ผุดธุรกิจโมเดลใหม่แลกภาษี “ปตท.-SCG-ไทยเบฟ”หัวหอก

ธุรกิจรับกระแสโลกชูธงโซเชียลเอ็นเตอร์ไพรส์ 140 รายแห่ยื่นจัดตั้งบริษัทวิสาหกิจเพื่อสังคม สนองนโยบายบิ๊กตู่ “ไทยเบฟ-ปตท.-ทรู-SCG-LPN” ดันบริษัทลูกเป็นหัวหอก องค์กรชุมชน สหกรณ์ NGO ร่วมแจมคึกคัก รัฐออกมาตรการเพิ่มนอกเหนือจากให้สิทธิประโยชน์ภาษี ดันร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคมฯบังคับใช้ บูมกิจการช่วยเหลือสังคม ชุมชนเต็มรูปแบบ

นายณัฐพงษ์ จารุวรรณพงศ์ ผู้อำนวยการสำนักงานสร้างเสริมกิจการเพื่อสังคม (สกส.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากที่รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมการประกอบกิจการหรือการดำเนินการของภาคเอกชนที่มีเป้าหมายเพื่อแก้ไขปัญหาและพัฒนาชุมชน สังคม สิ่งแวดล้อม ในรูปวิสาหกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) โดยไม่ได้มุ่งผลิตสินค้าหรือบริการสร้างกำไรสูงสุด ล่าสุด ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม พ.ศ. …. อยู่ในขั้นตอนการทำประชาพิจารณ์ ตามมาตรา 77 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ปี 2560 โดย 3 หน่วยงาน คือ คณะกรรมการที่ปรึกษาเพื่อกำกับการปฏิรูปกฎหมาย (ทปก.) สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) และ สกส.ร่วมกันดำเนินการ ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาภายในเดือน ก.ย. 2560

ขณะเดียวกันผลพวงจากนโยบายดังกล่าวบวกกับการประกอบกิจการเพื่อสังคมเป็นกระแสที่กำลังมาแรงและทั่วโลกให้ความสำคัญมากขึ้น ล่าสุด ภาคเอกชนไทยโดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ต่างยื่นขอจัดตั้งบริษัทดำเนินกิจการในรูป SE มากขึ้นเรื่อย ๆ

ขณะที่ธุรกิจขนาดกลาง ขนาดเล็ก กลุ่มเกษตรกร สหกรณ์ องค์กรชุมชน ฯลฯ ก็เคลื่อนไหวจัดตั้งบริษัท ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล รองรับมาตรการส่งเสริมสนับสนุน สิทธิพิเศษทางด้านภาษี รวมทั้งสิทธิประโยชน์อื่น ๆ เช่นเดียวกัน

140 รายแห่ตั้งบริษัทรองรับ

นายณัฐพงษ์กล่าวว่า ขณะนี้มีหน่วยงานองค์กร ผู้ประกอบการภาคเอกชน ยื่นขอจดทะเบียนนิติบุคคลเพื่อดำเนินกิจการเพื่อสังคม กับกระทรวงพาณิชย์แล้วกว่า 140 บริษัท ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ประกอบการรายกลางและรายย่อย (เอสเอ็มอี) สัดส่วนประมาณ 40% ที่เหลือจะเป็นองค์กรชุมชน วิสาหกิจชุมชน สหกรณ์ชุมชน องค์กรเอกชน (NGOs) รวมทั้งผู้ประกอบการหน้าใหม่

ตามกฎหมายหากบริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่จดทะเบียนดำเนินกิจการในลักษณะ SE ต้องการได้รับการสนับสนุนส่งเสริมจากภาครัฐ และได้รับสิทธิประโยชน์ทางด้านภาษี (ดูกราฟิก น.1) ตามพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 621) พ.ศ. 2559 จะต้องยื่นขอใบรับรองการเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคม จากคณะกรรมการสร้างเสริมกิจการเพื่อสังคมแห่งชาติ (คกส.) โดยในขั้นตอนนี้ต้องรอระเบียบการสำนักนายกรัฐมนตรี ประกาศในการราชกิจจานุเบกษา

โดยระเบียบดังกล่าวกำหนดให้อธิบดีกรมพัฒนาสังคม เป็นเลขานุการ คกส. ทำหน้าที่ในฐานะเลขานุการบอร์ด คกส. เบื้องต้นคาดว่าการประกาศแต่งตั้งบอร์ด น่าจะแล้วเสร็จภายในเดือน ก.ย.นี้ จากนั้นจะเรียกประชุมบอร์ดเพื่อพิจารณาออกใบรับรองให้แก่บริษัท และห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ที่อยู่ระหว่างยื่นขอใบรับรองรวม 101 บริษัท ภายในเดือน ต.ค. 2560

5 บิ๊กธุรกิจลุย SE เต็มตัว

สำหรับบริษัทเอกชนขนาดใหญ่ที่ยื่นขอจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท เท่าที่ทราบตอนนี้มีประมาณ 5 ราย ได้แก่ บมจ.ไทยเบฟเวอเรจ, บมจ.ปตท., บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย, บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น, บมจ.แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์

“ตรงนี้ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ ของสังคมไทย เป็นการปรับเปลี่ยนการทำกิจกรรมเพื่อสังคม หรือซีเอสอาร์มาสู่การลงทุนเพื่อสังคม ผ่านวิสาหกิจเพื่อสังคม โดยจัดตั้งองค์กรรองรับเต็มรูปแบบ

