ชงครม.โปรเจ็กต์น้ำ2แสนล. บางบาล-บางไทร-วงแหวน3 แก้ปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก

แจ้งเกิด 2 เมกะโปรเจ็กต์ ขุดคลองระบายน้ำหลากบางบาล-บางไทร โครงการคลองผันน้ำ/ถนนวงแหวนรอบ 3 ฝั่งตะวันออก มูลค่ากว่า 200,000 ล้านบาท “บิ๊กฉัตร” ชงที่ประชุม ครม.สัญจรที่อยุธยา หวังแก้ปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก เร่งระบายน้ำฝั่งตะวันออกผ่านสุวรรณภูมิลงอ่าวไทย พ่วงถนน 4-6 ช่องจราจร เพิ่มเส้นทางคมนาคม

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ในการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจร (ครม.สัญจร) จ.สุพรรณบุรี-พระนครศรีอยุธยา ในระหว่างวันที่ 18-19 กันยายนนี้ กระทรวงเกษตรฯจะเสนอ โครงการคลองระบายน้ำหลากบางบาล-บางไทร เข้าสู่ที่ประชุม พร้อมกับย้ำว่า โครงการนี้จะต้องเกิดขึ้นแน่นอน มีการสำรวจออกแบบเรียบร้อยแล้ว รวมถึงให้ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยาสำรวจพื้นที่ที่จะเวนคืนแล้วด้วย

“จะเห็นได้ว่า แผนบริหารจัดการน้ำ 2 ปีแรกของรัฐบาลชุดนี้ คือ ระหว่างปี 2559-2560 เราอาจไม่เห็นโครงการขนาดใหญ่ เพราะต้องใช้เวลาในการสำรวจออกแบบ และการจัดทำรายงานผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม EIA แต่ช่วงดังกล่าวมีการเพิ่มศักยภาพแหล่งน้ำ กักเก็บน้ำ และการกระจายน้ำลงสู่ที่เกษตรแทน แต่ผลงานของรัฐบาลชุดนี้ที่ทำในช่วง 2 ปี มีผลงานเทียบเท่า 10 ปีของรัฐบาลชุดก่อน ทั้งเพิ่มพื้นที่ชลประทาน และเพิ่มปริมาณกักเก็บน้ำ” พล.อ.ฉัตรชัยกล่าว

คลองระบายน้ำฝั่งตะวันตก

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานเข้ามาว่า โครงการคลองระบายน้ำหลากบางบาล-บางไทร ต้นทางจะอยู่ที่ อ.บางบาล มาปลายทางที่ อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา มีมูลค่าโครงการประมาณ 17,600 ล้านบาท (รวมค่าชดเชยทรัพย์สิน 1,826 ล้านบาทแล้ว) ก่อสร้างอาคารบังคับน้ำ 4 แห่ง มีความยาวคลอง 22.4 กม. จะสามารถผันน้ำเพื่อป้องกันไม่ให้ท่วมตัวเมืองพระนครศรีอยุธยา และนิคมอุตสาหกรรมหลายแห่งได้ถึง 1,200 ลบ.ม./วินาที เนื่องจากแม่น้ำเจ้าพระยาช่วงไหลผ่านตัวเมืองอยุธยาจะเป็น “คอขวด” สามารถระบายน้ำได้เพียง 800-1,200 ลบ.ม./วินาทีเท่านั้น ในขณะที่แม่น้ำเจ้าพระยาช่วงใต้เขื่อนเจ้าพระยาลงมาจนถึงอ่างทอง มีศักยภาพระบายน้ำได้ถึง 2,800 ลบ.ม./วินาที

