นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ ใช้ความพยายามอย่างหนักเพื่อสรุปผลการเจรจา 20 ประเด็น ให้ได้ตามเป้าหมาย แต่ผลปรากฏว่า “อินเดีย” สมาชิกมหาอำนาจ กลับเปลี่ยนท่าทีในช่วงโค้งสุดท้าย ทำให้เหลือเพียง 15 ประเทศเท่านั้นที่ประกาศรับรองผลสรุปการเจรจา เป็นที่มาของความสำเร็จ RCEP แบบ 15+1

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ยืนยันว่า อินเดียไม่ได้ถอนตัวจากการเจรจา และไม่จำเป็นต้องเริ่มเจรจาใหม่ทั้งหมด เพียงแต่อินเดียขอเจรจาปรับรายการภาษีบางสินค้าใหม่อีกครั้ง ซึ่งอาจต้องใช้เวลาระยะหนึ่ง

ส่วนการลงนามและการบังคับใช้ความตกลง RCEP ซึ่งเดิมกำหนดว่าหลังลงนามช่วง ก.พ.-มี.ค. 2563 และจะมีผลบังคับใช้ได้ก็ต่อเมื่อ 1) สมาชิกอาเซียนอย่างน้อย 5 ประเทศ (จาก 10 ประเทศ) และ 2) ประเทศนอกอาเซียนอย่างน้อย 4 ประเทศ (จาก 6 ประเทศ) ให้สัตยาบัน แต่เมื่ออินเดียยังไม่ได้ข้อสรุป ลำดับต่อไปอาจต้องหารือว่า จำเป็นต้องปรับจำนวนสมาชิกนอกอาเซียนเหลือ 3 ประเทศให้สัตยาบันหรือไม่ เพื่อให้ความตกลงมีผลบังคับใช้

Advertisment

3 ปมอินเดียคาใจ RCEP

นายอัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย สะท้อนความยากของการเจรจา RCEP ที่ยืดเยื้อจากการที่ผลประโยชน์ที่ไม่ลงตัวระหว่างสมาชิกว่า “อินเดีย” ยังมีข้อกังวล 2-3 ประเด็น ทำให้ไม่สามารถสรุปได้ ประเด็นแรก จากที่ปัจจุบันอินเดียประสบภาวะขาดดุลการค้ากับทั้ง 15 ประเทศสมาชิก RCEP รวมประมาณ 1 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งในจำนวนนี้ “ครึ่งหนึ่ง” เป็นการขาดดุลการค้ากับจีน หากยังเจรจาเปิดตลาดสินค้าในกรอบ RCEP อาจทำให้สินค้าจากจีน รวมถึงสินค้าที่มีต้นทุนต่ำกว่าจากประเทศอื่น ๆ ทะลักเข้าไปขายในอินเดีย อาทิ ยานยนต์และยานยนต์ไฟฟ้าจีน กีวีและนมจากนิวซีแลนด์ ยางพาราจากอินโดนีเซีย มาเลเซีย ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเกษตรกร ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และกลุ่มผู้ผลิตรถยนต์อินเดีย

ขณะที่ประเด็นเป้าหมายของอินเดีย ทั้งการเปิดเสรีธุรกิจบริการ และการเคลื่อนย้ายแรงงานทักษะสูงด้านคอมพิวเตอร์มายังอาเซียน รวมถึงการเปิดตลาดข้าวบาสมาติอินเดีย มายังฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซียก็ยังไม่ได้รับการตอบรับ เพราะในอาเซียนมีประเทศผู้ส่งออกข้าวที่เข้มแข็งอย่างเวียดนาม

ประเด็นสุดท้าย คือ กรอบระยะเวลาในการลดภาษีสินค้าหลังจากได้ข้อสรุป RCEP ซึ่งเดิมกำหนดว่าจะทยอยลดภาษีระหว่างกันเป็น 0% ในเวลาตั้งแต่ 10 ปี นับจากปีใด ประเด็นนี้อินเดียกังวลว่าหากสตาร์ตนับเวลาลดภาษีนับจากปีที่เริ่มเจรจา ปี 2013 เท่ากับเหลือเวลาเพียง 4 ปี ภาษีจะกลายเป็น 0% ในปี 2023 ทางอินเดียจะปรับตัวไม่ทัน จึงต้องการให้เริ่มนับจากปีที่ได้ข้อสรุปการเจรจา 2019 เพื่อช่วยยืดเวลาปรับตัว

Advertisment

“การที่นายกรัฐมนตรีอินเดียเดินทางมาครั้งนี้มีแรงกดดันมาก ไม่เพียงต้องฝ่ากระแสความขัดแย้งกับสหรัฐเท่านั้น แต่ยังต้องฝ่าแรงต้านจากเกษตรกร เอสเอ็มอี และสมาคมยานยนต์อินเดียที่ค้านหนัก หากได้ข้อสรุป RCEP ก็จำเป็นต้องมีการกำหนดมาตรการเยียวยาภายใน ในรูปแบบกองทุนเพื่อช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบอีก”

