โรงงาน 60 แห่ง อ้างพิษโควิด ร้อง กนอ. ชะลอขึ้นค่าเช่านิคมแหลมฉบัง

โรงงาน
แฟ้มภาพประกอบข่าว

60 โรงงานผนึกกำลังร้อง กนอ. ทบทวนค่าเช่านิคมแหลมฉบัง หลังครบสัญญา 30 ปี เหตุเจรจาอัตราค่าเช่าก่อนโควิดมา ปรับขึ้น 3 เท่า หวั่นไวรัสกระทบซ้ำโรงงานเดี้ยง ผู้ว่าการ กนอ.ยอมถอย ชงบอร์ดเคาะเรตค่าเช่าใหม่ ไฟเขียวปรับเป็นรายปีจาก 10% เหลือไม่เกิน 3% คาดบังคับใช้ทัน ม.ค.ปี’64

แหล่งข่าวภาคอุตสาหกรรมเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้กลุ่มผู้ประกอบการโรงงานในนิคมแหลมฉบัง จ.ชลบุรี ประมาณ 60 ราย รวมตัวกันยื่นข้อหนังสือถึงการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เพื่อขอให้พิจารณาทบทวนอัตราค่าเช่าใหม่พื้นที่ในนิคมแหลมฉบับอีกครั้ง เพราะสัญญาเช่าจะครบกำหนด 30 ปี ทางนิคมจึงหารือกับผู้ประกอบการถึงอัตราค่าเช่าใหม่ ซึ่งหารือก่อนจะเกิดปัญหาโควิด-19 และได้ข้อสรุปว่าจะปรับค่าเช่าเพิ่ม 3 เท่า จากอัตรา 80,000 บาทต่อไร่ต่อปี เป็น 100,000 บาทต่อไร่ต่อปีในปีแรกจนถึงอัตราค่าเช่าสุดท้ายจะอยู่ที่ปีละ 700,000 บาท

“นิคมอยู่ระหว่างเจรจากับ กนอ.เพื่อขอลดค่าเช่า ซึ่งเข้าใจได้ว่าตอนยังไม่มีโควิด เศรษฐกิจจะดี แต่เกิดปัญหาแล้ว ค่าเช่าก็ควรลดลง เพราะจะอยู่กันไม่ได้”

ทั้งนี้ ตามเงื่อนไขห้ามไม่ให้ขายสิทธิ์เช่าช่วงต่อ ซึ่งหลายบริษัทเตรียมหาพื้นที่ใหม่ที่มีต้นทุนถูกกว่า เพื่อรองรับการขยาย เพราะพื้นที่เดิมเต็ม ไม่สามารถขยายได้แล้ว แต่ยอมรับว่าทำเลนิคมแหลมฉบังเหมาะสำหรับการขนส่งสินค้า เพราะมีจุดใกล้ท่าเรือ ใกล้ลูกค้า

นางสาวสมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการ กนอ. เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กนอ.เตรียมเสนอที่ประชุมบอร์ดพิจารณาการปรับขึ้นอัตราค่าเช่าในระหว่างสัญญา โดยเฉพาะนิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง จ.ชลบุรี และนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง ให้เป็นอัตรารายปีที่ผู้ประกอบการใน 2 นิคมยอมรับได้

“กนอ.มีต้นทุนในการบริหารจัดการที่เป็นรายจ่ายทั้งปรับปรุงระบบ บุคลากร ต้องมีรายได้เข้ามาที่นิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง เรายังไม่ได้เรียกผู้ประกอบการมาหารือ แต่รับทราบแล้วเรื่องทำหนังสือมา ซึ่งจะนำเรื่องเข้าบอร์ดว่าจะปรับขึ้นเป็นรายปีหรือไม่ เช่น เดิมทุก 3 ปีปรับขึ้น 10% ถ้ารายปีขึ้น 2-3% จะได้หรือไม่ เพราะเป็นอัตราที่ไม่สูงมาก ดีกว่าขึ้นทีเดียว เพื่อให้ธุรกิจได้ไปต่อและเกิดการจ้างแรงงานได้อีก”

ส่วนผู้ประกอบการบางรายที่ไม่สามารถแบกรับภาระอัตราค่าเช่าใหม่ได้นั้น จะต้องย้ายออกจากนิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง เพื่อไปอยู่นิคมอุตสาหกรรมเอกชนรายอื่น ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) แต่การย้ายไปตั้งโรงงานใหม่ถือเป็นการลงทุนที่สูง กนอ.มั่นใจทั้ง 2 นิคมมีศักยภาพสูง หากรายใดย้ายออกไปก็จะมีรายใหม่เข้ามา

นายจักรรัฐ เลิศโอภาส รองผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรม (สายงานปฏิบัติการ 2) ในฐานะผู้ดูแลนิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง กล่าวว่า ผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบังกว่า 100 ราย และผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ประมาณ 70 ราย รวมตัวยื่นหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศ (ส.อ.ท.) และ กนอ. เพื่อขอให้พิจารณาช่วยเหลือชะลอการปรับขึ้นอัตราค่าเช่าระหว่างสัญญา หลังจากที่ กนอ.เตรียมประกาศปรับอัตราค่าเช่าขึ้นตามภาวะเงินเฟ้อ และราคาที่ดินที่มีการปรับขึ้นตลอด

จะพิจารณาปรับขึ้นเป็นรายปีจาก 3% เป็น 2% ซึ่งเอกชนรับได้และจะเสนอบอร์ด กนอ.พิจารณาในเดือน ม.ค. 2564 หากที่ประชุมอนุมัติก็สามารถประกาศเป็นอัตราใหม่ได้เลย สำหรับผู้ประกอบการที่ตั้งโรงงานอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมทั้งแหลมฉบังและมาบตาพุด กรณีที่มีการต่อสัญญาใหม่ในปี 2564

สำหรับนิคมแหลมฉบังมีโรงงาน ผู้ใช้ที่ดินตามเขตอุตสาหกรรมทั่วไป จำนวน 136 โรงงาน และมีผู้ใช้ที่ดินในเขตประกอบการเสรี รวม 157 โรง