งัดกฎหมายคุมเข้ม “เครดิตเทอม 30 วัน” เผยยักษ์ใหญ่ดึงหนี้ 62 วัน

เครดิตเทอม
Photo by Lillian SUWANRUMPHA / AFP

“บอร์ดแข่งขัน” รับลูก ศบศ. กู้สภาพคล่องเอสเอ็มอี เร่งถกใช้กฎหมายบังคับสร้างมาตรฐานเครดิตเทอม สกัดขาใหญ่ยื้อจ่าย นำร่อง “ธุรกิจเกษตร-ค้าปลีก” ไม่เป็นธรรม โทษปรับ 10% ของรายได้

เปิดข้อมูลยักษ์ใหญ่ตลาดหุ้นดึงหนี้ 62 วัน ด้าน “หอการค้า-สภาอุตฯ” ประสานเสียงต้านออกกฎหมายบังคับ โชว์ดึงบิ๊กธุรกิจ 100 ราย “เซเว่นฯ-บางจาก-ปตท.-สหพัฒน์” เคลียร์เงินเอสเอ็มอีภายใน 30 วัน นำร่องทดลอง 3 เดือน พร้อมเรียกร้องรัฐ-รัฐวิสาหกิจใช้เครดิตเทอม 30 วันเช่นกัน

เร่งออกกฎ “เครดิตเทอม”

ศ.ดร.สกนธ์ วรัญญูวัฒนา ประธานกรรมการแข่งขันทางการค้า (กขค.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตามที่คณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบศ. ให้ กขค.ร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ศึกษาความเป็นไปได้ในการใช้กฎหมายแข่งขันทางการค้า กำหนดมาตรฐานระยะเวลาการชำระเงินค่าสินค้า (credit term) เพื่อให้มีผลบังคับใช้และบทลงโทษทางกฎหมาย

จากปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีมาตรฐานทำให้แต่ละรายกำหนดระยะเวลาไม่เท่ากัน บางรายมากกว่า 45 วัน หรือถึง 120 วัน ซึ่งเมื่อจ่ายเงินช้าจะส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตสินค้า โดยเฉพาะกลุ่มเกษตรกรและผู้ผลิตรายย่อย ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ทำให้ขาดสภาพคล่องไม่สามารถนำเงินไปใช้หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจได้อย่างที่ควรจะเป็น

ขณะนี้คณะกรรมการเริ่มหารือกับทั้งสภาพัฒน์และ ธปท. และได้ขอความเห็นเพิ่มเติมจากสำนักงานวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ซึ่งตาม พ.ร.บ.แข่งขันทางการค้า ปี 2560 มีมาตรา 57 ที่เกี่ยวกับเรื่องการค้าที่ไม่เป็นธรรมที่จะสามารถนำมาดูแลในกรณีนี้ได้ เช่น บริษัทใหญ่เอาเปรียบรายย่อย แต่ต้องศึกษารายละเอียดของแต่ละสินค้า และรูปแบบการชำระเงิน โดยจะต้องดูทั้งฝั่งผู้ซื้อและผู้ขาย และต้องกำหนดเป็นสัญญามาตรฐานเช่นที่เคยทำในกลุ่มซัพพลายเออร์ข้าวถุงกับโมเดิร์นเทรด

Advertisment

นำร่องค้าปลีก-เกษตร

“โดยอาจจะเริ่มในบางสาขาธุรกิจก่อน เช่น สินค้าเกษตร กลุ่มค้าปลีก เพราะเกี่ยวข้องกับเกษตรกร หากชำระเงินล่าช้าก็อาจจะทำให้ผลผลิตเน่าเสียและเกษตรกรไม่สามารถจะนำเงินไปลงทุนปลูกหรือไปชำระค่าปัจจัยการผลิตต่าง ๆ ได้ แต่ก็ต้องดูทั้งฝั่งคนซื้อและคนขายให้เกิดความสมดุลกัน” ศ.ดร.สกนธ์กล่าว