RCEP เลื่อน ใครได้-ใครเสีย

อย่างไรก็ตาม หาก RCEP ไม่สามารถปิดการเจรจาตามกรอบปี 2562 ก็ใช่ว่าสมาชิกจะเดือดร้อนมากขึ้น เพราะ RCEP ไม่ใช่ยาวิเศษที่จะมาแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าทางเศรษฐกิจที่อาเซียนกำลังเผชิญอยู่ ณ ขณะนี้ได้ เนื่องจากหลังจากลงนาม ยังต้องทอดเวลาออกไปอีกระยะหนึ่งตามเงื่อนไขการให้สัตยาบัน

ส่วนคำถามที่ว่า RCEP สำเร็จในปีนี้จะส่งผลดีต่อใครมากที่สุด คำตอบคือ “จีน” พี่ใหญ่ในเวทีนี้จะได้รับผลดีมากที่สุด ที่สามารถเป็นแกนนำผูกโยงอาเซียนเข้าร่วมกับนโยบายทางเศรษฐกิจเส้นทางสายไหม One Belt One Road และญี่ปุ่น ซึ่งเป็นพันธมิตรที่เหนียวแน่นทั้งกับอาเซียน และจีน

ลดทอนความสัมพันธ์อาเซียน-สหรัฐ

ขณะที่หลายฝ่ายวิเคราะห์ว่า “สหรัฐ” อยู่ในจุดเสี่ยง เพราะไม่เพียงอยู่นอกกลุ่ม RCEP ซึ่งไม่ได้รับประโยชน์ใด ๆ เลยแล้ว ยังเก็งข้อสอบผิด ด้วยการลดทอนความสัมพันธ์กับอาเซียนลง สะท้อนจากการที่ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ไม่มาร่วมประชุม และไม่ส่งผู้แทนระดับรองประธานาธิบดีเข้ามาร่วม ทำให้บรรยากาศการประชุมเวทีผู้นำอาเซียน-สหรัฐเป็นไปอย่างเงียบเหงา มีเพียงผู้นำไทยซึ่งเป็นประธานจัดงาน เวียดนามประธานจัดงานปี 2563 และลาว ซึ่งเป็นผู้ประสานงานประชุมเท่านั้นที่เข้าร่วม ส่งสัญญาณถึงความไม่พอใจสหรัฐ หากเทียบกับเวทีประชุมอาเซียน-จีน ที่นายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีจีน ที่บูมยุทธศาสตร์อาเซียน-จีน 2030 และเวทีอาเซียน-ญี่ปุ่น ซึ่งนายกรัฐมนตรี ชินโสะ อาเบะ ประกาศขยายความร่วมมือกับอาเซียน เพิ่มวงเงินกู้ให้อาเซียนในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน

ประเด็นนี้ ดร.อัทธ์มองว่า ในเวทีย่อย “อินโด-แปซิฟิก บิสซิเนส ฟอรัม” ซึ่งสหรัฐมอบให้ นายโรเบิร์ต โอไบรอัน ที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งชาติ เป็นทูตพิเศษเป็นตัวแทน เวทีนี้น่าสนใจในแง่ที่ไม่มีจีน แต่มี “สหรัฐ” เป็นแกนนำหลัก พร้อมด้วยสมาชิกอาเซียน เอเชียใต้ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น แม้ว่าจะยังไม่แข็งแรงเท่า RCEP แต่อนาคตความสัมพันธ์นี้อาจจะค่อยขยับลักษณะคล้ายความตกลง APEC ได้ อาจจะดีกับสหรัฐเอง เพราะไม่ได้ทำความตกลงกับใครเลยนับจากถอนตัวจากความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP)

“เวียดนาม” บูมสุดในอาเซียน

ท้ายที่สุด หากวิเคราะห์โอกาสและความได้เปรียบในกลุ่มอาเซียน แน่นอนว่า “เวียดนาม” จะกลายเป็นขุมทองของนักลงทุน แต่แม้ความตกลง RCEP จะสรุปไม่ได้ เวียดนามก็ยังมีทั้งความตกลง CPTPP และเอฟทีเอกับสหภาพยุโรป (EVFTA) ซ้ำยังได้ประโยชน์สหรัฐให้สิทธิลดภาษีในสนธิสัญญาไมตรีอีก

หมากเกมนี้ “ไทย” จึงยังต้องเหนื่อยหนักไม่น้อย เพราะความหวังเดียวอย่าง RCEP ยังต้องรอต่อไป ส่วนความตกลงเอฟทีเอไทย-อียู และ CPTPP ก็ยังไม่ได้เริ่ม ซ้ำยังถูกสหรัฐตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) สินค้า 573 รายการอีกด้วย