รัฐอัดพันล้านสกัดโรค ASF ปศุสัตว์คุมเข้มโรงเชือด-เขียงทั่วประเทศ

หมู
RONALDO SCHEMIDT / AFP

นายกฯตู่อนุมัติงบฯฉุกเฉิน 1,111 ล้านบาท สกัด ASF ตามคำขอพิกบอร์ด ด้านกรมปศุสัตว์ออกหนังสือถึงปศุสัตว์จังหวัดทั่วประเทศ ทำงานเชิงรุกเข้มคุมโรงฆ่าสัตว์-เขียงขายซากผิดกฎหมาย ด้านสมาคมผู้เลี้ยงราชบุรีผนึกปศุสัตว์เขต 7 ระดมเก็บตัวอย่างฟาร์มรอบข้างไปตรวจ พร้อมประกาศราชบุรีปลอด ASF-PRRS-FMD

นายสุรชัย สุทธิธรรม นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เมื่อวันที่ 21 พ.ย. 2563 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้อนุมัติงบฯกลางของสำนักนายกรัฐมนตรี วงเงิน 1,111 ล้านบาท ให้กับกรมปศุสัตว์ เพื่อใช้ป้องกันโรคอหิวาต์แอฟริกันในสุกร (ASF) ตามข้อเสนอของคณะกรรมการนโยบายพัฒนาสุกรและผลิตภัณฑ์ (พิกบอร์ด) ในฐานะนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ต้องขอบคุณทางรัฐบาลที่เห็นประโยชน์ของผู้เลี้ยงสุกร 1 แสนกว่ารายทั่วประเทศ ในการป้องกันและบำบัดโรค ASF ไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดในเมืองไทย”

นายนิพัฒน์ เนื้อนิ่ม อุปนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ และนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรจังหวัดราชบุรี กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หลังมีข่าวการตรวจพบผลบวกจากฟาร์มแห่งหนึ่งในจังหวัดราชบุรี เพื่อป้องกันความเสี่ยง ไม่ว่าสุกรดังกล่าวจะเป็นโรคอะไร ทางปศุสัตว์ได้เผาทำลายทิ้งซากสุกรทันที ขั้นตอนต่อจากนี้ไป ปศุสัตว์จังหวัดจะเร่งเก็บตัวอย่างของฟาร์มต่าง ๆ ในรัศมีใกล้เคียงไปตรวจสอบซ้ำหลายครั้ง ถึงปัจจุบันไม่พบเชื้อโรค ASF, โรคเพิร์ส (PRRS) และโรคปากและเท้าเปื่อย (FMD) ในพื้นที่จังหวัดราชบุรี

และเมื่อช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ทางสมาคมผู้เลี้ยงสุกรจังหวัดราชบุรีได้ลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) กับผู้เลี้ยงสุกรที่เป็นสมาชิก 2,111 ราย ซึ่งมีจำนวนแม่พันธุ์สุกรรวมกันประมาณ 1.8 แสนตัว และหมูขุนรวมกันประมาณ 3 ล้านตัว โดยมีปศุสัตว์เขต 7 เป็นประธาน เพื่อป้องกันโรค ASF

โดยมีข้อตกลงร่วมกัน 3 ข้อ ได้แก่ 1.ผู้เลี้ยงที่มีความประสงค์จะซื้อลูกหมูเข้ามาในพื้นที่เขต 7 ต้องแจ้งรายละเอียดให้ปศุสัตว์จังหวัดทราบก่อนว่า 1.รายชื่อฟาร์มที่จะซื้อว่าตั้งอยู่ที่ไหนให้ชัดเจน จะซื้อจำนวนเท่าไหร่ พื้นที่ที่จะไปซื้อมีความเสี่ยงหรือไม่ เพื่อให้ปศุสัตว์นำข้อมูลไปพิจารณาก่อนอนุญาต 2.จะต้องมีการส่งบุคคลที่สาม (third party) ไปตรวจสอบโรคยังฟาร์มขายลูกหมูก่อน และฟาร์มดังกล่าวต้องมีใบตรวจโรคชัดเจนว่า ปลอดจากเชื้อ ASF, PRRS และ FMD 3.แต่ละฟาร์มจะต้องทำจุดกักกันสัตว์ที่มีมาตรฐานก่อนนำเข้าไปเลี้ยงในฟาร์ม 7-10 วัน รวมถึงก่อนนำรถขนสัตว์เข้ามาในฟาร์มจะต้องมีการพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อจอดทิ้งไว้ประมาณ 20 นาที

ทั้งนี้ หลังจังหวัดราชบุรีทำ MOU ทางกลุ่มผู้เลี้ยงสุกรในเขต 7 อีก 7 จังหวัด ได้เห็นชอบที่จะดำเนินการตามแนวทางดังกล่าว ประกอบด้วย จ.กาญจนบุรี, เพชรบุรี, นครปฐม, สมุทรสาคร, ประจวบคีรีขันธ์, สมุทรสงคราม และสุพรรณบุรี

ขณะเดียวกันมีรายงานข่าวจากกรมปศุสัตว์ว่า วันที่ 3 ธันวาคม 2563 นายชัยวัฒน์ โยธคล รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ ปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมปศุสัตว์ ได้ทำหนังสือด่วนที่สุดไปถึงปศุสัตว์จังหวัดทั่วประเทศ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย เรื่องการยกระดับมาตรการเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรค ASF ตั้งแต่การปรับนิยามให้เหมาะสมกับการระบาดของโรค โดยให้ทำงานเชิงรุก และเข้มงวดในการบังคับใช้กฎหมายกับผู้ประกอบการโรงฆ่าสัตว์ สถานที่จำหน่ายเนื้อสุกร สถานที่จัดเก็บซากสุกร หรือบุคคลที่จำหน่ายเนื้อสุกรที่ไม่ได้รับอนุญาต ฯลฯ เป็นต้น