สภาผู้ส่งออกฯ ย้ำ พ.ร.ก.ฉุกเฉินจำกัดพื้นที่ กทม. ไม่กระทบส่งออก

ส่งออก
แฟ้มภาพ

สภาผู้ส่งออกฯ ยันการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินในกรุงเทพฯ ไม่กระทบต่อการส่งออก หวั่นมีผลต่อความเชื่อมั่นและภาพลักษณ์ของไทย จากที่รัฐบาลดูแลควบคุมโควิด-19 ได้ดีมาก แนะให้พูดคุยเจรจาทางออกดีที่สุด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 15 ต.ค. 2563 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ลงนามในประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 และมาตรา 11 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 นายกรัฐมนตรีจึงให้ประกาศสถานการณฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร ทั้งนี้ ตั้งแต่ 15 ต.ค. 2563 ตั้งแต่เวลา 04.00 น. เป็นต้นไปนั้น

“เนื่องจากมีบุคคลหลายกลุ่มได้เชิญชวน ปลุกระดม และดำเนินการให้มีการชุมนุมสาธารณะโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะขึ้นในกรุงเทพมหานคร โดยใช้วิธีการและช่องทางต่างๆ ก่อให้เกิดความปั่นป่วนวุ่นวายและไม่สงบเรียบร้อยของประชาชน และมีเหตุอันควรให้เชื่อได้ว่ามีการกระทำที่มีความรุนแรงกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยในชีวิต หรือทรัพย์สินของรัฐหรือบุคคล อันมิใช่การชุมนุมโดยสงบที่ได้รับการรับรองตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มีผลกระทบต่อการดูแลควบคุมโควิด-19 เศรษฐกิจ จึงจำเป็นออกประกาศดังกล่าวเพื่อรักษาความสงบ”

นางสาวกัญญภัค ตันติพิพัฒน์พงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือสภาผู้ส่งออก เปิดเผยว่า ภาคเอกชนและผู้ส่งออกมีความกังวลว่าจากเหตุการณ์และการประกาศการควบคุมดูแลสถานการณ์ดังกล่าวจะก่อให้เกิดความรุนแรง หรือกระทบให้การชุมนุมยืดเยื้อต่อเนื่อง ซึ่งจะกระทบต่อภาพลักษณ์และความเชื่อมั่นของประเทศไทยต่อสายตาต่างชาติ เพราะประเทศไทยอยู่ระหว่างการกระตุ้นเศรษฐกิจ ดึงดูดการลงทุน กระตุ้นการท่องเที่ยวจากต่างประเทศ อาจจะทำให้เประเทศไทยเสียโอกาสไปในหลายๆ ด้าน

“เอกชนต้องการให้รัฐบาลมีการออกมาชี้แจงทำความเข้าใจกับผู้ชุมนุม มากกว่าการดำเนินการโดยนำเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร เข้ามาดูแล ซึ่งมีผลต่อภาพลักษณ์ เพราะจากการชุมนุม 2 ครั้งที่ผ่านมาไม่ได้มีทิศทางจะเกิดความวุ่นวายหรือรุนแรง ดังนั้น การพูดคุยเจรจาจะเป็นทางออกที่ดีต่อภาพลักษณ์และความเชื่อมั่นจากสายตาต่างชาติ เพราะการดูแลควบคุมโควิด-19 ของรัฐบาลทำได้ดีมาก”

อย่างไรก็ดี แม้ว่าการประกาศควบคุมดูแลความสงบจะอยู่เฉพาะพื้นที่กรุงเทพฯ แต่ต้องยอมรับว่ากรุงเทพฯถือเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ การดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ หน่วยงานสำคัญต่างก็อยู่ในกรุงเทพฯ จึงเป็นภาพลักษณ์ที่สำคัญและสร้างความเชื่อมั่นให้กับประเทศ จึงต้องการให้การดำเนินการดูแลสถานการณ์ต่างๆนั้นไม่ให้เมีความรุนแรงเหมือนในอดีต และกลับไปสู่จุดเดิม ส่วนผลกระทบด้านการส่งออกนั้นไม่ได้มีผลจากเหตุการณ์นี้แต่อย่างไร