กนอ.รับมือโควิดระลอกใหม่ ดึง “สตาร์ตอัพ” เสียบเข้านิคม

โควิดสมุทรสงคราม

โควิดพ่นพิษนักลงทุนเข้าไม่ได้ กนอ.พลิกกลยุทธ์หันดึงสตาร์ตอัพไทยแทน ชี้เทรนด์ดิจิทัล ซอฟต์แวร์ การแพทย์ มาแรง บูมลงทุนเช่า/ซื้อที่เพิ่ม เตรียมผุดนิคมอุตสาหกรรมใหม่อีก 2-3 แห่งรับลงทุนระลอกใหม่ ประเดิมต้นปีตั้งนิคมโรจนะแห่งที่ 61 กระตุ้นลงทุน 60,000 ล้านบาท

นางสาวสมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงแนวโน้มการลงทุนปี 2564 ว่า หลังจากเกิดการระบาดรอบใหม่ในพื้นที่ 28 จังหวัด ส่งผลให้รัฐบาลประกาศเป็นพื้นที่สีแดง

ซึ่งรวมถึงพื้นที่จังหวัดที่มีนิคมอุตสาหกรรมด้วยนั้น ส่งผลให้นักลงทุนต่างประเทศยังไม่สามารถเดินทางเข้ามาได้ในขณะนี้ ทาง กนอ.จึงต้องปรับประมาณการและแผนการดึงการลงทุนใหม่ จากที่ได้เคยประเมินไว้ก่อนหน้านี้ว่าสถานการณ์จะดีขึ้น

“จากที่ได้รับการรายงานเข้ามาเบื้องต้นว่า มีพนักงานในโรงงานที่ตั้งอยู่นิคมอุตสาหกรรมติดโควิด-19 จำนวน 2 ราย อยู่ใน 2 โรงงาน ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวส่งผลกระทบความเชื่อมั่นการลงทุนระยะสั้น และกระทบในบางกลุ่มอุตสาหกรรมบ้างเล็กน้อย”

“ช่วงนี้นักลงทุนต่างประเทศยังไม่สามารถเข้ามาได้ แต่ในมุมกลับกันจะเห็นการลงทุนในประเทศมากขึ้น เป็นโอกาสของนักลงทุนไทย โดยเฉพาะ startup รวมถึงกลุ่มอุตสาหกรรม new S-curve อย่างการแพทย์ ที่ได้อานิสงส์จากการผลิตเครื่องมืออุปกรณ์ทางการแพทย์ และดิจิทัลนับตั้งแต่ใช้นโยบายทำงานจากที่บ้าน (WFH) จึงจะเห็นได้ว่ากลุ่มอุตสาหกรรมดิจิทัล กิจการประเภทซอฟต์แวร์ คลาวด์เซอร์วิส เทคโนโลยีด้านการสื่อสารต่าง ๆ เข้ามาลงทุนค่อนข้างมาก”

นางสาวสมจิณณ์กล่าวว่า ในปี 2564 กนอ.มีแผนจะพัฒนานิคมอุตสาหกรรมใหม่อีก 2-3 แห่ง โดยตั้งเป้ายอดขาย/เช่าพื้นที่ในนิคมอุตสาหกรรมประมาณ 2,500 ไร่ เพราะยังมีปัจจัยบวกที่ส่งเสริมการลงทุน ทั้งความคืบหน้าการดำเนินงานของโครงสร้างพื้นฐานสำคัญในพื้นที่ (EEC project list) ทั้ง 5 โครงการ

การส่งเสริมการผลิตในประเทศเพื่อสร้าง supply chain ส่งเสริมการผลิตและส่งออกสินค้าศักยภาพสูงในกลุ่ม new S-curve บวกกับการที่รัฐบาลออกมาตรการส่งเสริมเพื่อกระตุ้นและฟื้นฟูให้เกิดการลงทุนในกิจการการผลิต เช่น กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าทุกประเภท ระบบโทรคมนาคม 5G การสร้างเมืองอัจฉริยะ

ส่วนผลประกอบการในปี 2563 ที่ผ่านมานั้น ข้อมูลเมื่อสิ้นสุดปีงบประมาณ 2563 (ก.ย. 63) มีมูลค่าการลงทุนทั้งหมด 239,038.48 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2562 ที่มีจำนวน 30,527.54 ล้านบาท คิดเป็น 683.02% ซึ่งจะเห็นได้ว่ามูลค่าการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด เนื่องมาจากการลงทุนเพิ่มของฐานลูกค้าเดิมที่อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องมือวิทยาศาสตร์ และอุตสาหกรรมยานยนต์และการขนส่ง

ขณะเดียวกันมียอดขาย/เช่าที่ดิน ในปี 2563 ประมาณ 2,150.45 ไร่ ซึ่งลดลงจากปีก่อนเพียงเล็กน้อย 1.52% ที่ขายได้ 2,183 ไร่ โดยแบ่งเป็นพื้นที่ใน EEC จำนวน 1,840.58 ไร่ และนอก EEC จำนวน 309.87 ไร่

ล่าสุด กนอ.ยังได้ลงนามเพื่อร่วมดำเนินงานกับบริษัท สวนอุตสาหกรรมโรจนะ จำกัด (มหาชน) เพื่อเริ่มสู่การพัฒนานิคมอุตสาหกรรมโรจนะหนองใหญ่ ในพื้นที่ อ.หนองใหญ่ และ อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี พื้นที่ 1,987.61 ไร่ เม็ดเงินลงทุน 4,129.41 ล้านบาท นับเป็นนิคมอุตสาหกรรมลำดับที่ 61 และเป็นนิคมอุตสาหกรรมล่าสุดที่จะเปิดให้บริการในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)

เพื่อรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย S-curve และ new S-curve และในสัปดาห์หน้า กนอ.เตรียมลงนามร่วมดำเนินงานกับนิคมอุตสาหกรรมเอ็กโก จ.ระยอง อีก 1 แห่ง ซึ่งจะเป็นการเตรียมความพร้อมรองรับการลงทุนได้อีก

นายจิระพงษ์ วินิชบุตร กรรมการผู้จัดการ บริษัท สวนอุตสาหกรรมโรจนะ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า นิคมแห่งใหม่นี้จะเป็นแห่งที่ 7 คาดว่า เมื่อนิคมอุตสาหกรรมโรจนะหนองใหญ่ มีการลงทุนเต็มพื้นที่โครงการแล้ว จะก่อให้เกิดมูลค่าการลงทุนประมาณ 60,057 ล้านบาท

เกิดการจ้างแรงงานเพิ่มขึ้นประมาณ 15,014 อัตรา ในกลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์เครื่องใช้ไฟฟ้าและชิ้นส่วน อุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ อุตสาหกรรมเกี่ยวกับการเกษตร อุตสาหกรรมเบาและอุปกรณ์ทางการแพทย์ เครื่องประดับ อุตสาหกรรมบริการ เช่น คลังสินค้า โลจิสติกส์ การวิจัยและพัฒนา ซึ่งเป็นเป้าหมายที่จะดึงนักลงทุนเข้ามา

โดยจะใช้ระยะเวลาในการพัฒนาโครงการประมาณ 3 ปี ภายหลังจากที่ได้รับการประกาศเขตนิคมอุตสาหกรรมแล้ว และคาดว่าจะสามารถเปิดดำเนินการได้ในปี 2567