ราคายางพุ่งไม่หยุด “เฉลิมชัย” ชี้เป้าปีนี้โลละ 65 บาท

เฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์
ภาพข่าวจากมติชน

“เฉลิมชัย” ชี้เป้าต่อไปกิโล 65 บาท สั่ง กยท. เจรจาเอกชนร่วมทุนผลิตถุงมือยางส่งออก-ผลักดันใช้ยางในประเทศ เข็นราคายางก้อนถ้วยให้ถึงราคาประกัน

วันที่ 5 กันยายน 2563 ผู้สื่อข่าวรายงาน นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ขณะนี้เกษตรกรผู้ปลูกยางพาราพอใจ มีรายได้เพิ่ม จากยางขยับขึ้นต่อเนื่อง กระทรวงเกษตรฯ จึงเตรียมปรับเป้าหมายราคายางพาราสูงขึ้นให้มากกกว่า 65 บาท/กิโลกรัม (กก.) หลังผ่านเป้าหมายแรก 60 บาท/กก. แต่โครงการประกันรายได้ชาวสวนยางพารา ระยะที่ 2 (เฟส2) กำหนดราคายางแผ่น 60 บาทต่อ กก. น้ำยางสด 57 บาทต่อ กก. ยางก้อนถ้วย 46 บาทต่อ กก.

แม้ขณะนี้ราคายางแผ่นรมควันชั้น 3 จะทะลุ 60 บาทต่อ กก. แล้วโครงการนี้ยังคงต้องดำเนินการ เนื่องจากราคายางก้อนถ้วยที่เกษตรกรขายได้ยังห่างจากราคารับประกันอยู่มาก

ดังนั้น จะเร่งผลักดันมาตราการใช้ยางในประเทศให้มากที่สุด ที่เหลือจะใช้และผลิตเป็นสินค้าเพื่อส่งออก แต่เป้าหมายที่สั่งให้การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เร่งดำนินการ คือทำแผนการใช้ยางในประเทศ โดล่าสุด ให้ กยท. ร่วมหารือกับผู้ผลิตในประเทศ เพื่อร่วมลงทุนตั้งบริษัทร่วมทุน เพื่อผลิตสินค้าที่ทำจากยางพาราในประเทศไทย ส่งออก

โดยจะร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์ในการหาตลาดเพื่อผลิตสินค้าป้อน เบื้องต้น เตรียมตั้งบริษัทร่วมทุนระหว่างรัฐกับเอกชน เพื่อผลิตถุงมือยางส่งออก ภายในประมาณ 2 เดือนข้างหน้า หรือไม่เกินปลายปี 2563 นี้

“ปี 2564 ไทยจะเป็นผู้ผลิต ผลิตภัณฑ์จากยางพาราเพื่อส่งออก เพราะไทยเป็นผู้ผลิตยางพาราคุณภาพดีเหมาะสำหรับ ทำผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ หรือ ผลิตล้อยางพารา เพื่อส่งออก แทนการส่งออกเป็นวัตถุดิบ ไทยจะกลายเป็นผู้ผลิตสินค้าจากยางพาราเอง จากนี้ผู้ซื้อยางพาราจากต่างประเทศที่เคยกดราคายางพาราของไทย ก็จะไม่สามารถกดราคายางพาราได้ เพราะไทยจะเป็นผลผลิตปลายน้ำ ในอุตสาหกรรมยางพาราของโลก”

นายเฉลิมชัย กล่าวว่า สำหรับการใช้ยางพาราในประเทศ ในส่วนของหน่วยงานราชการ เพื่อส่งเสริมการใช้น้ำยางพาราในประเทศและสร้างสมดุลราคายางพาราให้เหมาะสม ที่ได้ผลและเป็นรูปธรรม และต้องขอขอบคุณมากแทนเกษตรกร คือ โครงการของกระทรวงคมนาคม ที่กรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบทจะรับซื้อน้ำยางจากเกษตรกรเพื่อผลิตเป็นแผ่นยางธรรมชาติครอบกำแพงคอนกรีต (แบริเออร์จากยางพารา)

ส่วนการลดปริมาณพื้นที่เพาะปลูกยางปีละ 400,000 ไร่ โดยจ่ายเงินชดเชยให้ไร่ละ 16,000 บาท และดำเนินโครงการลดพื้นที่ปลูกยางพาราเพื่อปลูกพืชอื่นทดแทน เป็นการปรับเปลี่ยนสวนยางที่มีอายุเกิน 25 ปีแล้วไปปลูกพืชอื่น

สำหรับแผนการทำงานของ กยท. ปี 2564 ถือว่าเป็นปีที่ นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการ การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ที่เพิ่งได้รับตำแหน่งใหม่ จะต้องพิสูจน์ผีมือ ราคายางและผลผลิตยางพาราต้องเกิดความสมดุล ราคายางที่เกษตรกรขายได้ ต้องสูงขึ้น จากมาตรการต่างๆ รวมทั้งการเปิดตลาดใหม่ ที่ต้องร่วมดำเนินการกับกระทรวงพาณิชย์ หากไม่สามารถทำได้ 6 เดือนก็จะต้องแสดงความรับผิดชอบ