สวก.ดันวิจัยสินค้าเกษตรสุดตัว หวัง 1 ใน 10 ส่งออกอาหารโลก

นับวันกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านอาเซียนและประเทศกำลังพัฒนาขนาดใหญ่ เช่น อินเดีย ต่างเร่งผลิตสินค้าเกษตรส่งออกแข่งกับไทยในปริมาณมากขึ้นทุกปี เห็นได้ชัดจากกรณีกุ้งขาวแวนนาไมที่เป็นสินค้าเชิดหน้าชูตาของไทย เริ่มประสบปัญหาหนักขึ้นเมื่อคู่แข่งอย่างเวียดนาม พร้อมจะผลิตและส่งออกในอนาคตสูงถึง 1 ล้านตัน และยังมีอินเดียที่เพิ่มพื้นที่การเลี้ยงและผลิตส่งออกสูงถึง 7-8 แสนตันต่อปี ราคากุ้งที่เคยสูงถึง กก.ละ 130-140 บาท (ขนาด 100 ตัวต่อ กก.) กลับทรุดตัวลงเหลือเพียง กก.ละ 90-100 บาทต่อ กก. เป็นเวลานานหลายเดือน

ซึ่งราคานี้ต่ำกว่าต้นทุนการผลิต กก.ละ 110 บาท เนื่องจากอำนาจการต่อรองราคากับผู้ซื้อต่างประเทศของไทยหมดไป เพราะอันดับการส่งออกกุ้งไปยังประเทศผู้นำเข้าที่สำคัญอย่างสหรัฐอเมริกา ตกไปอยู่อันดับ 4-5 รองจากอินเดีย เวียดนาม เอกวาดอร์ และแนวโน้มราคากุ้งขาวในปีนี้ก็คาดว่าจะตกต่ำยาวนานอีกหลายเดือน ทั้งนี้ ยังไม่รวมถึงปัญหาค่าเงินบาทแข็งค่ากว่าประเทศคู่แข่งไม่ต่ำกว่า 10% และต้นทุนการผลิตที่สูงกว่าคู่แข่ง

ไม่เพียงแต่สินค้ากุ้งขาว ประเทศคู่แข่งทั้งอินเดีย เวียดนาม ฯลฯ ได้ถล่มตลาดข้าวไทย ขายในราคาต่ำตัดหน้า ยืดเยื้อมาเป็นเวลากว่า 10 ปีแล้ว และยังมีสินค้าเกษตรไทยอีกหลายชนิดที่ประสบปัญหาเช่นนี้ แน่นอนผู้ที่ได้รับผลกระทบย่อมหนีไม่พ้นเกษตรกรไทย

ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. ในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงได้ปรับนโยบายรับการเปลี่ยนแปลงของโลกาภิวัตน์ใหม่ เพื่อหวังยกระดับการเกษตรของประเทศไทยหนีคู่แข่ง ต้องหาวิธีเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรช่วยเกษตรกรมากยิ่งขึ้น จะหวังพึ่งเงินอุดหนุนสินค้าเกษตรจากรัฐบาลตลอดไปไม่ได้ ฉะนั้น จุดเริ่มต้นของการแก้ปัญหา คือ การส่งเสริมงานวิจัยให้ตรงจุด สามารถนำไปต่อยอดเป็นการผลิตเชิงพาณิชย์ เป็นสินค้าเกษตรแปรรูปที่มีมูลค่าเพิ่มมากที่สุด จะไม่มีการวิจัยโดยไม่มองกระแสความต้องการของตลาดในอนาคต งานวิจัยแล้วขึ้นหิ้ง การวิจัยเชิงวิชาการที่ไม่สามารถนำไปต่อยอดผลิตเป็นสินค้าเชิงพาณิชย์เหมือนในอดีต จะไม่มีการสนับสนุนการวิจัยเช่นนี้อีกต่อไป

ดังนั้น ในวันที่ 24 มกราคมปีนี้ สวก.จึงเตรียมจัดงานสัมมนาเปิดตัวเทคโนโลยีและนิทรรศการแสดงผลงานการวิจัยกลุ่มเรื่องอาหาร “Taste of Innovation : นวัตกรรมอาหาร เพื่อการพัฒนาสู่อนาคต” ขึ้นที่โรงแรมรามาการ์เด้นส์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอเผยแพร่ประชาสัมพันธ์เทคโนโลยีจากผลงานวิจัยกลุ่มเรื่อง “อาหาร” จำนวน 44 โครงการ ซึ่งพร้อมถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยี สู่หน่วยงานรัฐและเอกชน เพื่อนำไปขยายผลสู่การใช้ประโยชน์ในเชิงนโยบาย เชิงสาธารณะ และเชิงพาณิชย์ ประกอบด้วย ภาคบรรยาย 14 โครงการ และภาคนิทรรศการ 25 โครงการ

