ลมจับ!! เปิดไตรมาส 4 ส่งออกไทย ต.ค.รูด 4.5%

ลมจับ!! เปิดไตรมาส 4 ส่งออกไทยเดือน ต.ค.ลบต่อ 4.5% พาณิชย์ยังมั่นใจส่งออกทั้งปี’62 ลบ 1.5% หวังออร์เดอร์ปีใหม่ช่วยพยุง

นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า การส่งออกไทยในเดือนตุลาคม 2562 มีมูลค่า 20,758 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว 4.5% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 20,251 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว 7.6% ส่งผลให้การค้าไทยเกินดุล 507 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่งผลให้การส่งออก 10 เดือนแรกของปี 2562 (มกราคม-ตุลาคม 2562) มีมูลค่า 207,330 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 2.4% การนำเข้า มีมูลค่า 199,442 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 4.1% ทำให้ไทยมีการค้าเกินดุล 7,888 ล้านเหรียญสหรัฐ

ทั้งนี้ แม้การส่งออกไทยในเดือนตุลาคม 2562 จะลดลง แต่มูลค่าการส่งออกของไทยในเดือนดังกล่าวยังคงรักษาระดับการส่งออกที่ดี โดยเชื่อว่าการส่งออกในช่วงไตรมาส 4 ยังคงขยายตัวการส่งออกเป็นบวกได้อยู่ที่ 1% โดยคาดการณ์ส่งออกทั้งปี 2562 คาดว่าการส่งออกไทยอยู่ที่ติดลบ 1.5% ถึง ติดลบ 2% แต่อย่างไรก้ดี ยังคงมั่นใจงว่าการส่งออกทั้งปีของไทยจะติดลบไม่ถึง 2% ยังคงอยู่ที่ ติดลบ 1.5% เท่านั้น เพราะยังมองว่าการส่งออกในช่วงสุดท้ายของปีจะขยายตัว เนื่องจากเป็นช่วงเทศกาลและผู้นำเข้าจะมีการนำเข้าสินค้าเพื่อการส่งออกในปี 2563 อย่างไรก็ดี การส่งออกในปี 2563 ประเมินว่าการส่งออกทั้งปียังคงเป็นบวก จากภาระสงครามการค้าดีขึ้น ราคาน้ำมันไม่มีความผัวผวน

สำหรับการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรม หดตัว 4.3% สินค้าเกษตรสำคัญที่ส่งออกได้ดี เช่น น้ำตาลทราย เครื่องดื่ม ผัก ผลไม้สด แช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป ไก่สด แช่แข็งและแปรรูป ส่วนสินค้าที่ส่งออกหดตัว เช่น ข้าว ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ยางพารา กุ้งสดแช่แข็งและกุ้งแปรรูป รวม 10 เดือน การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร หดตัว 2.4% ส่วนการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม หดตัว 2.6% สินค้าที่ส่งออกขยายตัวได้ดี เช่น นาฬิกาและส่วนประกอบ รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน เครื่องสำอาง สบู่และผลิตภัณฑ์รักษาผิว ส่วนสินค้าที่ส่งออกหดตัว เช่น สินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ เหล็ก เกล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เครื่องรับวิทยุ โทรทัศน์และส่วนประกอบ รวม 10 เดือนแรก หดตัว 1.4%

อย่างไรก็ดี จากปัจจัยต่างๆ สงครามการค้าที่เริ่มดีขึ้นเชื่อว่าผลการส่งออกในปี 2563 จะปรับตัวดีขึ้น ส่วนเรื่องของค่าเงินบาท ที่ยังเป็นแรงกดดันต่อการส่งออกไทย ดังนั้นผู้ส่งออกต้องประกันควมเสี่ยงด้านการส่งออก ขณะที่ ภาครัฐก็อยู่ระหว่างการส่งเสริมและผลักดันการส่งออกทำงานอย่างเต็มที่ โดยกระทรวงพาณิชย์ก็เร่งเดินหน้าเจรจาซื้อขาย สินค้าเกษตรเพื่อผลักดันการส่งออกให้ดีขึ้น