สำหรับรูปแบบการกำหนดแนวทางสัญญามาตรฐาน หรือแนวทางการปฏิบัติที่เป็นธรรม อาจจะออกมาเป็นแนวปฏิบัติหรือ “ไกด์ไลน์” หรือจะออกมาเป็นอนุบัญญัติก็ได้ ซึ่งจะมีผลทางกฎหมายคือ หากฝ่าฝืนมาตรา 57 (4) จะมีโทษทางปกครองปรับ 10% ของรายได้ในปีที่กระทำผิด

ขาใหญ่ค้านออก กฎหมายคุม

ด้านนายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัจจุบันกลุ่มผู้ประกอบการสมาชิก โดยเฉพาะธุรกิจขนาดใหญ่ซึ่งมีประมาณ 1-2% จากสมาชิกทั้งหมด 1 แสนราย ก็ได้ดำเนินการเรื่องนี้อยู่แล้ว ทุกคนก็ต้องดูแลซัพพลายเออร์ในซัพพลายเชนของตัวเองอยู่แล้ว คงไม่มีใครไม่ให้ความร่วมมือ ดังนั้นไม่ควรออกเป็นกฎหมายลักษณะบังคับ หากจะทำโทษก็ใช้มาตรการทางสังคมจะดีกว่า ว่าใครไม่ให้ความร่วมมือเป็นราย ๆ ไป

ดึงบริษัทยักษ์นำร่อง

ด้านนายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจทุกส่วน ประสบปัญหายอดขายลดลง ขาดสภาพคล่องทางการเงิน เนื่องจากมีระยะเวลาในการรับชำระเงินจากการขายสินค้าช้ากว่าปกติ ปี 2563 พบว่ามีการขยายเวลาเครดิตเทอมถึง 60-120 วัน จากปี 2559 ที่มีระยะเวลา 30-45 วัน กว่าที่ผู้ประกอบการ SMEs จะได้รับเงินจากการขายสินค้าให้กับผู้ประกอบการรายใหญ่ สถานการณ์ดังกล่าวส่งผลต่อสภาพคล่อง SMEs โดยตรง และกระทบบริหารการเงินในการทำธุรกิจ

Advertisment

ดังนั้นเพื่อช่วยให้ SMEs มีสภาพคล่อง ส.อ.ท.ร่วมกับบริษัทเอกชนรายใหญ่ 100 บริษัท เริ่มวางระบบชำระหนี้ค่าสินค้าหรือบริการให้แก่คู่ค้า โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอีภายใน 30 วัน นับจากวันที่ได้ตรวจรับสินค้าหรือบริการครบถ้วน โดยเป็นโครงการนำร่อง 3 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.-31 ธ.ค. 2563 ซึ่งจะส่งผลให้เงินหมุนเวียนเข้าในระบบเศรษฐกิจกว่า 100,000 ล้านบาท โดยมีเอสเอ็มอีในซัพพลายเชนถึง 10 ล้านราย หลังจากสิ้นสุดการขอความร่วมมือแล้ว หากไม่เพียงพอให้ SMEs ฟื้นตัว ก็อาจจะพิจารณา “ต่ออายุ” มาตรการเครดิตเทอมนี้ไปอีก

เรียกร้องภาครัฐใช้เกณฑ์ 30 วัน

“ส่วนการจะทำเป็นกฎหมายบังคับการจ่ายเครดิตเทอม 30 วัน เป็นไปได้ยาก เนื่องจากมีขนาดของธุรกิจที่หลากหลาย ทั้งเล็กใหญ่ หลายธุรกิจมีเครดิตกับซัพพลายเออร์แตกต่างกันด้วยข้อจำกัดของประเภทธุรกิจ หากจะไปบังคับทั้งหมด จะกำหนดไซซ์ที่ต้องจ่ายให้รายเล็กอย่างไร จะเป็นการบีบและกระทบสภาพคล่อง แต่สิ่งที่เอกชนต้องการคือผลักดันให้ในส่วนของภาครัฐและรัฐวิสาหกิจต้องมีเกณฑ์มาตรฐานระยะเวลาเครดิตเทอมภายใน 30 วันเช่นกัน และควรกำหนดบทลงโทษหน่วยงานที่ไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะมีงบประมาณที่มาจากภาษีประชาชนนำมาชำระได้อยู่แล้ว”

