“พันธ์” บิ๊กบะหมี่มาม่า เก็บเอดีฟิล์ม BOPP “ใครได้ประโยชน์”

บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมาม่า ธุรกิจอาหารสำเร็จรูปแบรนด์ไทยเก่าแก่ ซึ่งเป็นสินค้าที่ถูกขนานนามเป็น “ดัชนีชี้วัดค่าครองชีพคนไทย” กำลังเผชิญความท้าทายจากภาวะต้นทุนที่ปรับสูงขึ้น

ทั้งจากราคาน้ำมันปาล์ม ข้าวสาลี และล่าสุดต้นทุนภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุน (เอดี) ซึ่งทางกรมการค้าต่างประเทศกำลังพิจารณาไต่สวนเตรียมใช้มาตรการกับสินค้าฟิล์มบรรจุภัณฑ์ไบแอ็กเซียลลี่โอเรียนเต็ด โพลิโพรพิลีน (BOPP) นำเข้าจากอินโดนีเซีย จีน และมาเลเซีย

หากเรียกเก็บเอดี BOPP ย่อมมีผลเชื่อมโยงต่อต้นทุนการผลิต จึงเป็นเหตุให้มาม่าต้องออกมาคัดค้าน “ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ “พันธ์ พะเนียงเวทย์” ผู้จัดการสำนักกรรมการผู้อำนวยการ บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) TFMAMA ถึงผลกระทบเอดี และภาพรวมตลาด

ปมค้าน AD

ที่ผ่านมาไม่ได้ทราบเรื่องการเปิดไต่สวนเอดีสินค้านี้ ทั้งที่มีการเรียกรับฟังความเห็นไปแล้ว แต่บริษัทไม่ได้เข้าร่วมให้ความเห็น เพราะอาจจะไม่ได้อยู่ในกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่ทางกรมฯ​ ขอให้เข้าร่วมให้ข้อมูลประกอบการพิจารณา

“ที่ผ่านมาไม่ทราบ และไม่ได้เข้าไปให้ข้อมูล ตอนนี้ทางกรมบอกว่าจะมีหนังสือถามมาแต่ยังไม่ได้ถามมา ถ้าถามมา ผมเตรียมคำตอบไว้แล้วว่าเรามีการใช้สินค้านี้มากแค่ไหน หากมีเอดีจะกระทบต้นทุนเราอย่างไร ที่สำคัญคือเราอยากรู้ว่านโยบายนี้ที่ออกมาให้ประโยชน์กับส่วนอื่นใดบ้าง

นอกจากผู้ผลิตอุตสาหกรรมนั้นเพียง 1-2 ราย เทียบกับเมื่อราคาน้ำมันปาล์มปรับสูงขึ้น ชาวสวนได้ประโยชน์ ราคาแป้งข้าวสาลีปรับสูงขึ้น ชาวนาได้ประโยชน์ และส่วนที่สามคือไม่แน่ใจว่าการออกมาตรการนี้มาจะทำให้ประเทศที่เป็นผู้ผลิต BOPP มีการใช้มาตรการตอบโต้หรือไม่ และต้องรอว่ารัฐจะพิจารณาอย่างไร”

เอดีดันต้นทุนพุ่ง

ผลกระทบหากมีการพิจารณาประกาศเรียกเก็บภาษีเอดีฟิล์มพลาสติก BOPP ซึ่งเป็นวัตถุดิบที่เราใช้ แต่ไม่ได้ใช้โดยตรงเป็นการใช้ซองบรรจุภัณฑ์ผ่านโรงพิมพ์ หากแอพพลายใช้มาตรการเอดีจะทำให้ต้นทุนเราเพิ่มขึ้น

ซึ่งเทียบแล้วสัดส่วนต้นทุนบรรจุภัณฑ์คิดเป็น 10% ถ้าขายซองละ 5 บาท ก็เท่ากับต้นทุนขยับขึ้น 50 สตางค์ต่อซอง กำลังการผลิตของเราปริมาณ 2 พันล้านซองต่อปี

“เราซื้อซองผ่านโรงพิมพ์ซอง หากกรมแอพพลายมาตรการเอดี โรงพิมพ์ปรับขึ้นราคา และมาขอกันเป็นทอด ๆ เราก็ต้องปรับขึ้น แต่ไม่ใช่จะปรับขึ้นทันที เพราะถึงอย่างไรเชื่อว่าผู้ประกอบการทุกคนคงพยายามอั้นไว้ให้มากที่สุด

