ห้ามอีสท์วอเตอร์สูบน้ำประแสร์ คนระยองรวมตัวต้านกลัวขาดน้ำกินน้ำใช้

แฟ้มภาพ

วิกฤตน้ำตะวันออกขั้นสาหัส ชาวระยอง 3 อำเภอ “วังจันทร์-แกลง-เขาชะเมา” ขีดเส้นตาย 20 พฤษภาคม ให้ “อีสท์วอเตอร์” หยุดสูบน้ำจากอ่างประแสร์ ส่งน้ำให้ภาคอุตสาหกรรม เกรงน้ำไม่พออุปโภค-บริโภค ผลไม้กำลังเก็บผลผลิต หากไม่ฟังจะบุกปิดสถานีสูบน้ำ

ในช่วงรอยต่อก่อนที่ประเทศไทยจะเข้าสู่ฤดูฝน ปรากฏภัยแล้งในภาคตะวันออกกลับทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น แม้สัปดาห์ที่ผ่านมาจะมีพายุฤดูร้อน แต่น้ำฝนที่ตกลงมาก็มีปริมาณน้อยมาก โดยปริมาณน้ำใช้การได้ในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 6 แห่ง ณ วันที่ 15 พฤษภาคม 2563 เหลืออยู่เพียง 140 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 10 ได้แก่ เขื่อนนฤบดินทรจินดา 66 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 24, เขื่อนขุนด่านปราการชล 27 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 12 , อ่างเก็บน้ำคลองสียัด 22 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 6%, อ่างหนองปลาไหล 14 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 9%, อ่างบางพระ 10 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 9% และอ่างประแสร์ 2 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 1%

ร้องอีสท์วอเตอร์หยุดสูบน้ำ

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานเข้ามาว่า ปริมาณน้ำที่เหลือน้อยมากในอ่างเก็บน้ำประแสร์ ซึ่งเป็นอ่างหลักที่จะทำการจ่ายน้ำไปยังอ่างอื่น ๆ ได้ก่อให้เกิดความกังวลต่อความต้องการใช้น้ำเพื่อการเกษตรและอุปโภค-บริโภคของประชาชน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวสวนผลไม้ 3 อำเภอรอบอ่างประแสร์ ได้แก่ อ.วังจันทร์ อ.แกลง และ อ.เขาชะเมา ได้รวมตัวกันยื่นหนังสือถึงผู้อำนวยการอ่างเก็บน้ำประแสร์ เพื่อสั่งให้บริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรืออีสท์วอเตอร์ (EASTW) หยุดส่งน้ำให้ภาคอุตสาหกรรม รวมถึงหยุดจ่ายน้ำให้จังหวัดชลบุรี เนื่องจากปริมาณน้ำในอ่างประแสร์เหลือน้อยมาก เกรงว่าจะไม่มีน้ำเพียงพอต่อการอุปโภคบริโภค และทำการเกษตร ก่อนที่ฝนจะตก และยังขอส่งตัวแทนข้าร่วมตรวจสอบการสูบน้ำของกรมชลประทานด้วย

ทั้งนี้ หนังสือฉบับดังกล่าวของชาวบ้าน 3 อำเภอ ได้ถูกยื่นผ่านไปยังกรมชลประทาน ในช่วงอาทิตย์เดียวกันกับที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เดินทางลงพื้นที่ภาคตะวันออก เพื่อติดตามปัญหาภัยแล้ง และเตรียมการที่จะเข้าสู่ฤดูฝน

ระยองรอฝนตกอย่างเดียว

ด้านแหล่งข่าวจากภาคอุตสาหกรรมจังหวัดระยองกล่าวว่า ที่ผ่านมาสำนักงานชลประทานระยองได้ประเมินปริมาณน้ำที่มีในอ่างเก็บน้ำหลักแบบ “ผิดพลาดมาโดยตลอด” ความเจริญเติบโตของภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้ปริมาณน้ำไม่เพียงพอต่อความต้องการที่แท้จริง ขณะที่แผนให้ลดการใช้น้ำลง 10% “จริง ๆ แล้วก็ทำได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น” จากปัจจุบันจังหวัดระยองมีความต้องการใช้น้ำต่อวันประมาณเกือบ 1 ล้าน ลบ.ม. แบ่งเป็น 13 หน่วยงานรัฐ และยังมีภาคเอกชนดึงน้ำไปใช้ด้วย ได้แก่

1) ศูนย์พัฒนาปลวกแดง 6,794 ลบ.ม. 2) บริษัทไทยแทฟฟิตา 3,000 ลบ.ม. 3) บริษัท IRPC 68,500 ลบ.ม. 4) สวนอุตสาหกรรมโรจนะ จำกัด 8,000 ลบ.ม. 5) การประปาแม่น้ำคู้ 100 ลบ.ม. 6) การประปาสาขาระยอง 60,000 ลบ.ม. 7) การประปาสาขาบ้านฉาง 30,000 ลบ.ม. 8) ประปาบ้านฉาง 10,000 ลบ.ม. 9) ประปาพัทยา 40,000 ลบ.ม. 10) รักษาระบบนิเวศ 24,657 ลบ.ม. 11) บริษัทอีสท์วอเตอร์ 580,000 ลบ.ม. 12) การเกษตรฝายบ้านค่าย 59,000 ล. และน้ำยังสูญเสียไปจากการระเหยอีกประมาณ 87,000 ลบ.ม. “ทางออกของจังหวัดขณะนี้มีทางเดียวก็คือ รอเทวดาฟ้าฝนให้ตกลงมา เพราะจันทบุรีก็แล้ง ไม่สามารถแบ่งปันน้ำจากลุ่มน้ำสาขาแม่น้ำวังโตนดมาให้อีกแล้ว”