บางจากยืดอกให้ 30 วัน

ด้านนายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.บางจาก คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า ปัจจุบันบางจากใช้เครดิตเทอม 30 วันให้กับคู่ค้าอยู่แล้ว และได้มีการวางระบบทั้งบริหารจัดการการวางบิล วางเช็ค เรียบร้อยแล้ว มองว่าเป็นแนวทางที่หลายบริษัทควรช่วยกัน เพื่อให้เงินหมุนเข้าไปในระบบเศรษฐกิจหลายแสนล้านบาท

“เราเป็นธุรกิจน้ำมัน ลูกค้าเราคือคนเติมน้ำมัน จ่ายเงินสด เงินหมุนเวียนเข้ามาตลอด ตรงนี้ไม่ห่วง แต่เราก็มีคู่ค้าที่เป็น SMEs หลักร้อยราย มูลค่าก็ประมาณ 10,000 ล้านบาทต่อปี ส่วนใหญ่จะเป็นน้ำมัน แพ็กเกจจิ้ง กาแฟ การให้เขามีเงินหมุนเร็วขึ้นก็จะช่วยเศรษฐกิจได้ดีกว่า ส่วนการจะทำเป็นกฎหมายคงยาก เพราะธุรกิจมีลักษณะไม่เหมือนกัน อย่างบางจากผลิตน้ำมัน 3-4 วันก็ออกมา แต่บางธุรกิจต้องสั่งวัตถุดิบใช้เวลา 90 วัน ก็จะไม่แมตช์กันระหว่างรายได้กับรายจ่าย”

เซเว่นฯช่วยคู่ค้า 4,000 ราย

นายสุวิทย์ กิ่งแก้ว ที่ปรึกษา บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปัจจุบันบริษัทมีคู่ค้าที่เป็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอีมากว่า 4,000 ราย โดยบริษัทพร้อมให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่เพื่อผลประโยชน์ของคู่ค้าและการชำระหนี้ให้กับคู่ค้าภายใน 30 วัน ภายใต้โครงการนำร่องตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.-31 ธ.ค. 2563 ซึ่งปัจจุบันมีการชำระหนี้ให้คู่ค้าในระยะเวลาดังกล่าวอยู่แล้วจำนวนหนึ่ง

เช่นเดียวกับนางศิริพร เดชสิงห์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานการสื่อสารองค์กร บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในส่วนของบริษัทมีคู่ค้าที่เป็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอี 2 กลุ่ม คือกลุ่มผู้ผลิตสินค้าและนำมาจำหน่ายให้กับบริษัท และคู่ค้าทั่วไป ซึ่งการดำเนินการช่วยเหลือสำหรับมาตรการเครดิตเทอม 30 วัน สามารถดำเนินการให้ความช่วยเหลือได้อยู่แล้ว

ด้านนายวิบูลย์ สุภัครพงษ์กุล รองกรรมการผู้จัดการบริหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF กล่าวว่า บริษัทพร้อมสนับสนุนมาตรการชำระหนี้ให้แก่คู่ค้าภายใน 30 วัน เพื่อเสริมสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการ SMEs ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นซัพพลายเออร์วัตถุดิบ เครื่องปรุง ผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ อย่างเต็มที่ อีกทั้งยังมีนโยบายในการพัฒนาเอสเอ็มอีซึ่งเป็นคู่ค้าของบริษัทด้วย

