“จุรินทร์” ถก 43 เอกชน รับมือ COVID-19

จุรินทร์เชิญเอกชน 43 ราย โดยเฉพาะกลุ่มอุปโภคบริโภค ร่วมรับมือปัญหาไวรัส COVID-19 หวั่นกระทบทำให้สินค้าขาดแคลน ราคาสูงขึ้น

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวภายหลังการประชุมร่วมกับผู้ประกอบการที่เกี่ยวกับสินค้าอุปโภคบริโภค เมื่อวันที่ 7 มีนาคม ว่าในสถานการณ์ COVID-19 ซึ่งมีผู้ประกอบการเข้าร่วม จำนวน 43 ราย ประกอบด้วย สมาคมจำนวน 9 สมาคม (สมาคมผู้ค้าปลีกไทย สมาคมการค้าส่ง-ปลีกไทย สมาคมผู้ผลิตอาหารสาเร็จรูป สมาคมผู้ประกอบการข้าวถุง สมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่ สมาคมผู้ผลิตไก่ เพื่อส่งออกไทย สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ สมาคมไทยอุตสาหกรรมผลิตยาแผนปัจจุบัน และสมาคมผู้วิจัยและผลิตภัณฑ์เภสัชภัณฑ์) ผู้ประกอบการสินค้าอุปโภคบริโภค จำนวน 22 ราย (หมวดของใช้ประจาวัน 5 ราย หมวดอาหารและเครื่องดื่ม/ผลิตภัณฑ์นม 14 ราย ยาและเวชภัณฑ์/เจลล้างมือ 9 ราย) ห้างสรรพสินค้า จำนวน 6 ราย ว่า เพื่อเตรียมรองรับมาตรการของรัฐบาลที่ต้องการช่วยเหลือประชาชน ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งอาจจะส่งผลให้แนวโน้มราคาสินค้าปรับตัวสูงขึ้น

“เชิญผู้ประกอบการเข้ามาหารือและรับฟังสถานการณ์การบริโภคและการผลิตสินค้า เบื้องต้นพบว่า สำหรับอาหารสำเร็จรูป มีแนวโน้มที่ดีขึ้นจากการค้าออนไลน์เห็นได้จากกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นอีก 30% ทั้งนี้ผู้ประกอบการพร้อมให้ความร่วมมือและยืนยันว่าจะไม่มีการปรับขึ้นราคา และจะผลิตสินค้าอุปโภค บริโภค ไม่ให้ขาดแคลนในตลาดอย่างแน่นอน โดยประชาชนมั่นใจได้ว่าสินค้า จะถูกกระจายเพียงพอต่อความต้องการของประชาชนในช่วงที่ประเทศมีปัญหาขณะนี้ได้ โดยเฉพาะในกลุ่มผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับการทำความสะอาด เช่น เจลล้างมือ โดยผู้ผลิตจะเร่งผลิตและกระจายเพื่อให้มีจำหน่ายเพิ่มมากขึ้น”

ส่วนปัญหาเรื่องหน้ากากอนามัย ขณะนี้โรงงานผู้ผลิตหน้ากากอนามัยเร่งผลิตเพื่อนำส่งศูนย์กระจายหน้ากากอนามัย เพื่อที่จะกระจายไปยังหน่วยงานต่างๆ รวมไปถึงเพื่อให้มีเพียงพอต่อความต้องการของประชาชน โดยจะเร่งจัดสรรและกระจายไปให้ได้โดยเร็วที่สุด ตามปริมาณและจำนวนที่จัดสรรไว้แล้ว ล่าสุดกรมการค้าภายในได้ออกประกาศ กกร. 3 ฉบับ

ฉบับที่หนึ่งได้กำหนดเนื้อหาให้ผู้ผลิตผู้นำเข้าหรือผู้ส่งออกหรือผู้ที่เป็นตัวแทนจำหน่ายหน้ากากอนามัยจะต้องแจ้งข้อมูลมายังกรมการค้าภายใน ซึ่งเป็นเลขานุการคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการทุกวัน สำหรับประกาศฉบับที่สองมีเนื้อหาหลักในการให้จำหน่ายหน้ากากอนามัยในราคาไม่เกินชิ้นละ 2.50 บาทและประกาศฉบับที่สาม คือประกาศเรื่องเจลล้างมือคือการควบคุมราคาห้ามขายสูงกว่าราคาที่ได้แจ้งไว้ หากพบว่ามีการจำหน่ายเกินราคาหรือแพงเกินสมควรจะมีโทษตามกฎหมายทันที

นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ปัจจุบันมีการดำเนินคดีผู้ที่จำหน่ายหน้ากากอนามัยแพงเกินสมควรไปแล้ว 89 ราย โดยพบในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล 64 ราย ในส่วนภูมิภาค 25 ราย โดยแบ่งออกเป็น 2 ข้อหาคือ 1. ข้อหาไม่ติดป้ายแสดงราคา ซึ่งเป็นความผิดตามมาตรา 28 2. คือข้อหาการจำหน่ายแพงเกินสมควรเป็นความผิดตามมาตรา 29

ส่วนการดำเนินการกับผู้ค้าออนไลน์ที่ทำผิดกฏหมายจับกลุ่มไปแล้วทั้งหมด 13 ราย มีทั้งในกรุงเทพมหานคร 12 ราย และต่างจังหวัด 1 ราย