EEC Automation Park ม.บูรพา ปั้นวิศวกรเข้าอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ 37,000 อัตรา

Mitsubishi Electric จับมือ EEC มหาวิทยาลัยบูรพา ทุ่มกว่า 100 ล้านบาท ผุดศูนย์ความเป็นเลิศด้านหุ่นยนต์ “EEC Automation Park” ปั้นนักศึกษาสู่วิศวกรหุ่นยนต์ หวังเพิ่มผู้พัฒนาระบบหุ่นยนต์ (SI) 5 ปี 1,500 ราย กระตุ้นอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ

นายวิเชียร งามสุขเกษมศรี กรรมการผู้จัดการ บริษัท มิตซูบิชิ อีเล็คทริค แฟคทอรี่ ออโตเมชั่น (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า นับตั้งแต่วันที่ 22 มีนาคม 2562 ที่ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับทาง สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) และมหาวิทยาลัยบูรพา ในการเข้ามาสนับสนุนการพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ด้านเทคโนโลยีการผลิตโดยใช้หุ่นยนต์ และระบบออโตเมชั่นผ่านศูนย์ความเป็นเลิศ “EEC Automation Park” เพื่อให้พร้อมรองรับการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็นตัวขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ประเทศไทย

ด้วยมีความเห็นตรงกันว่า พื้นที่อาเซียนคือฐานการผลิตและเป็นแหล่งสร้างรายได้ที่สำคัญของประเทศ ซึ่งปัจจุบันหลายๆ พื้นที่ในอาเซียนมีการปฏิรูปอุตสาหกรรม ดังนั้นเพื่อความอยู่รอดของอุตสาหกรรมไทย อีกทั้งยังเป็นการยกระดับการผลิตให้มีประสิทธิภาพที่ดีขึ้น และด้วยมิตซูบิชิ อีเล็คทริค เป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้าน Factory Automation มีความพร้อมทางด้านอุปกรณ์ ความรู้

โครงการนี้จึงริเริ่มขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการพัฒนาบุคลากรที่เกี่ยวข้องทั้งทางด้าน upskills และ reskills โดยดำเนินการจัดการสัมมนา (Training Network) เพื่อถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีด้านออโตเมชั่นและหุ่นยนต์ เนื่องจากในปัจจุบันประเทศไทยยังขาดแคลนบุคลากรที่มีทักษะด้านนี้อยู่เป็นจำนวนมาก

ซึ่งขณะนี้ดำเนินการมาแล้ว 30% เป็นส่วนของพื้นที่โชว์เคส และอีก 70% จะเป็นส่วนของพื้นที่การแทรนนิ่ง และ Co Working Space ซึ่งคาดว่าจะเสร็จ 100% ในกลางปี 2564

คณิศ แสงสุพรรณ
คณิศ แสงสุพรรณ

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ. หรือ เลขาฯ EEC) กล่าวว่า เพื่อสนับสนุนให้อุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติเกิดขึ้นและมีการลงทุนในประเทศไทย ทาง EEC จึงจับมือกับทาง Mitsubishi Electric และมหาวิทยาลัยบูรพา จัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศด้านหุ่นยนต์ “EEC Automation Park” ในคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ด้วยมูลค่ากว่า 100 ล้านบาท

สำหรับภารกิจหลักทั้ง 3 ด้านของ EEC Automation Park ประกอบด้วย 1.ศูนย์การเรียนรู้ (Learning Center) 2.ศูนย์ฝึกอบรม (Training Center) 3.หน่วยงานประสานความร่วมมือ (Collaboration) กับเครือข่าย

ซึ่งศูนย์ดังกล่าว จะเป็นการพัฒนากำลังคนในพื้นที่ EEC ให้ตรงจุดมากขึ้น และตั้งใจให้เกิดการบ่มเพาะทักษะเฉพาะทางด้านหุ่นยนต์และระบบออโตเมชั่น

ทั้งยังเป็นศูนย์เรียนรู้แบบปฎิบัติงานจริง ให้กับนิสิตในคณะวิศวกรรมศาสตร์ รวมถึงยังเป็นการแทรนนิ่งผู้พัฒนาระบบ (SI) ในประเทศ ที่ปัจจุบันมีเพียง 200 ราย ซึ่งจะส่งผลให้เกิดธุรกิจใหม่ๆ ตามมา เช่น ธุรกิจศูนย์การเรียนรู้ เป็นต้น โดยตั้งเป้า 5 ปี ต้องการพัฒนาและให้เกิด SI เพิ่มเป็น 1,500 ราย

นอกจากนี้จะยังเป็นการสร้างกำลังคนหรือบุคลากร ผู้มีทักษะด้านหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ เพื่อป้อนเข้าสู่อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ด้วยเช่นกัน เนื่องจากในอนาคตตลาดแรงงานยังมีความต้องการบุคลากร ที่มีทักษะด้านหุ่นยนต์และระบบออโตเมชั่นมากกว่า 37,000 อัตรา