ปตท.ชี้เครดิตเทอม 30 วันปกติ

นางสาวจรูญศรี วันเกิดผล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ศูนย์บริการงานบัญชี บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปกติบริษัทใช้เครดิตเทอม 30 วันอยู่แล้ว แต่ก็มีส่วนน้อยที่ระยะเวลาชำระหนี้ 45 วัน เพราะต้องยอมรับว่า ปตท.มีสาขาการให้บริการอยู่ทั่วประเทศ สินค้าและคู่ค้าที่มีความหลากหลาย มีทั้งแบบซื้อมาขายไป หรือบางรายการหรืองานบริการอาจต้องรอระยะเวลาตรวจสอบโครงการบ้าง

ขณะที่นายเวทิต โชควัฒนา กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทมีการซื้อขายผลิตผลทางการเกษตรกรจาก SMEs กว่า 3,000 ราย เพื่อนำมาผลิตเป็นบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป และยังมีวัตถุดิบจาก SMEs อีกเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้รายใหญ่อาจกระทบสภาพคล่องบ้างแต่เล็กน้อย ดังนั้นบริษัทจึงเข้าร่วมสนับสนุนสภาพคล่องให้เอสเอ็มอีเพื่อช่วยหมุนเงินในระบบเศรษฐกิจได้เร็วขึ้น

บังคับให้ บจ.เปิดข้อมูล

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ข้อเสนอการกำหนดเกณฑ์มาตรฐานระยะเวลา “เครดิตเทอม” ในประเทศไทย ภายใต้คณะทำงานด้านการลดความเหลื่อมล้ำและลดอุปสรรคจากกฎหมายและกฎเกณฑ์ของภาครัฐ คณะอนุกรรมการด้านการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้เสนอแนวทางโดยให้มีผลบังคับใช้และบทลงโทษทางกฎหมาย รวมถึงมีแรงจูงใจด้านบวกให้ภาคธุรกิจปฏิบัติตามดังนี้

1.กำหนดเกณฑ์มาตรฐาน “เครดิตเทอม” (สินเชื่อการค้า) ลูกหนี้ต้องชำระให้แก่คู่ค้าภายใน 30-45 วัน ขึ้นอยู่กับประเภทธุรกิจ 2.กำหนดให้บริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯเปิดเผยข้อมูลระยะเวลาเครดิตเทอมในแบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี (แบบ 56-1)

และ 3.ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนดแนวทางการส่งเสริมและสร้างแรงจูงใจสำหรับภาคธุรกิจให้มีแนวปฏิบัติที่ดีในการลดระยะเวลา credit term เช่น กรมบัญชีกลาง จัดสรรโควตาสำหรับการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ, ธปท. และสถาบันการเงินกำหนดสิทธิพิเศษทางการเงินและการเข้าถึงแหล่งสินเชื่อ เป็นต้น

ยักษ์ใหญ่ใช้อำนาจต่อรอง

นอกจากนี้ข้อเสนอของคณะทำงานดังกล่าวระบุว่า จากข้อมูลงบการเงินของบริษัทในปี 2559 พบว่าบริษัทขนาดใหญ่มีเครดิตเทอมเฉลี่ย 55 วัน และบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯจะนานถึง 62 วัน ซึ่งสูงกว่าระยะเวลาเครดิตเทอมของ SMEs ซึ่งอยู่ที่ 30-45 วัน

โดยปี 2563 เครดิตเทอมที่ SMEs ได้รับจากคู่ค้าเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว เฉลี่ยอยู่ที่ 60 วัน และบางธุรกิจขยายสูงถึง 120 วัน สูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศอื่น ๆ เช่น ไต้หวัน 45 วัน อินโดนีเซีย 34 วัน สิงคโปร์ 29 วัน เป็นต้น ส่งผลให้ SMEs จำเป็นต้องปรับตัวเพื่อสร้างกระแสเงินสดหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจ

เครดิตเทอม