ชาวบ้านวืดพบประวิตร

สอดคล้องกับ นายมนัส สมศักดิ์ ส.จ.เขต อ.วังจันทร์ จ.ระยอง กล่าวว่า แผนการจัดสรรน้ำของกรมชลประทานแจ้งตัวเลขต่าง ๆ ไว้ในกระดาษกับข้อเท็จจริงในพื้นที่ “มันแตกต่างกันมาก” หากลงมาดูพื้นที่จะเห็นว่า ไม่มีน้ำ ปลาน็อกขาดน้ำตายจำนวนมาก โดยเฉพาะอ่างประแสร์ ที่มีพื้นที่เกษตรถึง 170,000 ไร่ ปัจจุบันปริมาณมีน้ำเพียง 7% หรือ 20 ล้าน ลบ.ม. และต้องเหลือไว้รักษาระบบนิเวศอีก 10 ล้าน ลบ.ม. ไม่สามารถ
ดึงไปใช้ได้ทั้งหมด โดยเฉพาะคลองสะพานที่มีแผนจะให้บริษัทอีสท์วอเตอร์ดึงน้ำไปใช้ “คลองก็มีน้ำน้อยมาก หากดึงน้ำไป แล้วชาวบ้านที่อาศัยน้ำจากในคลองสะพานเดือดร้อนแน่” วันนี้ก็มีชาวบ้านจาก 3 อำเภอ คือ วังจันทร์ แกลง และเขาชะเมา นับพันคนต้องการพบ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ แต่ได้รับการขอร้องจากนายอำเภอ และกรมชลประทาน ให้ส่งตัวแทนเข้ามา

ส่วนนายประสาน ขาวสะอาด อบต.พลงตาเอี่ยม กล่าวว่า ตอนนี้ชาวบ้านในพื้นที่เกรงจะไม่มีน้ำใช้ในพื้นที่เกษตร ซึ่งกำลังเก็บเกี่ยวทุเรียนถึงเดือนมิถุนายน ปัจจุบันชาวบ้านอาศัยน้ำจากอ่างเก็บน้ำประแสร์ แหล่งน้ำเดียวกันกับที่การประปา และบริษัทอีสท์วอเตอร์มาดูดน้ำไปใช้วันละ 250,000 ลบ.ม. และหากในวันที่ 20 พฤษภาคมนี้ บริษัทอีสท์วอเตอร์ยังไม่หยุดสูบน้ำจากอ่างเก็บน้ำประแสร์ ชาวบ้านจะรวมตัวกันไปบุกไม่ให้มีการสูบน้ำออกจากอ่างอย่างเด็ดขาด

ล่าสุดมีรายงานข่าวจากคณะกรรมการลุ่มน้ำสาขาแม่น้ำวังโตนด จ.จันทบุรี แหล่งน้ำเดียวที่เป็นความหวังของพื้นที่ EEC และจังหวัดระยองว่า ตอนนี้อ่างเก็บน้ำคลองประแกด จ.จันทบุรี ไม่สามารถแบ่งปันน้ำไปยังอ่างเก็บน้ำประแสร์ เพื่อนำน้ำไปช่วย จ.ระยองได้อีกแล้ว เพราะปัจจุบันเหลือปริมาณน้ำอยู่เพียง 7.2 ล้านลูกบาศ์เมตร แต่ต้องมีปริมาณน้ำระดับต่ำสุด (death storage) 2.87 ล้านลูกบาศก์เมตร

ฟุ้ง 8,847 โครงการแก้แล้ง

ด้าน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีที่ลงพื้นที่ กล่าวว่า เพื่อติดตามรับทราบข้อมูล ปัญหา-อุปสรรค ข้อติดขัดต่างในการปฏิบัติให้เป็นไปตามมาตรการแก้ปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้นในภาคตะวันออกให้สำเร็จลุล่วงไป พร้อมกับการเตรียมการเข้าสู่ฤดูฝนโดยเฉพาะ จังหวัดระยอง ที่ผลไม้เศรษฐกิจกำลังออกสู่ตลาดในช่วงนี้ ภาคอุตสาหกรรมก็ต้องเร่งการผลิต รวมถึง ภาคท่องเที่ยวและบริการ กำลังเตรียมพร้อมกลับเข้าสู่ภาวะปรกติหลังสถานการณ์การระบาดของไวรัส Covid-19 ดีขึ้น

“ทุกหน่วยงานต้องเร่งเดินหน้าตามมาตรการที่วางเอาไว้ทั้งโครงการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า โครงการแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำอุปโภค-บริโภค โครงการพัมนาแหล่งน้ำสำหรับกักเก็บน้ำในฤดูฝนปี 2563 จำนวน 8,847 โครงการ โดยในพื้นที่ 3 จว.EEC มีทั้งหมด 195 โครงการ”