ดึงหน่วยงานรัฐ ลาซาด้า ช้อปปี้ เจดี เซ็นทรัล MOU ป้องกันละเมิดบนอินเทอร์เน็ต

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์

“จุรินทร์” เผยดึงหน่วยงานรัฐ ลาซาด้า ช้อปปี้ เจดี เซ็นทรัล เซ็น MOU ป้องกันสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาบนแพลตฟอร์มออนไลน์ หวังสร้างความเชื่อมั่นการค้าไทยที่มูลค่าการค้าโต 6.9% ล่าสุดปราบการละเมิดไปแล้ว 231 คดี ปิดเว็บไซต์ไปแล้วกว่า 1,500 URLs

วันที่ 11 มกราคม 2564 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้แถลงข่าวการลงนามบันทึกข้อตกลงว่า ด้วยความร่วมมือในการคุ้มครองทรัพย์สิน ทางปัญญาบนอินเทอร์เน็ต ว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยี ในการเพิ่มมูลค่าสินค้า และบริการของไทย

รวมทั้งการป้องปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาบนอินเทอร์เน็ต ที่ส่งผลกระทบ ต่อระบบเศรษฐกิจ การค้าการลงทุน และความไว้วางใจของผู้บริโภคต่อการซื้อขายสินค้าออนไลน์

ล่าสุด กรมทรัพย์สินทางปัญญา ได้จัดทำกรอบความร่วมมือในรูปแบบของ MOU ร่วมกับเจ้าของสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา 20 หน่วยงาน ผู้ประกอบการด้านอินเทอร์เน็ต 3 หน่วยงาน ได้แก่ ลาซาด้า ช้อปปี้ และเจดี เซ็นทรัล ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มชั้นนำ และดึงกรมพัฒนาธุรกิจการค้า และกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ

ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการค้าออนไลน์มาร่วมด้วย โดย MOU ซึ่งมีสาระสำคัญ 2 ส่วน คือ การระงับการจำหน่ายสินค้าละเมิดบนแพลตฟอร์มออนไลน์ และการเสริมสร้างองค์ความรู้ในเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาให้แก่ผู้ค้าออนไลน์

อย่างไรก็ดี การดำเนินงานครั้งนี้สืบเนื่องมาจากที่ประชุม คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมมือกันในการป้องกันและระงับการละเมิดงานด้านทรัพย์สินทางปัญาญาบนอินเตอร์เน็ต เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2563 ที่ผ่านมา พร้อมการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง

นอกจากนี้ การดูแลงานด้านทรัพย์สินทางปัญญายังเป็น 1 ใน 14 แผนงานกระทรวงพาณิชย์ที่ต้องผลักดันในปี 2564 อีกด้วย ทั้งการป้องกันและการคุ้มครองงานด้านทรัพย์สินทางปัญญา การให้ความรู้งานด้านทรัพย์สินทางปัญญา การส่งเสริมจดทะเบียน GI ลดเวลาการจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา และการเปิดไกล่เกลี่ยผ่านระบบออนไลน์ซึ่งจะเริ่มใช้ในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 นี้

ด้านนายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา กล่าวว่า การจัดทา MOU ฉบับนี้ได้รับ ความสนใจจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนทั้งไทยและต่างประเทศเป็นอย่างมาก ล่าสุดเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2563 คณะกรรมาธิการยุโรป (EC) ได้เผยแพร่รายงานการเฝ้าระวังการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา โดยระบุรายชื่อตลาดและเว็บไซต์ที่มีการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาในประเทศต่างๆ กว่า 30 ประเทศ ในรายงานดังกล่าว ECได้ชื่นชมไทยทมุ่งมั่นแก้ปัญหาการละเมิดบนอินเทอร์เน็ตร่วมกัน

สำหรับการบังคับใช้กฎหมายเพื่อจับกุมผู้กระทำการละเมิดในปี 2563 ได้ดำเนินการแล้ว 231 คดี ยึดของกลาง 44,953 ชิ้น และการระงับหรือปิดกั้นเว็บไซต์ละเมิด ตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทาความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฯ ซึ่งศาลได้มีคำสั่งปิดไปแล้วกว่า 1,500 URLs ตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นมา และการจัดทำ MOU ครั้งนี้ จะช่วยให้การป้องปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของไทยให้เข้มแข็ง โดยเฉพาะการค้าออนไลน์ที่การตลาดเติบโตอย่างต่อเนื่องมีมูลค่าการค้า 4 ล้านล้านบาทหรือโต 6.9%