อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ในวันที่โควิดกระหน่ำใส่ ปตท.

นับเป็นเรื่องท้าทายอย่างยิ่งในการเข้ารับตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ของ นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ท่ามกลางการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งไม่เพียงแต่จะส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของผู้คน แต่ยังกระทบอย่างหนักต่อเศรษฐกิจทั่วโลกอันเนื่องมาจากมาตรการ lockdown

แน่นอนว่า บริษัท ปตท. ผู้นำความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศก็หลีกหนีภาวะนี้ไม่พ้น เมื่อดูจากผลการดำเนินงานในช่วงไตรมาส 1/2563 ปรากฏ ปตท.และบริษัทย่อยขาดทุนสุทธิเป็นจำนวน 1,554 ล้านบาท ลดลงจำนวนประมาณ 19,000 ล้านบาท หรือลดลงมากกว่าร้อยละ 100 จากกำไรสุทธิในไตรมาส 4/2562 ที่จำนวน 17,446 ล้านบาท

ขาดทุนสต๊อกน้ำมัน

อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารคนใหม่ที่เพิ่งรับไม้ต่อจาก นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร เมื่อกลางเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา กล่าวว่า ผลการดำเนินงานที่ขาดทุน 1,554 ล้านบาทในไตรมาส 1/2563 หลัก ๆ มาจากการขาดทุนสต๊อกน้ำมัน (stock loss) บวกกับอัตราแลกเปลี่ยนตามราคาน้ำมันดิบดูไบที่ปรับลดลง จากสิ้นไตรมาส 4/2562 ที่ 67.3 เหรียญ/บาร์เรล มาอยู่ที่ 23.4 เหรียญ/บาร์เรล ณ สิ้นไตรมาส 1/2563 หรือลดลงไปกว่า 43.9 เหรียญ/บาร์เรล โดยราคาน้ำมันดิบที่ลดลงนี้

เป็นการลดลงต่อเนื่องมาจากสงครามราคาน้ำมัน ก่อนหน้านี้ เนื่องจากกลุ่ม OPEC และพันธมิตรไม่สามารถบรรลุข้อตกลงในการปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบลงมาได้ และมาถูกซ้ำเติมจากภาวะการระบาดของโควิด-19 อย่างรุนแรง ส่งผลให้มีการใช้น้ำมันสำเร็จรูปลดลง

“การขาดทุนในไตรมาส 1 ครั้งนี้นับเป็นการขาดทุนครั้งแรกตั้งแต่ที่ ปตท.เข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ แต่ตัวเลข 1,554 ล้านบาทก็ยังต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์ได้ประเมินไว้ที่ระหว่าง 2,000-4,000 ล้านบาท ถามว่า ในไตรมาส 2 ผลประกอบการจะกลับมาได้หรือไม่ ยังขึ้นอยู่กับราคาน้ำมันและการควบคุมไวรัสโควิดในโลกจะเป็นอย่างไร ซึ่ง ปตท.ได้เตรียมรับมือและประเมินสถานการณ์ (stress test) กรณีสถานการณ์เลวร้ายสุดตลอดทั้งปี 2563 สมมุติ ราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ 20 เหรียญ/บาร์เรล เราจะทำอย่างไร แต่ตอนนี้สถานการณ์ดีขึ้นแล้ว” นายอรรถพลกล่าว

สะท้อนให้เห็นถึงสภาพของกลุ่มธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่นของ ปตท.ในไตรมาส 1/2563 มีผลขาดทุนจากสต๊อกน้ำมัน 9.02 เหรียญ/บาร์เรล ในขณะที่ไตรมาส 4/2562 มีกำไรจากสต๊อกน้ำมัน 0.89 เหรียญ/บาร์เรล ทำให้ “ค่าการกลั่น” ปรับลดลงจาก 3.52 เหรียญ/บาร์เรล ในไตรมาส 4 ขาดทุนทันที 7.39 เหรียญ/บาร์เรล ประกอบกับปริมาณการขายน้ำมันก็ปรับตัวลดลง มีผลต่อธุรกิจในกลุ่มนี้ ซึ่งถือว่าเป็น ธุรกิจหลักตัวหนึ่งของ ปตท.โดยตรง

