ปรับแผนเจรจาการค้า RCEP ชะงักอาเซียนรับมือโควิด

โควิด-19 ลามทั่วโลก “พาณิชย์” ปรับแผนรับเจรจาการค้าครึ่งปีแรก เลื่อน พบ ตุรกี ฝรั่งเศส WTO  ปรับใช้ VDO Conference กับ RCEP ลุ้นฟื้นกลับมาเจรจาปกติได้ครึ่งปีหลัง 

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผย“ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ผลจากการระบาดของโควิด-19 ทั่วโลกขณะนี้ ทำให้แต่ละประเทศรวมถึงไทยต้องปรับแผนเรื่องการประชุมกับต่างประเทศในช่วง 1-2 เดือนนี้ โดยเบื้องต้นในส่วนของงานเจรจาการค้าระหว่างประเทศจะมีงานประชุมที่จำเป็นต้องเลื่อนออกไปก่อน 3 งาน คือ การเจรจาความตกลงเปิดเขตการค้าเสรี (FTA) ไทย-ตุรกี ซึ่งเดิมกำหนดจัดขึ้นที่ประเทศตุรกี ในช่วงกลางเดือนมีนาคม 2563 การประชุมเจ้าหน้าที่ระดับสูงเศรษฐกิจไทย-ฝรั่งเศส ซึ่งเดิมกำหนดจัดขึ้นในช่วงต้นเดือนเมษายน 2563 ที่กรุงเทพฯ และการประชุมรัฐมนตรีองค์การการค้าโลก สมัยสามัญครั้งที่ 12ที่มีกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 8-11 มิถุนายน 2563 ณ กรุงนูร์-ซุลตัน สาธารณรัฐคาซัคสถาน เนื่องจากมีเจ้าหน้าที่ WTO ติดโรคโควิด-19 จึงจำเป็นต้องงดการประชุมต่าง ๆ ไปก่อน จนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย 

อย่างไรก็ตาม การประชุมบางส่วนที่ยังคงไว้ตามแผนเดิม เช่น การประชุมความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) อาจจะปรับใช้การประชุมทางไกลผ่าน VDO Conference แทน 

“กรมให้ผู้แทนที่ไปเข้าร่วมการประชุมระหว่างประเทศทุกประเทศก่อนหน้านี้ทั้งออสเตรเลีย และเวียดนาม จะต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด เมื่อกลับมาแล้วมีให้ทำงานที่บ้าน และเฝ้าสังเกตอาการ หากหลังจากนี้ครึ่งปีหลังสถานการณ์คลี่คลายก็จะสามารถกลับมาเจรจาการค้าได้”

และล่าสุดกรณีที่เวียดนามนิวส์รายงานว่า กระทรวงคมนาคมเวียดนามกำหนดให้หลังเวลา 00.00 น. วันที่ 18 มีนาคมเป็นต้นไป ให้ผู้ที่ถือสัญชาติของสมาชิกอาเซียน รวมถึงผู้ที่เดินทางผ่านประเทศอาเซียนมายังเวียดนาม จะต้องถูกกักบริเวณเป็นเวลา 14 วัน และจะเลื่อนการประชุมระดับสุดยอดผู้นำอาเซียนออกไปหลังมิถุนายน 2563 

ส่วนการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน (AEM) ยังไม่ได้มีกำหนดนัดหมายการประชุมครั้งต่อไป คาดว่าจะมีการประชุมอีกครั้งในช่วงเดือนสิงหาคม เพราะเพิ่งจะมีการประชุมระดับรัฐมนตรีอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ (AEM Retreat) ผ่านไปเมื่อวันที่ 9-11 มีนาคม 2563 ที่เมืองดานัง ประเทศเวียดนาม  

รายงานข่าวระบุว่า กำหนดเดิมในปีนี้ ไทยมีแผนลงนามความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ร่วมกับสมาชิก 14 ประเทศ ยกเว้นอินเดีย ในช่วงเดือนมีนาคม-มิถุนายน 2563 หลังจากที่ประชุมระดับผู้นำ RCEP ได้ประกาศผลสำเร็จการเจรจาไว้เมื่อครั้งที่ได้ประชุมสุดยอดอาเซียน เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2562 ส่วนแผนการเร่งเจรจาปิดรอบความตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) ที่ค้างอยู่ ทั้งไทย-ตุรกี ไทย-ศรีลังกา และไทย-ปากีสถาน โดยเฉพาะไทย-ตุรกีนั้น เดิมตั้งใจสรุปผลการเจรจาให้ได้ในปี 2563  

ขณะที่การเจรจา WTO มีประเด็นที่จะต้องสานต่อจากการประชุมครั้งที่ผ่านมา เมื่อช่วงปลายเดือนมกราคม 2563 ที่เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งครั้งนั้นนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ มอบให้ ดร.สรรเสริญ สมะลาภา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ นำคณะเข้าร่วมเจรจา 3 เรื่อง คือ 1.การอุดหนุนภาคเกษตร ซึ่งไทยในฐานะสมาชิกกลุ่มเครนส์ หรือประเทศผู้ส่งออกสินค้าเกษตร
ได้ร่วมเสนอการลดการอุดหนุนสินค้าเกษตรที่บิดเบือนตลาด มูลค่าถึง 800,000 ล้านเหรียญสหรัฐ

และเรื่องการอุดหนุนสินค้าประมง เพื่อให้สอดคล้องกับการพัฒนาการทำประมงอย่างยั่งยืนตามเป้าหมายของสหประชาชาติ แต่ยังคงให้ช่วยเหลือในส่วนประมงพื้นบ้านไว้ เรื่องพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่ง WTO มุ่งส่งเสริมและอำนวยความสะดวก คุ้มครองผู้บริโภคให้เกิดมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ เนื่องจากการค้าผ่านระบบนี้มีมูลค่าเพิ่มขึ้น ถึง 3.5 แสนล้านเหรียญในปี 2562 และการปฏิรูป WTO เพื่อให้เกิดความโปร่งใสและเป็นธรรมกับสมาชิก 

นอกจากนี้ปีนี้ไทยเตรียมจะเข้าร่วมการเจรจากรอบใหม่ทั้ง FTA ไทย-สหภาพยุโรป ไทย-สหราชอาณาจักร (ภายหลังเบร็กซิต) ความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) และไทย-EFTA