“กกร.” เคาะไทยควรเข้าร่วม CPTPP ส.ค.นี้ คาด เศรษฐกิจปี63 GDP ยังติดลบ 5% ส่งออกลบ 10%

วันที่ 10 มิถุนายน 2563 นายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวในฐานะประธานที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน (กกร.) ว่า เศรษฐกิจไทยเดือนเมษายน 2563 พบว่าหดตัวทุกส่วนทั้งส่งออก การผลิต การบริโภคและการลงทุน เศรษฐกิจหยุดชะงักจากการล็อกดาวน์หลังเผชิญการระบาดที่รุนแรงของไวรัสโควิด-19 แม้ภาครัฐจะคลายล็อกให้กิจการต่างๆ กลับมาเปิดดำเนินการตั้งแต่เดือนพฤษภาคม (เฟส 1-3) รวมทั้งมีมาตรการเยียวยาต่างๆ

แต่กำลังซื้อครัวเรือนที่อ่อนแอ และพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป เศรษฐกิจโลกถดถอย ความเสี่ยงจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ ที่ปะทุขึ้นอีกรอบ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจและภาคธุรกิจไทยจะยังไม่กลับสู่ภาวะปกติและต้องใช้เวลาอีกพอสมควร การว่างงานในประเทศจึงยังอยู่ในภาวะที่น่ากังวล

ที่ประชุม กกร. เห็นว่าภาครัฐควรเร่งขับเคลื่อนแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมโดยเร็ว โดยเน้นโครงการที่เพิ่มเม็ดเงินลงสู่เศรษฐกิจฐานราก และฟื้นฟูธุรกิจท้องถิ่นเพื่อสร้างงาน

โดยปี 2563 ยังคงประมาณการเศรษฐกิจไทยไว้ตามเดิม ที่ประเมินว่า GDP อาจหดตัวในกรอบ -5.0% ถึง -3.0% การส่งออกอาจหดตัว -10.0% ถึง -5.0% ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปคาดว่าอยู่ในกรอบ -1.5% ถึง 0.0%

นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า หลังจากมีการหารือถึงการการพิจารณาเข้าร่วม ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) หรือไม่นั้น ล่าสุดที่ประชุม กกร. เห็นควรสนับสนุนให้ประเทศไทย เข้าร่วมเจรจากับกลุ่มประเทศภายใต้ข้อตกลง CPTPP ในเดือนสิงหาคม 2563

Advertisment

เนื่องจากจะได้เห็นถึงผลดีหรือผลเสีย ต่อการเข้าร่วมเป็นประเทศภาคีตามข้อตกลง CPTPP เพราะกระบวนการเข้าร่วมเป็นประเทศภาคีนั้น มีขั้นตอนเป็นลำดับขั้น ซึ่งประกอบด้วย การขอเข้าร่วมเจรจา การเข้าร่วมเจรจากับประเทศภาคี หลังจากเจรจาเสร็จแล้ว ต้องนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณา

ซึ่งขณะเดียวกันต้องมีการรับฟังประชาพิจารณ์ผลการเจรจาด้วย และสุดท้ายต้องเสนอให้รัฐสภาพิจารณาเห็นชอบ ซึ่งต้องใช้เวลาในทุกกระบวนการอย่างน้อย 4 ปี และประเทศไทยสามารถยุติการเจรจาในทุกขั้นตอนได้หากเห็นว่าประเทศไทยไม่ได้ประโยชน์

กกร. เห็นว่าการเข้าร่วมเจรจาจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทย เพื่อให้ประเทศไทยทราบถึงข้อตกลง และเป็นประโยชน์สำหรับการปรับตัวของประเทศไทยให้สามารถแข่งขันกับประเทศต่างๆ ได้ในเวทีโลก โดยเฉพาะประเทศในกลุ่ม ASEAN

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า รัฐต้องเร่งผลักดันการใช้วงเงินสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) ภายใต้พระราชกำหนด 5 แสนล้านบาท โดยเร็ว เพื่อให้ภาคธุรกิจเอกชนโดยเฉพาะ SMEs ประคองกิจการต่อไปได้ ดังนั้นเงื่อนไขต่างๆ ของการปล่อยสินเชื่อควรต้องคล่องตัวมากกว่านี้ เช่น ให้ บสย. เข้ามาช่วยค้ำประกันสินเชื่อเพิ่มเติม หลังสิ้นสุดโครงการ 2 ปี ตาม พ.ร.ก. (โครงการ PGS-9)

Advertisment

และ กกร. ได้เสนอให้มีการประชุมระหว่างภาครัฐและเอกชน (กรอ.) เพื่อเป็นเวทีในการหารือ นำเสนอแนวทางแก้ไขปัญหา ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ อย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง อาทิ การฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด-19, การขับเคลื่อนโมเดล BCG เป็นต้น

ส่วนภัยแล้งรัฐต้องจัดสรรงบประมาณให้เพียงพอในการบริหารจัดการน้ำ เร่งโครงการให้มีปริมาณน้ำเพิ่ม เนื่องจากปัจจุบันน้ำไม่เพียงพอ