หมูไทยพาเหรดขายนอกปท. รับอานิสงส์หวัด ASF – ฮ่องกงแห่นำเข้า

ส่งออกหมูพุ่งเฉียด 100% “ส.ผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ” มั่นใจแนวโน้มตลาดดี ไม่ห่วงคนเข้าใจผิดไข้หวัดหมู H1N1 อานิสงส์ “ASF” ดันค้าชายแดนสุกรมีชีวิตผ่านเขมรเข้าเวียดนามเดือนมกราคมทะลุ 7,000 ตัวครั้งแรก ขณะที่ตลาดส่งออกเนื้อสุกรแช่เย็นแช่แข็งสดใส “อินเดีย” นำเข้าเพิ่ม 900% ซัพพอร์ตชาวต่างชาติ

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า สถานการณ์การระบาดโรคอหิวาต์แอฟริกันในสุกร (ASF) ในช่วงปีที่ผ่านมา ยังไม่คลี่คลาย แต่ล่าสุดศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของไต้หวัน (CDC) ได้เปิดเผยรายงานการเสียชีวิตของประชาชนจากไวรัส H1N1 หรือไข้หวัดหมู ถึง 56 ราย ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา จากจำนวนผู้ติดเชื้อที่คาดว่าจะมี 771 คน และยังมีแนวโน้มรุนแรง ประเด็นนี้อาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดได้ว่าเป็นผลจากการรับประทานเนื้อหมู 

ทั้งที่ “โรคไข้หวัดหมู หรือ Swine Flu เป็นโรคที่ไม่ได้เกี่ยวกับการรับประทานเนื้อสุกร” เพียงแต่จุดเริ่มต้นเกิดจากสุกรที่ติดเชื้อไวรัสรุนแรง จนกลายเป็นไข้หวัดใหญ่ในสุกร แต่ในปัจจุบันไข้หวัดหมู ชนิด A H1N1 เป็นการติดต่อกันผ่านคนสู่คนไม่พบเชื้อในหมู และไม่ติดต่อด้วยการสัมผัส หรือกินเนื้อหมูด้วย

 นายสุรชัย สุทธิธรรม นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หากเปรียบเทียบความกังวลแล้ว ทางผู้เลี้ยงห่วง ASF มากกว่าโรคไข้หวัดหมู เพราะเรามีวัคซีนที่สามารถป้องกัน H1N1 ได้ แต่ใน ASF ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน 

“ทั้ง 2 โรคยังไม่ได้แพร่ระบาดเข้ามาที่ประเทศไทย เพราะมาตรฐานการดูแลฟาร์มของเรามีการดูแลอย่างดี อย่างโรค ASF ที่แพร่ในอาเซียนหลายประเทศ แต่ยังเข้าไทยไม่ได้ เพราะเราป้องกันด่านชายแดนอย่างเข้มงวด”

ล่าสุดสมาคมได้ลงพื้นที่ช่องจอม จ.สุรินทร์ เพื่อตรวจสอบการขนย้ายหมูเข้า-ออกด่าน โดยเราพยายามใช้วิธี
ที่ระมัดระวังมาก ไม่ให้นำรถขนหมูออกไปนอกด่านฝั่งประเทศไทย แต่ใช้วิธีการเคลื่อนย้ายหมูลงจากรถในฝั่งไทยไปขึ้นรถฝั่งเพื่อนบ้าน และล้างดูแลรถที่ขนส่งด้วยระบบการฆ่าเชื้อที่ดี

นายสุรชัยกล่าวว่า แนวโน้มตลาดสุกรปีนี้มีแนวโน้มที่เติบโตดีต่อเนื่องจากปีก่อน ทั้งสุกรมีชีวิตและสุกรแช่เย็นแช่แข็ง โดยเฉพาะเดือนที่ผ่านมาไทยสามารถส่งออกสุกรมีชีวิตไปยังประเทศกัมพูชาเพิ่มขึ้น จากปกติที่ส่งออกได้ วันละ 4,000-5,000 ตัว เป็น 6,000-7,000 ตัว เนื่องจากมีความต้องการจากเวียดนามที่สั่งผ่านมาทางกัมพูชาด้วย 

“เวียดนามประสบปัญหาการระบาดของ ASF ค่อนข้างรุนแรง และพยายามจะขอซื้อสุกรมีชีวิตจากไทยโดยตรง แต่ก็อยู่ระหว่างหารือกันว่าจะเข้มงวดเรื่องความปลอดภัยทางชีวภาพในการขนย้าย จึงต้องสั่งผ่านมาทางกัมพูชา ขณะที่การส่งออกเนื้อสุกรสด แช่เย็นและแช่แข็งก็ยังมีโอกาสที่ดีเช่นกัน เพราะในหลาย ๆ ประเทศประสบปัญหา ASF เช่น ฮ่องกง ก็มีการสั่งนำเข้าจากไทย” 

