รุมทึ้ง “ตลาดถุงมือยาง” ขาขึ้น แห่ตั้งโรงงานเพิ่มกำลังผลิต

ถุงมือยาง

โรงงานผลิตถุงมือยางไทยทุ่มนำเข้าเครื่องจักรขยายกำลังผลิตเพิ่มเท่าตัว ตั้งแต่ยักษ์ศรีตรังโกลฟส์-ด๊อกเตอร์ บู-วัฒนชัยรับเบอร์เมท-เอสเอเอส-โบแซง หน้าใหม่โดดร่วมวงเพียบทั้ง “หมอบุญ-สิงหเสนี กรุ๊ป-กลุ่มน้ำตาลครบุรี” ทุ่มลงทุนหลายพันล้านขึ้นโรงงาน หลังออร์เดอร์ทะลักยาวไปอีก 5 ปี ด้านนักลงทุนข้ามชาติ “ยุโรป-จีน-ตะวันออกกลาง” หาซื้อที่ดินใน EEC ตั้งโรงงานยาง

รง.ขยายกำลังการผลิต

นายอำนวย ปะติเส อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานสภาการยางพาราแห่งประเทศไทย (สภยท.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากข้อมูลของนักวิเคราะห์ทั่วโลก และองค์การอนามัยโลก (WHO) ให้ข้อมูลตรงกันถึงความต้องการถุงมือยางเพิ่มสูงขึ้นทั่วโลก หลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จากเดิมอัตราการเติบโตทั่วโลกอยู่ที่ 8% ต่อปี พุ่งขึ้นไปสูงมาก และความต้องการจะไม่ลดลงเหมือนอดีต ที่เมื่อโรคระบาดซาร์ส และไข้หวัดนกจบลง ทำให้ผู้ผลิตถุงมือยางต้องเผชิญภาวะล้นตลาด เนื่องจากพัฒนาการของโรคระบาดโควิดรุนแรงและติดต่อกันง่าย ความสำคัญด้านสุขอนามัยถือเป็นเรื่องจำเป็น

โดยที่ WHO บอกว่า ประเทศด้อยพัฒนาอัตราการใช้ถุงมือยาง 6 ชิ้นต่อคนต่อปี ขณะที่สหรัฐอเมริกา 150 ชิ้นต่อคนต่อปี ความต้องการใช้ถุงมือยางจึงเพิ่มขึ้นตามการเพิ่มขึ้นของประชากรโลก และสังคมโลกกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย มีความจำเป็นเพิ่มขึ้น ส่งผลให้โรงงานผลิตถุงมือยางในประเทศไทย ซึ่งมีทั้งหมด 58 แห่ง เท่าที่ทราบขณะนี้หลายแห่งมีแผนขยายกำลังการผลิตเพิ่ม ทั้งกลุ่มผู้ประกอบการที่มีโรงงานเดิมอยู่แล้วขยายไลน์การผลิตเพิ่ม และผู้ประกอบการหน้าใหม่ที่สนใจเข้ามาลงทุน

“ตอนนี้ส่วนใหญ่อยู่ระหว่างการวางแผนและตรวจสอบข้อมูลให้ชัดเจน เพราะข้อมูลออร์เดอร์ที่เข้ามา บางรายไม่แน่ใจว่าจริงหรือหลอก จึงต้องตรวจสอบข้อมูลก่อนลงทุนเพราะเคยเจ็บตัวกันมาแล้วหลายครั้ง”

แหล่งข่าวจากวงการยางเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้โรงงานผลิตถุงมือยางในประเทศไทยทั้งรายใหญ่ กลาง เล็ก ต่างสั่งซื้อเครื่องจักรเพื่อขยายไลน์การผลิตกว่าเท่าตัว เช่น บริษัท ศรีตรังโกลฟส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ STGT ลงทุน 24,000 ล้าน ขยายกำลังผลิต 4 โรงงาน วางเป้าหมายภายในปี 2026 จะผลิตให้ได้ 7 หมื่นล้านชิ้นต่อปี ขณะที่โรงงานขนาดกลาง เช่น บริษัท ด๊อกเตอร์ บู จำกัด อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี และบริษัท วัฒนชัยรับเบอร์ เมท จำกัด จ.ชลบุรี ส่วนโรงงานขนาดกลางค่อนไปทางเล็ก เช่น บริษัท เอสเอเอส รับเบอร์โพรดักส์ จำกัด อ.แกลง จ.ระยอง และบริษัท โบแซง ลาเท็กซ์ จำกัด อ.แปลงยาว จ.ฉะเชิงเทรา

“ไทย-เทศ” จ่อลงทุน

ด้าน ดร.อุทัย สอนหลักทรัพย์ กรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) นายกสมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย (สยท.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ขณะนี้ความต้องการน้ำยางสดเพื่อนำไปแปรรูปผลิตถุงมือยางและผลิตภัณฑ์ถุงมือยางยังอยู่ในระดับสูง และต่อเนื่องไปถึงปี 2568 โดยขณะนี้มีโรงงานผลิตถุงมือยางทั้งไทยและต่างประเทศกว่า 100 แห่ง ได้ประสานงานมายังสมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางฯ เพื่อตรวจสอบข้อมูลความต้องการน้ำยางสดในตลาด ซึ่งจะเป็นข้อมูลสะท้อนถึงตลาดถุงมือยางแท้จริง ก่อนจะลงทุนตั้งโรงงานขยายกำลังการผลิตเพื่อให้เป็นการลงทุนที่มีศักยภาพและประสิทธิภาพ

