โซลาร์ลอยน้ำเขื่อนสิรินธรฉลุย “กฟผ.” ลุยต่ออุบลรัตน์

บี.กริม-ไชน่าเอ็นเนอร์ยี่-กฟผ.ผนึกกำลังปั๊มไฟฟ้าโซลาร์ลอยน้ำเขื่อนสิรินธร 45 เมกะวัตต์ 842 ล้านบาท ด้าน กฟผ.เตรียมลุยต่อจ่อประมูลโซลาร์ลอยน้ำในเขื่อนอุบลรัตน์ปี”64 หวังเสริมแกร่งพลังงานหมุนเวียนปี”66 ส่วน บี.กริม แง้มเดินหน้า M&A อีก 2 โปรเจ็กต์ วางงบฯ 10,000 ล้านบาท มุ่งขยายกำลังการผลิตให้ครบตามเป้า 5,000 เมกะวัตต์ปี”65

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า พลเอกสมศักดิ์ รุ่งสิตา เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ในฐานะกรรมการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็นประธานการลงนามระหว่าง บมจ.บี.กริม เพาเวอร์ หรือ BGRIM บริษัท China EnergyEngineering Group Shanxi Electric Power En-gineering Co., Ltd. และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในการดำเนินโครงการผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ ติดตั้งบนทุ่นลอยน้ำร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนสิรินธร จ.อุบลราชธานี

ซึ่งเป็นการผลิตไฟฟ้าแบบผสมผสานระหว่างโซลาร์เซลล์กับโรงไฟฟ้าพลังน้ำถือเป็นโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำแบบไฮบริดที่ใหญ่ที่สุดในโลก ตามนโยบายสนับสนุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ ฉบับปัจจุบัน(PDP 2018) ซึ่งเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนา และสร้างเสถียรภาพในการผลิตพลังงานหมุนเวียน

โครงการนี้มีกำลังผลิต 45 เมกะวัตต์ มูลค่า 842 ล้านบาท โดยใช้แผงโซลาร์เซลล์ชนิดดับเบิลกลาสที่เหมาะสมกับการวางแผงโซลาร์เซลล์ใกล้ผิวน้ำที่มีความชื้นสูงและมีการเคลื่อนไหวของผิวน้ำอยู่ตลอดเวลา และใช้ทุ่นลอยน้ำชนิด HDPE ไม่เป็นอันตรายต่อสัตว์น้ำและสิ่งแวดล้อม ติดตั้งอุปกรณ์ทั้งหมดบนพื้นที่ผิวน้ำกว่า 450 ไร่ โดยใช้ระบบส่งไฟฟ้าเดิมร่วมกับเขื่อนของ กฟผ. เช่น หม้อแปลง สายส่ง สถานีไฟฟ้าแรงสูงทำให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าในอนาคตมีราคาถูกลง ภายหลังจากการลงนามในสัญญาแล้วคาดว่าจะใช้ระยะเวลาในการดำเนินการ 12 เดือน และจะสามารถผลิตไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ได้ในเดือนธันวาคม 2563

ด้านนายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ รองผู้ว่าการพัฒนาโรงไฟฟ้าและพลังงานหมุนเวียน กฟผ. กล่าวว่า ทาง บี.กริม เป็นผู้รับเหมาติดตั้ง (EPC) โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนสิรินธร (hydro-floating solar hybrid) หรือโซลาร์ลอยน้ำในเขื่อนสิรินธรกำลังผลิต 45 เมกะวัตต์ (MW) ตามแผนงานผู้ประกอบการมีระยะเวลาดำเนินการประมาณ 12 เดือน ให้ทันการผลิตไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ไม่เกินเดือนธันวาคมนี้ หรือต้นปี 2564 ซึ่งเป็นการลงทุนเฟส 1 จากนั้นจะขยายการลงทุนเฟส 2 ซึ่งเป็นการวางระบบกักเก็บไฟฟ้าสำรอง (energy storage) ซึ่งจะช่วยเติมเต็มการผลิตไฟฟ้าในช่วงที่ไม่มีแดด

ทั้งนี้ คาดว่าจะดำเนินการเปิดประมูลในปีหน้าส่วนโครงการวางระบบโซลาร์ลอยน้ำต่อไปจะขยายไปยังเขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น ซึ่งมีกำลังการผลิต 24 เมกะวัตต์ ผสมผสานกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำของเขื่อน คาดว่าจะมีจัดทำประกาศหลักเกณฑ์การประมูล (ทีโออาร์) หลังในปี 2564 หลังจากเดินเครื่องโรงไฟฟ้าสิรินธรแล้วเสร็จก็จะมีการประมวลปัญหาและอุปสรรคในการทำงานก่อนที่จะจัดทำทีโออาร์ และคาดว่าเปิดประมูลให้เอกชนมาดำเนินการก่อสร้างได้ในปี 2564-2565 และกำหนดจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบปี 2566