PTT Group Vital

การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และผลกระทบจากสงครามราคาน้ำมันที่ต่อเนื่องมาจากไตรมาส 2/2562 ทำให้ ปตท.จัดตั้งทีมที่เรียกว่า PTT Group Vital Center ขึ้นมาโดยเฉพาะ โดยทีมนี้จะทำหน้าที่วางแผนและดำเนินการทั้งระยะสั้นและระยะยาว โดยมาตรการระยะสั้นที่จำเป็นและต้องทำทันทีก็คือ การบริหารจัดการ “ค่าใช้จ่าย” ทั้งองค์กรผ่านทางนโยบาย “ลด-ละ-เลื่อน” รวมไปถึงความร่วมมือในการทำ PTT Group Value Chain Optimization เพื่อการบริหารอุปสงค์-อุปทานของปริมาณสินค้าคงคลัง (น้ำมัน-ก๊าซ-ปิโตรเคมี) รวมไปถึงการบริหารสภาพคล่องทางการเงินที่มีความจำเป็นในช่วงของสถานการณ์โควิด-19 ที่ยังไม่มีจุดสิ้นสุด

“ปตท.ต้องทำเรื่องของการบริหารจัดการในช่วงโควิดให้ดีขึ้น ด้วยการทำ optimization ระหว่างกลุ่ม ทำเรื่อง cost efficiency”

ยกตัวอย่าง ความต้องการน้ำมันที่ลดลง ในแต่ละชนิดของน้ำมันลดลงไม่เท่ากัน อย่างตอนนี้น้ำมันเครื่องบิน (Jet) ลดลงมากที่สุด โดยลดลงไปถึง 90% ในช่วงการระบาดโควิด

“เราส่งน้ำมันดิบเข้าโรงกลั่น มันสั่งไม่ได้ว่า เราจะไม่เอาน้ำมัน Jet เลย แต่ละโรงกลั่นน้ำมันของ ปตท.ดีไซน์การกลั่นแตกต่างกันออกไป ความต้องการน้ำมัน Jet ตอนนี้ลดลงเหลือ 10% ก็ต้องกลั่นให้น้อยลงที่สุด โดยหันไปกลั่นเป็นน้ำมันดีเซลให้มากขึ้น แต่ละโรงกลั่นก็ต้องมานั่งคุยกันเพื่อหาจุดสมดุลในการปรับกระบวนการกลั่น โรงกลั่นไหน run แล้วออกมาดีที่สุดก็ทำออกมา แต่จะมีบาง product หายไป ตรงนี้สามารถสวอปจากอีกโรงกลั่นหนึ่งเข้ามาแลกเปลี่ยนกันได้”

ตอนนี้โรงกลั่นต้องลดการกลั่นน้ำมัน Jet ลง และหันไปเพิ่มน้ำมันดีเซล โดยโรงกลั่นที่ลด Jet ได้ดีที่สุดคือ โรงกลั่นน้ำมัน GC (PTT Global Chemical) จากปัจจุบันที่ ปตท.ขายน้ำมัน Jet คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 10 ของน้ำมันทุกประเภท

ลดค่าใช้จ่าย-ลงทุน 10-15%

PTT Group Vital Center ซึ่งมีอรรถพล ในฐานะประธานเจ้าหน้าที่ ปตท.นั่งเป็นประธาน และประกอบไปด้วย CEO จากทุกบริษัทในเครือได้ถูก “ออกแบบ” มาเพื่อการวางแผนในภาพรวมขององค์กรเพื่อบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้น โดยโฟกัสไปที่สถานการณ์โควิดทั้งในระยะสั้นและระยะยาว โดยมาตรการระยะสั้นจะแบ่งออกเป็น resilience กับ restart ส่วนมาตรการระยะยาวจะเป็นเรื่องของ reimagine กับการ reform โครงสร้างองค์กรและธุรกิจ