ขณะที่ปัจจุบันก็มีหลายโรงงานได้ลงทุนสั่งซื้อเครื่องจักรจากประเทศจีน มาเลเซีย และเยอรมนี เพื่อขยายกำลังการผลิตถุงมือยางเพิ่มตั้งแต่ 20-100 เครื่อง ซึ่งเครื่องจักรมีกำลังการผลิตตั้งแต่ 1,200-8,000 ชิ้น/ชั่วโมง และมีเป้าหมายลงทุนเพิ่มเครื่องจักรประมาณ 400-500 เครื่อง ซึ่งเครื่องจักรของประเทศเยอรมนี และจีน ราคาเฉลี่ยเครื่องละประมาณ 70-80 ล้านบาท

ขณะเดียวกัน มีนักลงทุนจากกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป จีน และกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง เช่น คูเวต มาหาซื้อที่ดินในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ทั้งในจังหวัดชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา เพื่อตั้งโรงงานผลิตถุงมือยางในประเทศไทย และที่มีรูปธรรมมากที่สุดตอนนี้คือ นักธุรกิจจีน ได้ลงทุนซื้อที่ดินประมาณ 200 ไร่ ที่ จ.ชลบุรี

โดยประเมินความต้องการถุงมือยางของโลก จากข้อมูลของกลุ่มการค้า โดยในปี 2563 ทั่วโลกมีความต้องการประมาณ3,600 ล้านกล่อง (กล่องละ 100 ชิ้น) และในปี 2564 ประมาณ 4,200 ล้านกล่องราคาถุงมือยางเฉลี่ยประมาณ 150 บาท/กล่อง มูลค่าตลาดโลกสูงถึงประมาณ 630,000 ล้านบาท/ปี

หน้าใหม่โดดร่วมวงเพียบ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะเดียวกันยังมีผู้ประกอบการในวงการแพทย์ และวงการยางที่ยังไม่เคยผลิตถุงมือยาง โดดมาลงทุนตั้งโรงงานผลิตถุงมือยาง เช่น นายแพทย์บุญ วนาสิน ประธานกรรมการ บริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ THG ได้จัดตั้ง บริษัท ไทยเมดิคอล โกล์ฟ จำกัด เพื่อผลิตและส่งออกถุงมือยาง มูลค่าการลงทุน 1,000 ล้านบาท โดยมีกำลังการผลิตกว่า 9 แสนชิ้นต่อวัน, บริษัท เอ็น.วาย รับเบอร์ จำกัด อ.หนองใหญ่ จ.ชลบุรี ของกลุ่มน้ำตาลครบุรี ซึ่งปัจจุบันผลิตน้ำยางข้น เตรียมลงทุนตั้งโรงงานผลิตถุงมือยาง

นอกจากนี้ บริษัท คิวบี เมดิคอล จำกัด ทายาทธุรกิจแต้ล้งฮั้ว (TLH) ที่มีธุรกิจหลากหลายในภาคตะวันออก ประกาศตั้งโรงงานผลิตถุงมือยาง โดยใช้งบฯลงทุนกว่า 8,000 ล้านบาท บนพื้นที่ 73.5 ไร่ ในเขตประกอบการนิคมอุตสาหกรรมไทยอีสเทิร์น จังหวัดชลบุรี สามารถผลิตถุงมือไนไตรล์ได้ประมาณ 1,000 ล้านชิ้นต่อเดือน

ขณะที่บริษัท สิงหเสนี กรุ๊ป จำกัด ก็ได้ร่วมทุนกับบริษัท แอทยีนส์ โกบอล ลิงค์ จำกัด ทำสัญญาเช่าที่ดิน 83 ไร่ เป็นเวลา 20 ปี ในพื้นที่โครงการนิคมอุตสาหกรรมยางพารา (Rubber City) ในนิคมอุตสาหกรรมภาคใต้ ต.ฉลุง อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เพื่อจัดตั้งโรงงานผลิตถุงมือยาง และศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์มาตรฐานถุงมือยาง มูลค่าลงทุนประมาณ 6,000 ล้านบาท พร้อมแผนการจ้างแรงงานในพื้นที่ประมาณ 2,000 คน

นางสาวจิณณะ สิงหเสนี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สิงหเสนี กรุ๊ป กล่าวว่า เนื่องจากบริษัททำธุรกิจเกี่ยวกับพลังงาน ส่งออกน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ มีพันธมิตรทางธุรกิจในตลาดต่างประเทศจำนวนมาก เมื่อเกิดวิกฤตโควิด-19 ได้เล็งเห็นโอกาสการลงทุนในอุตสาหกรรมถุงมือยางที่มีความต้องการสูง จึงได้ร่วมกับทางมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ทำวิจัยพัฒนาถุงมือยางให้มีคุณภาพเทียบเท่ากับถุงมือยางสังเคราะห์ หรือที่รู้จักกันดีว่า ยาง Nitrile รวมถึงจัดทำศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์ถุงมือยางพารา คาดว่าจะมีการใช้น้ำยางถึงวันละ 120 ตันเป็นน้ำยางธรรมชาติ 80% และน้ำยางสังเคราะห์ 20% เพื่อประโยชน์สูงสุดกับเกษตรกรผู้ปลูกยางพารา

ขณะที่แหล่งข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ระบุว่า ในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ มีบริษัทผู้ผลิตถุงมือยางที่ใช้ในทางการแพทย์ที่ยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนเพียง 1 ราย แต่มีการลงทุนในหลายโครงการ คิดเป็นเงินลงทุนรวม 10,043 ล้านบาท ซึ่งได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนแล้ว