“จุรินทร์” นั่งหัวโต๊ะหารือปัญหาประมง เน้นย้ำพร้อมแก้ไข-รับฟังทุกเสียง

นายจุรินทร์  ลักษณะวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวระหว่างเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายประมงแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2562 เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2562 ที่ผ่านมาว่า  สำหรับมาตรการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากมาตรการภาครัฐ ในปี 2563 มีการพิจารณาโครงการสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการประมงพาณิชย์และประมงพื้นบ้าน วงเงิน 10,300 ล้านบาท และโครงการนำเรือประมงออกนอกระบบเพื่อการจัดการทรัพยากรทะเลที่ยั่งยืนระยะที่ 2 เพื่อนำเรือประมงที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการของรัฐหรือมีความประสงค์จะเลิกอาชีพประมงออกนอกระบบ จำนวน 2,768 ลำ วงเงิน 7,144 ล้านบาท  ซึ่งอยู่ระหว่างการเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาเห็นชอบ

ส่วนแผนการบริหารจัดการประมงทะเลของประเทศไทย พ.ศ. 2563 – 2567 ที่ประชุมมีมติ เห็นชอบแผนการบริหารจัดการประมงทะเลของประเทศไทย (Fisheries Management Plan: FMP) พ.ศ. 2563-2567 ประกอบด้วย 14 เป้าหมาย 68 มาตรการ โดยมีกรมประมงเป็นหน่วยงานหลัก ในการบริการจัดการการทำประมงทะเลทั้งหมด รวมทั้งเรือประมงพื้นบ้านและเรือประมงพาณิชย์ และการทำประมงทะเลโดยเรือประมงไทยที่ทำในน่านน้ำและเขตเศรษฐกิจจำเพาะของรัฐชายฝั่งอื่นและในทะเลหลวง และในน่านน้ำไทยซึ่งมีบริเวณที่เป็นพื้นที่ทำการประมงอยู่ในฝั่งตะวันออก (อ่าวไทย) และฝั่งตะวันตก (ทะเลอันดามัน) อย่างไรก็ดี เพื่อบริหารจัดการการประมงทะเลที่ดีจำเป็นค้องรับฟังทุกฝ่ายด้วย และขอให้พิจารณาจัดทำแผนการบริการจัดการการทำประมงน้ำจืดด้วย

ทางด้านการประเมินผลผลิตสูงสุดที่ยั่งยืน (MSY) และการกำหนดปริมาณสัตว์น้ำทั้งหมดที่อนุญาตให้ทำการประมง (TAC) ปี 2563 ที่ประชุมมีมติ เห็นชอบการกำหนดปริมาณสัตว์น้ำทั้งหมดที่อนุญาตให้ทำประมง (Total Allowable Catch: TAC) ที่จะถูกนำไปจัดสรรให้กับเรือประมงทุกลำ สำหรับปีการประมง 2563-2564 โดยกำหนดที่ร้อยละ 95 ของค่าผลผลิตสูงสุดที่ยั่งยืน (MSY) ดังนี้

อ่าวไทย

กลุ่มสัตว์น้ำ ค่า MSY (ตัน) ค่า TAC (ตัน)
สัตว์น้ำหน้าดิน 790,985 751,436
ปลาผิวน้ำ 251,547 238,970
ปลากะตัก 202,077 191,973

ทะเลอันดามัน

กลุ่มสัตว์น้ำ ค่า MSY (ตัน) ค่า TAC (ตัน)
สัตว์น้ำหน้าดิน 230,115 218,609
ปลาผิวน้ำ 118,344 112,427
ปลากะตัก 33,007 31,357

