หนุนพลิกโฉม FTA เจาะประเทศเป้าหมาย-รายมณฑล

ภาพรวมการค้าโลกอ่อนแรงลงมากจากสงครามการค้าระหว่างมหาอำนาจจีน-สหรัฐ สถานการณ์ความไม่แน่นอนของการเมืองระหว่างประเทศ องค์การการค้าโลก (WTO) ได้ปรับลดคาดการณ์อัตราการค้าโลกปีนี้ว่าจะขยายตัว 1.2% จากเป้าหมายเดิมที่เคยวางไว้ที่ 2.6% และประมาณการปี 2563 ว่าจะขยายตัวเพียง 2.7% จากเดิมที่เคยคาดไว้ 3% แรงกระทบจากปัจจัยต่าง ๆ ส่งผลให้การส่งออกของไทยในช่วง 10 เดือนแรกหดตัว 2.4% ยากที่จะไปสู่เป้าหมายที่วางไว้ 3% ซึ่งแนวทางที่จะฟื้นการส่งออกให้เป็นบวกได้ จำเป็นต้องหาตัวช่วยด้วยการเจรจาความตกลงการค้าระหว่างประเทศเพิ่มขึ้น จากปัจจุบันที่ไทยมีเอฟทีเอ 12 ฉบับ

เจรจา FTA เมืองรอง-รายมณฑล

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ในปี 2563 ให้กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศศึกษาแนวทางการเจรจาความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) หรือข้อตกลงกับประเทศตลาดส่งออกเป้าหมายอย่างจีนและอินเดีย โดยเจาะลงลึกเจรจาเป็นรายมณฑล หรือรายรัฐ เพื่อส่งเสริมการส่งออกพร้อมกันนี้ ให้เร่งผลักดันการเจรจาที่ค้างอยู่ ทั้งเอฟทีเอไทย-ตุรกี, ไทย-ศรีลังกา และไทย-ปากีสถาน ให้แล้วเสร็จภายในปี 2563 และหาข้อสรุปที่จะเริ่มเปิดเจรจาเอฟทีเอไทย-อียู, ไทย-สหราชอาณาจักร และไทย-ฮ่องกง

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมอยู่ระหว่างประสานกับกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ และผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (ทูตพาณิชย์) เพื่อให้ศึกษาความเป็นไปได้ในการดำเนินการว่าควรจะเลือกเมืองใดเป็นเป้าหมาย และใช้รูปแบบการเจรจาข้อตกลงแบบใดจะเหมาะสมที่สุด

“เบื้องต้นมองว่าการลดภาษีโดยลงรายละเอียดรายรัฐหรือรายมณฑลอาจเป็นไปได้ยาก เนื่องจากกฎหมายภาษีเป็นนโยบายหลักซึ่งแต่ละประเทศจะใช้รูปแบบเดียวกัน แต่หากจะเจรจาเพื่อปรับเปลี่ยนนโยบายด้านภาษีอาจต้องพิจารณาใช้การเจรจาในรูปแบบความร่วมมือระหว่างกัน หรือ strategic partnership หรือความร่วมมือหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์กัน เพื่ออำนวยความสะดวกด้านการค้า การบริการ การส่งออกร่วมกันของทั้ง 2 ประเทศ”

นอกจากนี้ ยังได้เตรียมเจรจาทบทวนเอฟทีเอที่บังคับใช้ไปแล้ว เพื่อพิจารณาลดภาษีเพิ่มขึ้นให้ได้มากที่สุด โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าอ่อนไหวสูง เช่น กรอบอาเซียน-จีน กำหนดให้สินค้าเกษตร ข้าวเป็นสินค้าอ่อนไหวสูง ภาษี 0-50%, เอฟทีเออาเซียน-เกาหลีใต้ มีสินค้าผลไม้ซึ่งมีภาษีนำเข้า 20-30%, อาเซียน-อินเดีย เช่น น้ำมันปาล์ม ภาษี 40-50% ซึ่งหลังจากนี้ต้องแต่งตั้งคณะทำงานกลุ่มย่อย และเริ่มหารือกันเร็ว ๆ นี้

อดีต ผอ. WTO หนุนเอฟทีเอ

นายศุภชัย พานิชภักดิ์ อดีตเลขาธิการ การประชุม สหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (UNCTAD) และอดีตผู้อำนวยการใหญ่ องค์การการค้าโลก (WTO) กล่าวว่า เห็นด้วยที่กระทรวงพาณิชย์จะเร่งผลักดันเอฟทีเอ เนื่องจากเป็นการเสริมสร้างศักยภาพในการแข่งขัน ทั้งยังจะช่วยผลักดันการค้าและเศรษฐกิจในปีหน้าได้เป็นอย่างดี แม้ว่าการเจรจาในกรอบต่าง ๆ อาจต้องใช้เวลาบ้าง แต่ก็ยังต้องดำเนินการ โดยเฉพาะยุโรป ตะวันออกกลาง แอฟริกา จีน อินเดีย ตุรกี ซึ่งมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจดี โดยอาจจะเจรจาเป็นรูปแบบกลุ่มประเทศก็เป็นทางเลือกที่ดี ไม่ใช่เฉพาะเอฟทีเอทวิภาคี แต่สำคัญจะต้องเร่งผลักดันอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม มองว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2563 ยังมีโอกาสขยายตัวเป็นบวก หากเดินหน้าผลักดันสร้างความเข้มแข็ง โดยเฉพาะนโยบายสำคัญ เช่น การลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษอีอีซีที่ต้องทำให้ชัดเจนและต่อเนื่อง เพื่อสร้างโอกาสการค้าการลงทุน

ส่วนนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจ ควรพิจารณาองค์ประกอบที่สำคัญ เพราะจากนโยบายที่ผ่านมาไม่ได้สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจ หรือก่อให้เกิดการลงทุนในภาคเอกชนมากนัก โดยจะเห็นว่าหนี้ครัวเรือนไทยยังสูงขึ้น นั่นเป็นเหตุสำคัญที่จะกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ

เอกชนประสานเสียงหนุน

นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สภาต้องการให้รัฐบาลเร่งเดินหน้าเจรจาเอฟทีเอต่าง ๆ โดยเร็ว โดยเฉพาะเอฟทีเอไทย-สหภาพยุโรป และไทย-สหราชอาณาจักร เพราะการเจรจารายประเทศต้องใช้เวลา ไม่สามารถดำเนินการให้เสร็จได้เร็ว หากสำเร็จจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจ ซึ่งทางคณะกรรมการร่วมเอกชน 3 ฝ่าย จะพิจารณากำหนดประมาณการตัวเลขเศรษฐกิจปี 2563 อีกครั้ง ในช่วงกลางเดือนมกราคม 2563

สอดคล้องกับนางสาวกัณญภัค ตันติพิพัฒน์พงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย หรือสภาผู้ส่งออก (สรท.) ซึ่งเห็นด้วยที่จะเร่งเปิดเจรจาเอฟทีเอ เพื่อเปิดตลาดสินค้าที่ไทยมีศักยภาพ โดยเฉพาะสินค้าเกษตร อย่างไรก็ตาม ทาง สรท.ยังคาดการณ์การส่งออกปี 2563 ขยายตัว 0-1% ภายใต้ค่าเงินบาท 30.5 บาทต่อเหรียญสหรัฐ โดยยังต้องติดตามปัจจัยต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น สงครามการค้า เป็นต้น