กกร.คุมหน้ากากอนามัยขายไม่เกิน 2.50 บาท เจลล้างมือต้องขอก่อนขึ้นราคา

กกร.เผยออกประกาศ 3 ฉบับเพื่อดูแลประชาชนในช่วงโควิด-19 โดยผู้ขายจะต้องขายหน้ากากอนามัย (สีเขียว) ไม่เกิน 2.50 บาทต่อชิ้น ขณะที่เจลล้างมือ หากจะขึ้นราคาจะต้องขออนุญาตก่อน รวมไปถึงการนำเข้าหน้ากากอนามัยบวกราคาเพิ่มได้ไม่เกิน 60% ของราคานำเข้า ย้ำขณะนี้หน้ากากอนามัยทุกชิ้นที่เข้าที่ศูนย์กระจายฯ จะกระจายให้กับผู้ใช้ทั้งโรงพยาบาล ประชาชน

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2563 คณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) ครั้งที่ 3/2563 ประชุมเพื่อพิจารณาการกำหนดมาตรการควบคุมสินค้าหน้ากากอนามัย ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน ภายหลังการประชุมที่ประชุมเห็นชอบออกประกาศ กกร. 3 ฉบับ ได้แก่ ประกาศกำหนดราคาขายหน้ากากอนามัยที่ใช้และเป็นที่ต้องการในขณะนี้ (สีเขียว) ให้จำหน่ายในราคา 2.50 บาทต่อชิ้น โดยให้มีผลบังคับใช้ในวันจันทร์ที่ 9 มีนาคม 2563 โดยก่อนที่จะมีผลบังคับใช้ กกร.ให้ผู้ประกอบการที่มีสต็อกและจำหน่ายในหลายราคาตามต้นทุนที่ซื้อมาให้เร่งบริหารจัดการก่อนที่ประกาศจะมีผลบังคับใช้ ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้ผลิตสามารถจำหน่ายในราคาดังกล่าวได้ กระทรวงพาณิชย์เตรียมเสนอมาตรการช่วยเหลือโดยต้นทุนส่วนต่างจะให้รัฐบาลเข้าช่วยเหลือ สำหรับแนวทางนั้นจะเร่งสรุปเพื่อเสนอ ครม. พิจารณาต่อไป

ประกาศในเรื่องของการคิดต้นทุนขายปลีกหน้ากากอนามัยจากการนำเข้าหน้าสินค้า โดยสามารถบวกราคาเพิ่มได้ไม่เกิน 60% ของราคาที่นำเข้า โดย 60% นั้นรวมต้นทุนในการบริหารจัดการที่เกี่ยวข้องทั้งหมด รวมไปถึงภาษีมูลค่าเพิ่มด้วย เช่น นำเข้ามา 100 บาทต่อชิ้นสามารถจำหน่ายได้ในราคา 160 บาทต่อชิ้น เป็นต้น โดยห้ามเกินจากราคาดังกล่าว สำหรับราคานำเข้าผู้นำเข้าจะต้องชี้แจงต้นทุนนำเข้าให้หน่วยงานที่ดูแลรับทราบ ประกาศดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ทันที ส่วนการนำเข้าไม่ได้มีการจำกัดการนำเข้ามาจะต้องนำเข้ามาปริมาณเท่าไร แต่เชื่อว่าส่วนการนำเข้าอาจจะมีอุปสรรคอยู่บ้าง เนื่องจากหลายประเทศไม่ให้ส่งออก

และประกาศการขอขึ้นราคาของเจลล้างมือ โดยผู้ที่จะขึ้นราคาเจลล้างมือจำเป็นต้องขออนุญาตมาที่กรมการค้าภายในก่อนปรับขึ้นราคา ซึ่งได้รับอนุญาตก่อนถึงจะขึ้นราคาได้ประกาศดังกล่าวนี้จะมีผลบังคับใช้ทันที เหตุที่ออกประกาศนี้เนื่องจากพบว่าเจลล้างมือเริ่มมีปัญหาจำหน่ายในราคาสูงเกินสมควร ขาดแคลน ส่วนปริมาณและจำนวนผู้ผลิตเท่าไรนั้นยังไม่ทราบตัวเลขที่แน่ชัด เพราะมีผู้ผลิตที่หลากหลาย อีกทั้งขอให้ประชาชนมั่นใจว่าจะไม่ขาดแคลน เนื่องจากเจลล้างมือเป็นสินค้าที่สามารถผลิตเองได้ภายในประเทศ ส่วนมาตรการอื่นภายหลังการประชุม จากตัวเลขกำลังการผลิตที่ได้จากโรงงาน 11 โรงงานสามารถผลิตได้อยู่ที่ 36 ล้านชิ้นต่อเดือน หรือประมาณ 1.2 ล้านชิ้นต่อวัน

โดยจากนี้หน้ากากอนามัยทุกชิ้นจะถูกบริหารจัดการโดยศูนย์กระจายหน้ากากอนามัย ซึ่งมีตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมการค้าภายใน กระทรวงสาธารณสุข องค์การเภสัช สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และผู้แทนโรงพยาบาลจากสังกัดต่างๆ แบ่งการกระจายออกเป็น 2 ส่วน โดยกระทรวงสาธารณสุข รองเลขา อย. จะดำเนินการกระจายหน้ากากอนามัยให้กับโรงพยาบาลทุกสังกัดที่มีอยู่ทั่วประเทศ ประมาณ 7 แสนชิ้นต่อวัน ส่วนอีก 5 แสนชิ้นต่อวัน กรมการค้าภายในจะกระจายผ่านช่องทางร้านค้า ร้านขายปลีก ร้านขายยาประมาณ 2 แสนชิ้น และผ่านขบวนคาราวานที่ปล่อยไปตามชุมชนและหัวเมืองต่างๆ ประมาณ 3 แสนชิ้น อย่างไรก็ดี เป็นประมาณการเบื้องต้นซึ่งอาจจะปรับไปตามความต้องการของผู้ใช้ด้วย

“รถที่ปล่อยออกไปเพื่อจำหน่ายให้ประชาชนสามารถติดตามได้ที่กรมการค้าภายใน ในพื้นที่ กทม.และปริมณฑลปล่อยประมาณ 21 คัน ต่างจังหวัดประมาณ 90 คัน แต่ละคันจะนำหน้ากากอนามัยไปจำหน่ายประมาณ 3-5 พันชิ้นต่อคัน จำหน่ายแพ็กละ 10 บาทโดย 1 แพ็กมี 4 ชิ้น”

ส่วนการห้ามกักตุนเบื้องต้นยังไม่ได้กำหนดปริมาณไว้ แต่ทั้งนี้ใครที่มีพฤติกรรมดังกล่าวจะถือว่ากระทำผิด ได้แก่ เก็บสต๊อกหน้ากากอนามัยไม่ได้ตรงตามที่แจ้งไว้หรือเก็บไว้ที่อื่น ไม่นำหน้ากากอนามัยมาจำหน่ายตามปกติ ปฏิเสธการจำหน่ายหน้ากากอนามัย ประวิงการจำหน่ายสินค้า มีการส่งมอบสินค้าหน้ากากอนามัยโดยไม่สมเหตุผล หากเข้าข่ายก็ถือว่าผิดกฎหมายโทษ จำคุกไม่เกิน 7 ปี ปรับไม่เกิน 1.4 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนการหารือร่วมผู้ที่เกี่ยวข้องในวันที่ 5 มีนาคม 2563 จะติดตามถึงข้อปัญหาและอุปสรรคสำหรับแนวทางการปฏิบัติ ทั้งนี้เพื่อร่วมกันแก้ไข