เพื่อไม่ให้กระทบผู้บริโภค ซึ่งโดยปกติจะมีการสต๊อกซองไม่มาก เพราะจะสั่งกันเรื่อย ๆ อาจจะสั่งกันช่วง 2-3 เดือน ดังนั้นถ้าอั้นได้ก็ยังอั้นไปก่อน แต่ถ้าไม่ไหวก็ต้องขึ้น”

“ถ้าต้องประเมินต้นทุนส่วนอื่นด้วย ถ้าทุกอย่างขึ้นราคา เช่น แป้งสาลีขึ้นราคาจากภาวะการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ค่าแรงขึ้นราคา และยิ่งในปีนี้น้ำมันปาล์มขึ้นราคาจาก กก.ละ 20 บาท เป็น 40 บาท ถ้าคำนวณเฉพาะต้นทุนส่วนวัตถุดิบสัดส่วน 60% บวกกับต้นทุนแพ็กเกจจิ้งอีก 10% เท่ากับว่าต้นทุนที่เราใช้ผลิตสัดส่วน 70% ปรับราคาสูงขึ้น”

โควิดหนุนคนแห่ตุนมาม่า

ปีก่อนยอดขายเราขยายตัวเพิ่มขึ้น 2% ไม่ถึงเป้าหมายที่วางไว้ 3% จริงอยู่ที่ในช่วงโควิดระบาดมีการประกาศใช้มาตรการล็อกดาวน์ ประมาณเดือน มี.ค.-เม.ย. ยอดโตขึ้นเป็น panic buy ส่วนใหญ่เป็นมาม่าซองมากกว่า เพราะคนอยู่บ้านปรุงอาหารทานเอง หลังจากนั้นพอคลายล็อกในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2563 ก็ไม่ได้โตมากนัก

ปกติคนไทยบริโภคประมาณ 50 ซองต่อคนต่อปี ไม่ได้เพิ่มขึ้นมากนัก และยังมีการแข่งขันที่รุนแรงจากบะหมี่ฯนำเข้า เช่น มาม่าเกาหลี ซึ่งมีราคาสูง เขาขาย 1 ซอง เท่ากับเราขาย 6 ซอง นั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้เราต้องพัฒนาผลิตภัณฑ์ไปสู่สินค้าไฮเอนด์ คือกลุ่มโอเรียนทอลคิตเชน ก็จะเห็นเซ็กเมนต์นี้เติบโตขึ้น 2-3 เท่าในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา

ทิศทางตลาดบะหมี่ฯปี’ 64

“แนวโน้มยอดขายในปี 2564 น่าจะมียอดเติบโตได้ถึง 4-5% เพราะเรามีกลยุทธ์ในการทำตลาดต่อเนื่อง อย่างที่ทราบตลาดนี้มีการแข่งขันสูง เราก็มีการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ต่อเนื่อง ในปีก่อนออกกลุ่มข้าวต้มและโจ๊ก ส่วนปีนี้น่าจะเป็นกลุ่มบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเส้นเหลือง คาดว่าจะเห็นได้เร็วที่สุดก็ประมาณไตรมาส 2 เริ่มทดลองทำตลาด”

วิกฤตโควิดโอกาสส่งออก

โดยปกติมาม่าพึ่งตลาดในประเทศประมาณ 65% ส่งออกประมาณ 30-35% ซึ่งในฝั่งตลาดส่งออกเติบโตดีมาก ตลาดส่งออกหลักก็จะเป็นกลุ่มประเทศเอเชีย และยังมีทั้งสหภาพยุโรป และสหรัฐ แต่ด้วยความที่เราใช้ฐานการผลิตที่ฮังการีส่งออกไปจำหน่ายในยุโรปก็จะไม่เห็นเป็นยอดในส่วนของการส่งออกมากนัก แต่จะเห็นยอดทางฝั่งเอเชียมากกว่า

“แนวโน้มตลาดส่งออกยังเติบโตได้ดี เรียกว่าโตเฉลี่ย 2 ดิจิต โดยเฉพาะหลังโควิดระบาด เดินทางมาเจอกันไม่ได้ มางานแฟร์ไม่ได้ เกิดนิวนอร์มอล เราจึงมีโอกาสได้ติดต่อ พบกับลูกค้าและเจรจาทางออนไลน์ การทำให้ลูกค้ารู้จักรสชาติสินค้าก็ใช้วิธีการส่งสินค้าตัวอย่างผ่านแอร์เฟรดไปให้ลูกค้าทดลองชิม