ในทางปฏิบัติเมื่อองค์กรเหล่านี้ไม่ว่าจะเป็นรูปบริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล มีรายได้จากการขายสินค้าหรือบริการ จะสามารถนำเงินที่จะต้องเสียภาษีกลับเข้ามาหมุนเวียนภายในกิจการ ซึ่งต่อไปคิดว่าจะต้องเข้าไปเจาะกลุ่มภาคเอกชนเหล่านี้มากยิ่งขึ้น”

เปิดพิมพ์เขียวกฎหมายใหม่

ด้านแหล่งข่าวจาก สสว.เปิดเผยเพิ่มเติมว่า ความคืบหน้าในการรับฟังความคิดเห็นต่อร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคมฯ ล่าสุด ได้สรุปผลประชาพิจารณาที่ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องให้ความเห็นและข้อเสนอแนะเบื้องต้นแล้ว สาระสำคัญของกฎหมาย กำหนดให้วิสาหกิจเพื่อสังคมที่จะขอรับการส่งเสริม ต้องยื่นขอจดทะเบียนต่อสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคมแห่งชาติ มีหนังสือเจตนารมณ์การจัดตั้งวิสาหกิจเพื่อสังคม รายละเอียดกิจการ ต้องจดทะเบียนและได้ใบรับรองจากสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคมฯ

การกำหนดให้มีคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคมแห่งชาติ (ควส.) มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นกรรมการ กำหนดมาตรการส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม อาทิ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคมแห่งชาติ (สวส.) เป็นหน่วยงานของรัฐที่ไม่เป็นส่วนราชการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน และไม่เป็นรัฐวิสาหกิจ หน้าที่กำหนดประเภทวิสาหกิจเพื่อสังคม เสนอแนะนโยบายและแผนส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม ฯลฯ

นอกจากนี้ยังกำหนดมาตรการส่งเสริมกิจการเพื่อสังคม อาทิ สนับสนุนการจัดตั้งให้ความรู้ จัดหาทุน ช่วยด้านการตลาด การศึกษาวิจัย ส่งเสริมสนับสนุนหรือประสานงานกับสถาบันการเงินช่วยเหลือด้านเงินทุน เป็นต้น

เครือ ปตท.ผุดบริษัทสานพลัง

นายสมพร ว่องวุฒิพรชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (ปตท.สผ.) กล่าวว่า กลุ่ม ปตท.ได้จัดตั้งบจ.สานพลัง วิสาหกิจเพื่อสังคม วงเงินเริ่มต้นที่ 10 ล้านบาท เข้าไปลงทุนในกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับโซเชียลเอ็นเตอร์ไพรส์ เพื่อให้เกิดความชัดเจนและทั้งกลุ่มที่มีแนวทางชัดเจนร่วมกัน ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างเริ่มต้นดำเนินการ ซึ่งหากผลการดำเนินการแล้วได้ประโยชน์ที่ดีก็จะทำต่อเนื่องไป และไม่ได้จำกัดเฉพาะในกลุ่ม ปตท.เท่านั้น ในกรณีที่เอกชนรายอื่น ๆ มีแนวคิดเดียวกันก็สามารถมาดำเนินการร่วมกันได้ ที่สำคัญคือแต่ละโครงการจะต้องมีความต่อเนื่องด้วย

แอล.พี.เอ็น.ฯต่อยอด SE

นายโอภาส ศรีพยัคฆ์ กรรมการผู้จัดการ บมจ. แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์ เปิดเผยว่า การดำเนินงานด้านซีเอสอาร์ของบริษัทจะเน้นที่ in process มากกว่า after process ส่วนใหญ่จะอยู่ในกระบวนการดำเนินธุรกิจทุกขั้นตอน ตั้งแต่การเลือกซื้อที่ดิน ก่อสร้าง รวมถึงการดูแลและบริหารจัดการชุมชน

นอกจากนี้ยังมีเรื่องของกิจการเพื่อสังคม ซึ่งบริษัทเป็นลูกของแอล.พี.เอ็น. ภายใต้ชื่อ บจ.ลุมพินี พร๊อพเพอร์ตี้ เซอร์วิส แอนด์ แคร์ (LPC) ซึ่งได้ยื่นขอจดเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคมตั้งแต่ปลายปี 2559 การดำเนินธุรกิจของแอลพีซี จะมุ่งเน้นให้บริการดูแลรักษาความสะอาดและการบริการชุมชนอย่างครบวงจร โดย แอล.พี.เอ็น.ฯจะนำรายได้ส่วนหนึ่ง 0.2% สนับสนุน เพื่อพัฒนาสตรีด้อยโอกาส โดยเฉพาะในเรื่องการพัฒนาอาชีพและความรู้ โดยมีศูนย์ฝึกอบรม LPN Academy เฉพาะด้านให้

“ปัจจุบันมีพนักงานส่วนนี้ราว 2,000 คน และในปี 2560 แอลพีซีได้ปรับแนวทางการดำเนินงานจากเดิมให้บริการเฉพาะโครงการที่บริษัทพัฒนาขึ้น 100 แห่ง เป็นการให้บริการสู่ภายนอก และจะขยายกลุ่มพนักงานจากสตรีด้อยโอกาสไปยังกลุ่มคนพิการและผู้สูงอายุเพิ่มด้วย”