ปตท.ในขณะนี้ได้ให้ความสำคัญกับการปรับตัวขององค์กรเพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง ผ่านนโยบาย “ลด-ละ-เลื่อน” ที่นายอรรถพลอธิบายว่า “ลด” ก็คือ การลดค่าใช้จ่าย ส่วนไหนลดได้ก็ลดลงเลย “ละ” คือ โครงการไหนที่ยังไม่ทำหรือยังไม่ได้ดำเนินการก็อย่าเพิ่งทำ และ “เลื่อน” โครงการที่กำลังอยู่ระหว่างการศึกษาก็ให้ขยับออกไปรอเวลาที่เหมาะสม ซึ่งจะเห็นได้ว่า ลด-ละ-เลื่อน ก็คือ การลดค่าใช้จ่าย (OPEX) และการจัดความสำคัญของการลงทุน (CAPEX) ของ ปตท.นั่นเอง

“ตลอดทั้งปี 2563 กลุ่ม ปตท.ทั้งหมดจะต้องลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน (OPEX) และทบทวนปรับลดแผนการลงทุน (CAPEX) ลงได้ร้อยละ 10-15 จากปัจจุบัน CAPEX อยู่ที่ประมาณ 69,000 ล้านบาท และ OPEX อยู่ที่ประมาณ 50,000 ล้านบาท ผมให้แต่ละบริษัทในเครือ ปตท.ไปทำตัวเลขมาว่า จะลด-ละ-เลื่อน ได้เท่าไหร่ถือเป็นนโยบายต้องทำให้ได้ โดยโครงการที่เซ็นสัญญาไปแล้วหรืออยู่ระหว่างการก่อสร้าง (โครงการท่อก๊าซเส้นที่ 5-โครงการพลังงานสะอาดของไทยออยล์) ยังคงดำเนินการต่อไป ส่วนโครงการที่ยังไม่ได้เซ็นสัญญาหรืออยู่ระหว่างการศึกษาต้องนำกลับมาจัดลำดับความสำคัญใหม่ ถือโอกาสเป็นการทบทวน บางโครงการอาจจะไม่ต้องรีบทำแล้ว เพราะความต้องการหลังโควิดเปลี่ยนไปต้องกลับมาทบทวนกันใหม่” นายอรรถพลกล่าว

อย่างไรก็ตาม นอกจากการลดค่าใช้จ่ายและการจัดลำดับความสำคัญของการลงทุนแล้ว การบริหารและรักษาสภาพคล่องทางการเงินของ ปตท.ยังถือเป็นความสำคัญตามมาตรการระยะสั้น resilience ส่วนธุรกิจในครึ่งปีหลังที่ ปตท.จะลงทุนต่อไปนั้น นายอรรถพลกล่าวว่า การดำเนินธุรกิจของ ปตท.ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจระยะยาว ถ้าภาพใหญ่ไม่เปลี่ยนก็ยังลงทุนต่อไป เพียงแต่อาจจะต้องเลื่อนระยะเวลาออกไป

“การลงทุนในครึ่งปีหลัง ไม่ใช่ว่า ปตท.จะลงทุนอะไรใหม่หรืออะไรเริ่มได้ทันที แต่เป็นลักษณะของแผนการลงทุนที่จะต้องปรับให้เข้ากับสถานการณ์โควิด โครงการใหญ่ ๆ ต้องใช้เวลาในการออกแบบ วางแผนเงินกู้กันเป็นปี ๆ แต่ถ้าเป็นโครงการไม่ใหญ่นักอย่างของบริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก (PTTOR) ซึ่งกำลังอยู่ในระหว่างการยื่นคำขออนุญาตเพื่อเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนและร่างหนังสือชี้ชวนต่อ ก.ล.ต.ก็สามารถดำเนินการทำได้เลย แผนการดำเนินงานของ OR อาจจะไม่ต้องปรับมาก ตัวสถานีบริการน้ำมันอาจจะต้องชะลอไปก่อนในช่วงนี้ แต่ concept ที่จะขยายจำนวนสถานีบริการยังคงเหมือนเดิม ไม่ได้ปรับอะไรมากมาย ที่สำคัญก็คือ พนักงานในกลุ่ม ปตท.จะไม่มีการเลิกจ้างแน่นอน” นายอรรถพลกล่าว