ส่วนแนวทางการออกไปอนุญาตทำการประมงพาณิชย์และหลักเกณฑ์การจัดสรรใบอนุญาตทำการประมงพาณิชย์ ที่ประชุม มีมติ เห็นชอบแนวทางการออกใบอนุญาตทำการประมงพาณิชย์และหลักเกณฑ์การจัดสรรใบอนุญาตทำประมงพาณิชย์ รอบปีทำการประมง 2563-2564 ซึ่งสอดคล้องกับความสามารถในการทำประมงและปริมาณสูงสุดของสัตว์น้ำ (MSY) ที่จะทำการประมงในน่านน้ำไทย และคำนึงถึงเครื่องมือและประสิทธิภาพการจับสัตว์น้ำและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม  โดยจะแนวทางการจัดสรรปริมาณสัตว์น้ำทั้งหมดที่อนุญาตให้ทำประมง หรือ TAC จะจัดสรรให้เรือประมงพื้นบ้านก่อนจะจัดสรรให้กับเรือประมงพาณิชย์

นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

นอกจากนั้น เรื่องคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย เห็นชอบแต่งตั้งคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นประธานอนุกรรมการ เพื่อเสนอแนะ แนวทางและนโยบาย รวมทั้งกำกับ ดูแล และติดตามการดำเนินนโยบายแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายมีความต่อเนื่องอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งเพื่ออนุรักษ์และบริหารจัดการทรัพยากรประมงทะเลและการทำประมงให้เกิดความยั่งยืน รวมถึงป้องกันไม่ให้สัตว์น้ำและสินค้าประมงที่มาจากการทำประมงผิดกฎหมายเข้าสู่ตลาดในประเทศและสายการผลิตเพื่อส่งออก

อีกทั้ง มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจแก้ไขปัญหาผลกระทบจากการใช้มาตรการป้องกันการทำประมงผิดกฎหมาย แก้ไขปัญหาผลกระทบจากการใช้มาตรการป้องกันการทำประมงผิดกฎหมาย โดยมีที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นประธานอนุกรรมการ ทำหน้าที่ศึกษา วิเคราะห์ และประเมินผลกระทบจากการใช้มาตรการของรัฐในการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย และกำหนดแนวทางแก้ไขปัญหาฯจนได้ข้อยุติ

นายจุรินทร์ กล่าวอีกว่า ที่ประชุมยังพิจารณาเรื่องการแต่งตั้งคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติ  จำนวน 10 ราย ในปี 2561 และอยู่ระหว่างการพิจารณาตรวจสอบคุณสมบัติของผู้สมัคร 5 ราย เพื่อแทนนายมงคล สุขเจริญคณา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่ได้ลาออกไปเมื่อเดือนพฤษภาคม 2562

แก้ไขปัญหาการทำประมง IUU

สำหรับการแก้ไขปัญหาการทำประมง IUU โดยรัฐบาลไทยได้ดำเนินการในการแก้ไขปัญหาการทำประมง IUU ในด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง และวางรากฐานระบบการป้องกันการทำประมง IUU ไว้โดยสมบูรณ์แล้ว โดยหลังจากการปลดใบเหลืองจากสหภาพยุโรป ไทยยังคงเร่งรัดปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และทำงานร่วมกับสหภาพยุโรปและนานาประเทศอย่างใกล้ชิด และดำเนินนโยบายการปลอดสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ IUU เข้าสู่ประเทศไทย (IUU Free Thailand) และที่ประชุมยังมอบหมายให้เร่งรัดจัดการเรื่องการทำลายเรือ UTHAIWAN ของบริษัท PK Shipping ที่เดินทางเข้ามาในน่านน้ำไทย ซึ่งในขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินคดีเกี่ยวกับ IUU และนำมารายงานในการประชุมครั้งหน้า

ส่วนแผนปฏิบัติแห่งชาติเพื่อการอนุรักษ์และการบริหารจัดการฉลามของประเทศไทย (NPOA – Sharks) ที่ครอบคลุมการศึกษา วิจัย ประเมินสถานภาพ พัฒนาองค์ความรู้ กำหนดมาตรการอนุรักษ์ฉลาม และพัฒนาเครือข่ายการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาและดำเนินการเกี่ยวกับฉลาม กำหนดมาตรการอนุรักษ์ควบคุมการทำประมง และการค้าฉลามอย่างยั่งยืน คงไว้ซึ่งความหลากหลายทางชีวภาพและปกป้องแหล่งที่อยู่อาศัยของฉลาม