อย่างไรก็ตาม ผู้เลี้ยงไทยมีปริมาณการเลี้ยงเท่าเดิม ไม่ได้เพิ่มขึ้น และราคาขายยังทรงตัวที่อยู่ กก.ละ 79 บาท ตามที่กรมการค้าภายในขอความร่วมมือ 

ด้านนายจิรวุฒิ สุวรรณอาจ อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายการพาณิชย์) และผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภาพรวมการส่งออกหมูมายังตลาดกัมพูชาในปีที่ผ่านมาเติบโตมาก โดยสุกรจากไทยส่งมาที่กัมพูชาทะลุผ่านเข้าไปยังเวียดนามส่วนหนึ่ง ส่วนในปี 2563 ในช่วงครึ่งปีแรกน่าจะยังรักษาโมเมนตัมเดิมไว้ได้ เพราะขณะนี้เวียดนามยังไม่สามารถ
ผลิตได้ทันเพียงพอต่อความต้องการ ส่วนครึ่งปีหลังก็ขึ้นอยู่กับว่าการผลิตของเวียดนามจะกลับมาทันหรือไม่ และผลการเจรจาระหว่างทางกัมพูชา-เวียดนาม ซึ่งจะขอให้ยกเลิกการห้ามนำเข้า (แบน) สุกรของเวียดนามได้สำเร็จหรือไม่ 

“ยังไม่ได้ประเมินว่าการส่งออกสุกรที่เพิ่มขึ้นจะมีผลต่อภาพรวมมากเพียงใด เพราะสัดส่วนของการส่งออกสุกรมายังกัมพูชา เทียบกับภาพรวมการส่งออกกัมพูชาทั้งหมดกว่า 7 พันล้านเหรียญสหรัฐ ยังถือว่าไม่มากนัก” 

รายงานข่าวจากกรมศุลกากรระบุว่า การส่งออกเนื้อสุกรสด แช่เย็นแช่แข็งและแปรรูป ปี 2562 มีมูลค่า 779.07 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 95.50% จากปีก่อน โดยตลาดฮ่องกงเป็นอันดับ 1 มีสัดส่วน 91% มูลค่า 710.31 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 710% และปรากฏว่าตลาดอินเดีย ซึ่งเป็นตลาดอันดับ 4 มูลค่า 4.85 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 954% จากปีก่อน โดยเป็นการส่งออกไปยังเมืองเชนไน และมุมไบที่เพิ่มขึ้นมาก คาดว่าจะมีผลมาจากความต้องการบริโภคของกลุ่มชาวต่างชาติในอินเดีย

นางสาวสุพัตรา แสวงศรี  ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ประจำเมืองมุมไบ ประเทศอินเดีย กล่าวกับ“ประชาชาติธุรกิจ”ว่า ขณะนี้ตลาดสินค้าเนื้อสุกรแช่เย็นแช่แข็ง ในอินเดียขยายตัวมากขึ้น เนื่องจากมีนักลงทุนต่างชาติ ทั้ง จีน เกาหลี ญี่ปุ่น และสหรัฐ ขยายการลงทุนเข้ามายังอินเดีย โดยเฉพาะในเมืองเศรษฐกิจต่าง ๆ ไม่ใช่เพียงมุมไบ มีทั้งไฮเดอราบาด เดลี และบังคาลอร์ และคนอินเดียก็มีการบริโภคหมูมากขึ้นโดยเฉพาะทางตอนเหนือ กัวคาร์นาตากะ กัลกาตา ส่งผลให้ความต้องการบริโภคเนื้อสุกรมากขึ้น จึงเริ่มเห็นมีการจัดจำหน่ายเนื้อสุกรในห้างค้าปลีกระดับไฮแอนด์ จากเดิมที่ไม่มีการจำหน่าย และยังมีร้านขายปลีก (เขียง) สำหรับราคาจำหน่ายที่อินเดีย ถ้าเป็นเนื้อหมูนำเข้า ราคา กก.ละ 800-900 บาท แต่ถ้าเป็นเนื้อหมูที่ผลิตภายในประเทศ ราคา กก.ละ 120 บาท ส่วนการลงทุนฟาร์มสุกรจากนักลงทุนไทยเท่าที่ทราบยังไม่มีการลงทุน อาจจะมีการเลี้ยงโดยธุรกิจภายในเพิ่มขึ้นบ้าง ดังนั้นจึงต้องอาศัยการนำเข้า ซึ่งจะมีอัตราภาษีประมาณ 30%