ด้านนางปรียนาถ สุนทรวาทะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.บี.กริม เพาเวอร์ หรือ BGRIM เปิดเผยว่า โครงการนี้ถือเป็นหนึ่งในแผนงานเพื่อก้าวสู่เป้าหมายการเพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้าให้ได้ 5,000 เมกะวัตต์ (MW) ภายในปี 2565 จากปัจจุบันที่มีกำลังผลิตที่ COD แล้ว 2,896 เมกะวัตต์ ซึ่งหลังจากนี้บริษัทยังอยู่ระหว่างการเจรจาเพื่อเข้าซื้อและควบกิจการ (M&A) โรงไฟฟ้าในและต่างประเทศ

อาทิ โครงการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติในประเทศ โครงการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซในมาเลเซีย โครงการโซลาร์ในฟิลิปปินส์ โครงการในเกาหลี เวียดนาม เป็นต้น โดยคาดว่าในช่วงครึ่งปีแรกปี 2563 จะมีความชัดเจนอย่างน้อย 2 โครงการ หากสำเร็จจะทำให้รายได้บริษัทโตเพิ่มไม่ต่ำกว่า 20% จากเดิมที่ตั้งเป้ารายได้ในปีนี้โตตามแผนงานปกติ 10-20%

ส่วนโครงการพัฒนาโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) เป็นเชื้อเพลิง ขนาดกำลังการผลิต 3,000 เมกะวัตต์ และการนำเข้าและจำหน่าย LNG ในเวียดนามก็ยังเดินหน้าต่อเนื่อง คาดว่าจะมีความชัดเจนมากขึ้น นอกจากนี้ บริษัทได้ยื่นขอใบอนุญาตประกอบกิจการจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ (shipper) กับคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.)เพื่อนำเข้า LNG มาใช้ในโรงไฟฟ้าเนื่องจากปัจจุบันราคา LNG ในตลาดค่อนข้างต่ำจึงเป็นโอกาสของผู้ใช้

โดยขณะนี้บริษัทยังไม่ได้เซ็นสัญญาซื้อขายก๊าซกับ บมจ.ปตท. (PTT) เพื่อใช้ในโครงการโรงไฟฟ้าเอกชนรายเล็ก (SPP) ประเภทพลังความร้อนร่วม (cogeneration)เพื่อทดแทนโรงไฟฟ้า SPP ที่หมดอายุ (replacement) และยังไม่ได้เซ็นสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) โดยเบื้องต้นคาดว่าจะเซ็น PPA โครงการดังกล่าวได้ในช่วงเดือนกลางปี 2563

ทั้งนี้ เดิมทาง บี.กริม ประเมินเบื้องต้นว่า การขยายกำลังการผลิตไปสู่เป้าหมาย5,000 เมกะวัตต์นั้น จะใช้งบประมาณลงทุนไม่ต่ำกว่า 38,000 ล้านบาท โดยในปีนี้บริษัทวางงบประมาณในการลงทุนไว้ไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้านบาท ซึ่งส่วนหนึ่งจะนำมาจากเงินคงเหลือจากการออกหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนเมื่อปลายปี 2562 ประมาณ 8,000 ล้านบาท หากมีการใช้วงเงินสูงกว่านี้ ยังสามารถขยายวงเงินเพิ่มได้อีก อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ แต่บริษัทมั่นใจว่าจะสามารถควบคุมหนี้สินต่อทุนได้ไม่เกิน 2 เท่า

สำหรับแผนก่อสร้างโรงไฟฟ้า SPP ใหม่ปีนี้มีจำนวน 7 โครงการ กำลังผลิตรวมสุทธิรวมจำนวน 800 เมกะวัตต์ ซึ่งจะแล้วเสร็จในปี”65 โดยเป็นโรงไฟฟ้า SPP เพื่อทดแทนโรงไฟฟ้า SPP จาก 5 โครงการ กำลังผลิตรวม 565 เมกะวัตต์ ที่จะหมดอายุในปี”65 และโรงไฟฟ้า SPP ใหม่ 2 โครงการที่ย้ายพื้นที่จาก จ.ราชบุรี มาเป็น จ.อ่างทอง กำลังการผลิตรวม 240 เมกะวัตต์