โครงการคลองระบายน้ำแห่งนี้จะต้องเวนคืนพื้นที่ประมาณ 3,500 ไร่ ซึ่งมีผลกระทบน้อยเพราะที่ดินส่วนใหญ่เป็นทุ่งนา มีสิ่งก่อสร้างที่จะต้องชดเชย 435 แห่ง ราคาที่ดินในช่วงปลายโครงการติดแม่น้ำเจ้าพระยา ไร่ละประมาณ 3-4 ล้านบาท ช่วงกลางโครงการไร่ละ 500,000-600,000 บาท “ถือว่าราคายังค่อนข้างต่ำเพราะเป็นพื้นที่สีเขียว ห้ามตั้งโรงงาน” แนวเวนคืนจะลดขนาดความกว้างของโครงการที่จะเวนคืนเหลือประมาณ 200 เมตร มีถนน 2 ฝั่งคลองเหลือ 4 ช่องจราจร จากเดิมที่จะต้องเวนคืนกว้างถึง 245 เมตร เพราะมีการสร้างถนน 6 ช่องจราจร ส่วนโครงการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่คล้ายเขื่อนเจ้าพระยาในอนาคต เพื่อยกระดับให้น้ำสูงและไหลเข้าโครงการบางบาล-บางไทรได้มากขึ้น “ขณะนี้ยังไม่มีการศึกษาออกแบบแต่อย่างใด”

ด้านแผนการดำเนินการโครงการคลองระบายน้ำหลากบางบาล-บางไทร ในปี 2560-2561 ออกแบบรายละเอียดคลองระบายน้ำหลากบางบาล-บางไทร พร้อมดำเนินการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม EIA อาคารประตูระบายน้ำ วงเงิน 18 ล้านบาท ปี 2561 จะเริ่มเวนคืนที่ดินและจัดเตรียมพื้นที่เพื่อการก่อสร้างคลองระบายน้ำหลาก ปี 2561-2565 ออกแบบรายละเอียดอาคารหรือประตูระบายน้ำ และดำเนินการก่อสร้างคลองและสร้างประตูระบายน้ำ

ผลประโยชน์จากการพัฒนาโครงการนี้จะช่วยบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างได้เฉลี่ย 400,000-800,000 ไร่/ปี และสามารถลดระดับความลึกของน้ำที่จะท่วมในพื้นที่ลงได้ สามารถเพิ่มศักยภาพแหล่งน้ำสำหรับการใช้ประโยชน์พื้นที่ด้านเกษตรกรรมรวม 229,000 ไร่ ในพื้นที่ อ.เมือง-บางบาล-บางไทร-บางปะอิน-ผักไห่-เสนา รวมทั้ง อ.ป่าโมก จ.อ่างทอง ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการส่งน้ำด้วยแรงโน้มถ่วงของระบบชลประทาน โดยรอบคลองบางบาล-บางไทรได้ 130,000 ไร่ มีน้ำใช้เพื่อการอุปโภคบริโภค (ความจุคลอง 15 ล้าน ลบ.ม. ครอบคลุมพื้นที่ 48 ตำบล 3 เทศบาล 362 หมู่บ้าน) และเป็นเส้นทางสัญจรทางน้ำเลี่ยงตัวเมืองอยุธยา กับมีถนนบนคันคลองเชื่อมโยงระหว่าง อ.บางบาล กับ อ.บางไทรด้วย

คลองระบายน้ำฝั่งตะวันออก

นอกเหนือจากโครงการคลองระบายน้ำหลากบางบาล-บางไทร ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาแล้ว ทางด้านฝั่งตะวันออกก็จะมีโครงการคลองระบายน้ำเกิดขึ้นด้วย โดยนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า กระทรวงคมนาคมและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ร่วมกันบูรณาการก่อสร้างถนนวงแหวนรอบที่ 3 ควบคู่ไปกับโครงการคลองผันน้ำ โดยได้รับความช่วยเหลือจากองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (JICA) ทางด้านข้อมูลการสำรวจความเป็นไปได้ของโครงการ เพื่อกำหนดแนวทางบรรเทาและป้องกันอุทกภัยในลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน

ไม่ว่าจะเป็นการระบายน้ำหลากบริเวณท้ายเขื่อนเจ้าพระยา จ.พระนครศรีอยุธยา ลงสู่อ่าวไทย ระยะทางประมาณ 100 กม. การลดความเสี่ยงจากการพังทลายของคันกั้นน้ำตลอดแนวของพื้นที่คุ้มกัน การเร่งลดระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำป่าสัก โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะเสนอขออนุมัติหลักการดำเนินการจาก ครม.สัญจรที่ จ.พระนครศรีอยุธยา เช่นกัน

สำหรับแนวคลองผันน้ำฝั่งตะวันออกจะสร้าง “คู่ขนาน” ไปกับถนนวงแหวนรอบที่ 3 ห่างจากวงแหวนรอบนอกตะวันออกปัจจุบันประมาณ 15 กม. โดยแนวคลองผันน้ำจะมีระยะทางประมาณ 110 กม. ความกว้าง 160 เมตร สามารถรองรับการผันน้ำได้ 500-1,000 ลูกบาศก์เมตร/วินาที จุดเริ่มต้นคลองอยู่บริเวณที่แม่น้ำป่าสักไหลมาบรรจบกับแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันออก แล้วคู่ขนานไปกับคลอง 13 และ 14 จ.ปทุมธานี ผ่านถนนร่มเกล้า สนามบินสุวรรณภูมิ ไหลลงสู่อ่าวไทยใกล้บริเวณคลองระบายน้ำสุวรรณภูมิ

ส่วนเส้นทางถนนวงแหวนรอบที่ 3 ที่จะพาดผ่านพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ พระนครศรีอยุธยา, ปทุมธานี, กรุงเทพฯ และสมุทรปราการ รวมระยะทาง 97 กม. แนวถนนจะอยู่ด้านตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา เริ่มจาก ต.บ้านกรด อ.บางปะอิน ตัดตรงมายกระดับข้ามมอเตอร์เวย์บางปะอิน-โคราช มุ่งหน้าสู่ อ.วังน้อย ผ่าน อ.หนองเสือ อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี ไปเชื่อมกับถนนรังสิต-องครักษ์ บริเวณชุมชนคลอง 10 จากนั้นตัดผ่าน อ.ลำลูกกา เข้าเขตหนองจอก และคู่ขนานไปกับรั้วสนามบินสุวรรณภูมิ ข้ามถนนบางนา-ตราด ช่วง กม.24 เข้าสู่ อ.บางเสาธง จ.สมุทรปราการ

“JICA จะศึกษาแล้วเสร็จต้นปี 2561 โดยโครงการนี้จะช่วยป้องกันน้ำท่วม นอกจากเป็นคลองแล้ว ยังมีพื้นที่แก้มลิงไว้สำหรับเก็บน้ำในหน้าแล้ง รวมทั้งยังเป็นการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ถึง 16.8% เกิดประโยชน์ให้กับพื้นที่รับน้ำอีกด้วย” นายอาคมกล่าว

สร้างถนนพ่วงคลอง 2 แสน ล.

แหล่งข่าวจากกรมทางหลวงกล่าวว่า JICA ศึกษาเบื้องต้นจะใช้เงินลงทุนกว่า 200,000 ล้านบาท แยกเป็น คลองผันน้ำกว่า 100,000 ล้านบาท กับถนนวงแหวนรอบที่ 3 ประมาณ 85,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดิมที่เคยประมาณการไว้ เนื่องจากออกแบบให้มีเครื่องผันน้ำ ขุดคลอง และพื้นที่แก้มลิง ซึ่งแนวเส้นทางจะสร้างอยู่ด้านข้างถนนวงแหวนรอบที่ 3 (มุ่งหน้าขึ้นเหนืออยู่ด้านขวามือ) โดยแนว 50% จะสร้างติดกับถนน อีก 50% จะสร้างห่างจากถนนประมาณ 3-5 กม. เพื่อเลี่ยงพื้นที่ชุมชน เช่น บริเวณช่วงต้นของย่านลำลูกกา เป็นต้น