นอกจากนี้ยังมีบูทในส่วนของภาคเอกชนที่ได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจาก สวก. มานำเสนอผลงานอีก 5 โครงการ ซึ่งได้เชิญผู้ที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมอาหารและอาหารเสริม ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาควิชาการไม่น้อยกว่า 200 ราย เข้าร่วมงาน คาดว่าผลงานวิจัยที่นำเสนอจะเป็นประโยชน์ต่อสาธารณชน และเกิดการผลักดันไปสู่การใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยในอนาคต

ขณะเดียวกันจะจัดให้มีพิธีลงนามสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิผลงานวิจัยแก่ผู้ประกอบการจำนวน 13 ราย ซึ่งแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของผลงานวิจัยที่สามารถนำไปใช้ได้จริง และเป็นจุเริ่มต้นในการผลักดันให้เกิดการลงทุนทางธุรกิจของภาคเอกชนในอุตสาหกรรมอาหาร ที่สามารถก่อให้เกิดมูลค่าทางด้านเศรษฐกิจและสังคมในอนาคตได้ไม่น้อยกว่า 570 ล้านบาทด้วย

อาทิ การวิจัยและพัฒนาหญ้าหวานเพื่อใช้เป็นผลิตภัณฑ์ให้ความหวาน วิจัยโดย ผศ.ดร.จามร สมณะ มหาวิทยาลัยมหิดล ผลสำเร็จในการวิจัย คือ ได้พันธุ์หญ้าหวานที่เหมาะสมและปลูกได้ดีในไทย ที่มีปริมาณ rebaudioside A ในสัดส่วนที่สูง ได้เทคโนโลยีการสกัดหญ้าหวานและได้ผลิตภัณฑ์ต้นแบบสารสกัดหญ้าหวานในรูปแบบผงและน้ำเข้มข้น ทั้งนี้ ผู้ได้รับอนุญาตให้ใช้สิทธิ คือ บริษัท ซูกาเวีย จำกัด

การพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารทางการแพทย์สำหรับผู้ป่วยเบาหวาน โดยใช้ข้าวเป็นวัตถุดิบหลักเพื่อทดแทนผลิตภัณฑ์นำเข้าจากต่างประเทศ วิจัยโดย ผศ.ดร.สุภัทร ไชยกุล มหาวิทยาลัยมหิดล ผลสำเร็จจากงานวิจัยคือ กรรมวิธีการผลิตต้นแบบผลิตภัณฑ์อาหารทางการแพทย์แบบ retort และแบบผง สูตรปกติที่มีข้าวเป็นองค์ประกอบหลักที่ผู้ป่วยทั่วไปสามารถบริโภคได้ พร้อมกับเทคโนโลยีการทำแป้ง ดัดแปรสภาพ การสกัดสารจากข้าว และการทำน้ำมันผสมเพื่อการผลิตผลิตภัณฑ์อาหารทางการแพทย์ ซึ่งผู้ได้รับอนุญาตให้ใช้สิทธิคือ บริษัท ดีโอดี ไบโอเทค จำกัด(มหาชน)

การพัฒนาผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์ของเวชสำอางดอกไม้ไทย วิจัยโดย ศาสตราจารย์ ดร.วราภรณ์ จรรยาประเสริฐ มหาวิทยาลัยมหิดล ผลสำเร็จที่ได้ คือ ผลการตรวจสอบคุณภาพด้านเคมี ด้วยการวิเคราะห์ปริมาณสารสำคัญและผลการทดสอบการปนเปื้อน เช่น การปนเปื้อนจุลชีพ โลหะหนัก ยาปราบศัตรูพืชของสารสกัดของดอกไม้ไทย จำนวน 20 ชนิด ฯลฯ ซึ่งผู้ได้รับอนุญาต คือ บริษัท บิ๊ค เคมิคอล จำกัด

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกสินค้าอาหารอันดับที่ 12 ของโลก ในเอเชีย ไทยส่งออกสินค้าอาหารรองจากสาธารณรัฐประชาชนจีนเท่านั้น แซงทั้งเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และประเทศต่าง ๆ ในอาเซียน การมี สวก.มาส่งเสริมสนับสนุนการวิจัยสินค้าเกษตร จึงช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มและสร้างความมั่งคั่งให้เกษตรกรได้มาก ดังนั้น เป้าหมาย “ท็อปเทน” การส่งออกสินค้าอาหารของไทยในอนาคตอันใกล้ จึงไม่ใช่เรื่องไกลเกินเอื้อม