ซึ่งไม่น่าเชื่อว่าจะสามารถรุกขยายไปยังตลาดใหม่ที่ไม่เคยคาดคิดได้ เช่น เลบานอน อเมริกาใต้ และแอฟริกา ถ้าหากอยู่ในภาวะปกติเราต้องใช้เวลาเดินทางโดยเครื่องบินนับ 20 ชั่วโมง ซึ่งไม่คุ้มค่าที่จะส่งเจ้าหน้าที่เดินทางไป เพราะอาจจะขายได้ปริมาณไม่เท่าไร แต่การสื่อสารกับลูกค้าทางออนไลน์ทำให้มีโอกาสได้เจอลูกค้ากลุ่มใหม่ ๆ เหล่านี้มากขึ้น วันละหลายประเทศ”

ปรับแผน-บริหารความเสี่ยง

ในส่วนของวัตถุดิบที่ปรับขึ้นราคา เราใช้วิธีการล็อกราคาล่วงหน้า ทำมาโดยตลอด และเรามุ่งประหยัดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น ปรับเปลี่ยนส่วนงานที่ใช้เคยคนผลิตมาใช้ระบบออโตเมติกต่าง ๆ โดยจะพิจารณาดูว่าเป็นการลงทุนส่วนไหน และมีโอกาสจะคืนทุนในกี่ปี

“เช่น ลงทุนแล้วคืนทุนได้ 2-3 ปีก็ลงเลย เพราะเราไม่มีปัญหาเรื่องเงินสด ผลประกอบการแต่ละปีเราแบ่งเป็นปันผล 50% และที่เหลือ 50% เก็บเป็นเงินสด ฉะนั้นอะไรที่ลงทุนแล้วคุ้มค่าก็จะลงทุน

ยกตัวอย่าง เช่น เราเตรียมแผนการลงทุนติดแผงโซลาร์รูฟท็อปที่หลังคาโรงงานทุกแห่ง แห่งละ 1 เมกะวัตต์ ซึ่งประเมินแล้วว่าคุ้มค่า เพราะต้นทุนการติดตั้งถูกลงมาก ซึ่งมีการทยอยลงไปแล้ว เช่น บ้านโป่ง เพรซิเด้นไรซ์ ที่อยู่ในแผนคือ ลำพูน ระยอง และศรีราชา”

ส่วนการลงทุนขยายกำลังการผลิต ได้ติดตั้งเครื่องจักรใหม่ ซึ่งเป็นการดำเนินการต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2563 และในปีนี้จะมีการติดตั้งเพิ่มรวม 4-5 เครื่อง ตอนนี้มีการใช้กำลังการผลิตประมาณ 80% หากเพิ่มกำลังการผลิตก็จะได้อีกประมาณ 100-200 ล้านซอง จากภาพรวมที่ผลิตได้ 2 พันล้านซอง

“ดัชนีมาม่า” ฉลุยหมื่นล้านปี 65

สุดท้าย “พันธ์” มองว่าในวันนี้คำว่าดัชนีมาม่าอาจไม่ใช่แค่มาม่าอย่างเดียวแล้ว เพราะในตลาดมีสินค้าอื่นที่เป็นตัวเลือกให้ผู้บริโภคมากขึ้น เช่น กลุ่มโฟรเซ่นฟู้ดส์ จะเห็นว่าช่วงเคอร์ฟิวมีการเลือกซื้อสินค้าในซูเปอร์มาร์เก็ตไปสต๊อกหลากหลายขึ้น

เพียงแต่มาม่ายังมีความได้เปรียบเรื่องการเก็บรักษาได้นาน หรือเมื่อรัฐบาลใช้โครงการคนละครึ่ง ประชาชนไปซื้อของตามร้านค้าย่อยมากขึ้น ก็ยังซื้อมาม่ามากขึ้นเหมือนเดิมแต่อาจเปลี่ยนไปซื้อแบบซองธรรมดาเพื่อให้ได้จำนวนซองมากขึ้น ซึ่งนั่นยังคงทำให้มาม่าครองส่วนแบ่งตลาดอันดับหนึ่งสัดส่วน 48-50%

“บริษัทจึงยืนยันที่จะมุ่งสู่เป้าหมายเพิ่มยอดขายให้ได้ 10,000 ล้านบาท จากภาพรวมของกลุ่มในทุกธุรกิจที่วางไว้ 30,000 ล้านบาทในปี 2565”