ส่วนถนนวงแหวนรอบที่ 3 กรมทางหลวงได้ศึกษาไว้เมื่อปี 2552 และปรับแบบก่อสร้างช่วงทางต่างระดับให้สอดคล้องกับคลองผันน้ำ จึงทำให้เงินลงทุนเพิ่มขึ้น รูปแบบก่อสร้างเป็นถนนตัดใหม่ 4-6 ช่องจราจร มีจุดเริ่มต้นบริเวณทางหลวงหมายเลข 32 (ถนนสายเอเชีย) กม.ที่ 13+790 ต.บ้านกรด ต.คุ้งลาน อ.บางปะอิน จากนั้นตัดตรงมายกข้ามมอเตอร์เวย์สายบางปะอิน-โคราช แล้วตัดผ่าน ต.หันตะเภา ถนนพหลโยธิน (ทางหลวงหมายเลข 1) อ.วังน้อย ผ่าน ต.หันตะเภา ถนนพหลโยธิน อ.หนองเสือ อ.คลองหลวง-คลองสิบ จ.ปทุมธานี แล้วมาตัดเชื่อมกับถนนหมายเลข 305 (รังสิต-นครนายก) บริเวณ กม.25+850 หรือใกล้กับชุมชนคลองสิบ

จากนั้นแนวจะผ่านสนามกอล์ฟลำลูกกา อ.ลำลูกกา ยกระดับข้ามถนนลำลูกกา ผ่านเขตหนองจอก แขวงโคกแฝด สนามกอล์ฟปัญญา ปาร์ค ตัดข้ามถนนสาย 304 แขวงลำผักชี แขวงลำปลาทิว พื้นที่เขตลาดกระบัง และคู่ขนานไปกับรั้วสนามบินสุวรรณภูมิ แล้วมาตัดกับมอเตอร์เวย์สายกรุงเทพฯ-ชลบุรี บริเวณ กม.23+900 จากนั้นตัดตรงมาตัดกับถนนบางนา-ตราด กม.ที่ 24 ทางด้านตะวันตกของชุมชนในพื้นที่ อ.บางเสาธง จ.สมุทรปราการ ตลอดเส้นทางจะใช้เขตทางก่อสร้างประมาณ 70-100 เมตร คาดว่าจะมีเวนคืนที่ดิน 4,250 ไร่

“ถนนวงแหวนรอบที่ 3 กรมได้งบประมาณปี 2561 จำนวน 60-70 ล้านบาท ศึกษาออกแบบรายละเอียดการก่อสร้าง ส่วนรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณา คาดว่าจะได้รับอนุมัติปี 2561 จากนั้นเสนอขออนุมัติโครงการตามขั้นตอน ตั้งเป้าจะเริ่มเวนคืนปี 2563 เริ่มสร้างปี 2564 แล้วเสร็จปี 2568 ซึ่งในการประชุม ครม.สัญจรที่อยุธยา กรมจะรายงานสถานะของโครงการให้ ครม.รับทราบด้วย” แหล่งข่าวกล่าว

ล่าสุด นายธีระพงษ์ วงศ์ศิวะวิลาส เลขาธิการคณะรัฐมนตรี กล่าวถึงการประชุม ครม.สัญจรครั้งนี้ว่า จะมีเรื่องเพื่อพิจารณาวาระการแก้ไขและพัฒนาพื้นที่ภาคกลาง 16 จังหวัด อาทิ เรื่องพืชเกษตร การบริหารจัดการน้ำเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้ง การอนุรักษ์มรดกโลก การท่องเที่ยว การจัดรูปที่ดิน การคมนาคมเพื่อเชื่อมต่อภาคกลางกับโครงการเศรษฐกิจทวาย และระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC)