คาเฟ่สวนกล้วยไม้ “ไทยออร์คิด” พลิก “โควิด” เป็นโอกาส

สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบให้หลายธุรกิจต้องปรับตัว ในส่วนของธุรกิจส่งออกกล้วยไม้ก็เช่นกัน

“ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ “นายเจตน์ มีญาณเยี่ยม” กรรมการบริหาร บริษัท TOC Group หรือไทยออร์คิดผู้ประกอบการในธุรกิจผลิตและส่งออกกล้วยไม้ครบวงจรที่ดำเนินธุรกิจมานานกว่า 30 ปี ถึงมุมมองการปรับธุรกิจฝ่าวิกฤตโควิด

โควิดฉุดส่งออกติดหล่ม

ไทยออร์คิดทำธุรกิจส่งออกกล้วยไม้ครบวงจร ฟาร์มกล้วยไม้ 400 ไร่ อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี มานานกว่า 30 ปี ผ่านมาหลายวิกฤตจนกระทั่งการระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ปีที่แล้ว

ซึ่งการส่งออกแทบเป็นศูนย์ในช่วงแรกที่มีการระบาดในเดือนเมษายน บวกกับเทรนด์และแนวโน้มการใช้น้อยลงในระยะหลัง สายการบินหยุดบินจึงต้องหันมาทำตลาดออนไลน์ในประเทศมากขึ้น

ช่วงปลายปีหลังจากเดือนสิงหาคม 2563 แม้ว่าจะเริ่มส่งไปยังตลาดหลัก สหรัฐ จีน อิตาลี เนเธอร์เเลนด์บ้าง แต่ก็ยังสามารถกลับมาสู่ปกติได้

“ธุรกิจส่งออกกล้วยไม้เองเดือดร้อนมาก ไม่ต่างกับพืชเกษตรอื่น แต่กรณีของไม้ประดับ เราจำเป็นต้องตัดดอกทุกวันไม่สามารถเก็บสต๊อกหรือทิ้งไว้บนต้นได้เลย ถึงเวลาตัดต้องตัด

ถ้าเก็บจะยิ่งมีต้นทุนการให้ปุ๋ยใส่ยาตามมาอีกเยอะมาก ทั้งยังมีลูกน้อง แรงงานมากกว่า 200 คน และการส่งออกไปยังบางประเทศมีต้นทุนการส่งออกที่สูงมาก เมื่อผ่านการระบาดในรอบแรกยิ่งทำให้เราระมัดระวังการทำธุรกิจมากขึ้นในการระบาดในระลอกที่ 2 ปีนี้”

จับเทรนด์กระจายเสี่ยงธุรกิจ

ระยะหลัง เราก็พยายามมองหาโอกาสมาพักใหญ่แล้วก่อนที่จะมีโควิด จากเดิมที่บริษัทได้มีการขยายไปยังธุรกิจอื่น ๆ กระจายความเสี่ยงธุรกิจในเครือ TOC ซึ่งมี 6 ด้าน ได้แก่ 1.TOC Farm 2.TOC Lab 3.exporting ผลิตและจำหน่าย ส่งออกกล้วยไม้ทั้งในและต่างประเทศ 4.skincare ธุรกิจผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางจากกล้วยไม้แบรนด์ Waii

5.pot plant ธุรกิจส่งออกต้นไม้เศรษฐกิจ เช่น ต้นงาช้าง ต้นชวนชม และต้นเฟื่องฟ้า โดยสัดส่วนรายได้หลักของ 4-5 กลุ่มนี้จะเป็นธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับสวนกล้วยไม้อยู่แล้ว และเป็นรายได้หลักของบริษัท แต่จากผลกระทบโควิดทำให้เราชะลอกลุ่มสกินเครื่องสำอางไปบ้าง และเมื่อการขายกล้วยไม้จำกัด เราก็ปรับกลยุทธ์การขายในประเทศ

โดยมีช่องทางการจำหน่ายทางออนไลน์ จัดจำหน่ายกล้วยไม้สายพันธุ์ต่าง ๆ สามารถเลือกสายพันธุ์ รูปแบบได้ตามต้องการ พร้อมทั้งมีหน้าเพจ มีโปรโมชั่นลดราคาตามเทศกาล และอัพเดตสินค้าใหม่ ๆ ตลอด และปีที่ผ่านมาเพิ่งริเริ่มธุรกิจที่ 6.นั่นคือ building & energy construction & solar installing ธุรกิจก่อสร้างและติดตั้งโซลาร์

แปลงสวนเป็นคาเฟ่

ล่าสุดในปีนี้ เราเพิ่งเปิดบริการธุรกิจ cafe & restuarant ชื่อว่า “The Azimah” ซึ่งผมภูมิใจนำเสนอมาก เพิ่งเปิดบริการไม่นานมานี้ เป็นธุรกิจที่ส่งต่อให้ลูก ๆ เป็นคนทำเอง เราก็ได้รับไอเดียจากการที่มีพื้นที่สวนกล้วยไม้อยู่แล้ว บนพื้นที่ประมาณ 350 ไร่ สวนกล้วยไม้ ต.บัวงาม อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี ให้ลูกค้าได้ชมบรรยากาศ

และช็อปปิ้งกล้วยไม้หลายสายพันธุ์จากไทยออร์คิดเอง และใช้บริการคาเฟ่ที่ออกแบบเป็นสไตล์มินิมอล โดยเราได้เน้นเรื่องความพิเศษของกาแฟ coffee specialty อีกทั้งยังมีจำหน่ายถั่งเช่า ซึ่งเรามีพาร์ตเนอร์และนำเข้าถั่งเช่าโดยตรงจากประเทศภูฏาน

ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นถั่งเช่าที่มีคุณภาพ ได้รับการรับรองมาตรฐานด้านสุขภาพ ถือเป็นรายแรก รายเดียว ที่นำเข้ามาจากแหล่งผลิตคุณภาพ เราจำหน่ายราคา 350 บาทต่อแก้ว สำหรับลูกค้าที่มีกำลังซื้อ เพื่อรักษาสุขภาพ มีจำหน่ายที่คาเฟ่แห่งนี้เท่านั้น

โอกาสสร้างรายได้จากธุรกิจใหม่

ภาพรวมรายได้ปีที่ผ่านมา 2563 ทั้งเครือ แน่นอนว่าได้รับผลกระทบจากโควิด จากที่มีรายได้ต่อปี 500 กว่าล้านบาทหายไปเกือบ 300 ล้านบาท แต่ในปีนี้พยายามที่จะทำธุรกิจนอกจากกล้วยไม้เพิ่มขึ้น นั่นคือตั้งเป้าหมายที่จะเพิ่มรายได้จากกลุ่มก่อสร้างและติดตั้งโซลาร์ และธุรกิจใหม่ cafe & restuarant

โดยในส่วนของธุรกิจพลังงาน เป็นธุรกิจที่ผมมองว่า เทรนด์ของการหันมาใส่ใจสิ่งแวดล้อม พลังงานสะอาด พลังงานทดแทน ทั่วโลกต่างให้ความสำคัญมาก รวมทั้งรัฐบาลเองส่งเสริมพลังงานแสงอาทิตย์ โซลาร์รูฟท็อป หรือโซลาร์ประชาชนอย่างต่อเนื่อง

ทำให้เราเริ่มจริงจังกับธุรกิจโซลาร์เซลล์ ซึ่งจากการร่วมทุนกับนักธุรกิจจีนที่ผ่านมา ภายใต้บริษัท ทีโอซี กรีนเอนเนอร์จี จำกัด แบรนด์ TGE ยังมีโอกาสอีกมาก และคาดว่าจะเติบโตใน 5 ปี โดยจุดแข็งเรามีบริการหลังการขาย 25 ปี พร้อมคอนเซ็ปต์โครงการทำก่อน จ่ายทีหลัง

และปีนี้การติดตั้งตามบ้านได้รับความนิยมมาก ผลตอบรับยอดขายดีมาก แม้ว่ารวมติดตั้งเบ็ดเสร็จ 2 แสนบาท แต่เราดูแลระยะยาว และประชาชนเองก็สามารถขายไฟฟ้าให้รัฐได้

“ผมมองว่าภายใน 5 ปีนี้ โซลาร์เติบโตสบายเลย หากมีการแข่งขันมากขึ้นผู้เล่นมากขึ้น ผู้ประกอบการไม่ว่าธุรกิจไหนก็ต้องปรับตัว การไฟฟ้าเองก็เช่นกัน โดยเฉพาะเป็นเทรนด์และเป็นหนึ่งในนโยบายที่รัฐบาลให้ความสำคัญ ยิ่งดีเลย ซึ่งเราเริ่มจากธุรกิจนี้จากการขาย LED คุณภาพสูง

เทคโนโลยีจากนิคมอุตสาหกรรมเสิ่นเจิ้น มากว่า 4-5 ปีแล้ว จนปัจจุบันเริ่มรุกธุรกิจออกแบบ ติดตั้งโซลาร์เซลล์ ซึ่งนอกจากจะมีลูกค้าติดต่อเข้ามามาก ยังมีกลุ่มลูกค้าโรงงานอุตสาหกรรม และกลุ่มประเทศ CLMV ที่ต้องการจะติดตั้งแผงวงจรโซลาร์เซลล์อีกมาก”

ดึงพาร์ตเนอร์จีนลุยบ้านจัดสรร

ขณะที่ธุรกิจก่อสร้าง และรับเหมาก่อสร้าง แม้ว่าจะเจอโควิดทำให้เรารายได้ลดลงในปีที่ผ่านมาเช่นกัน แต่เชื่อว่าหลังจากนี้เราจะมุ่งเน้นเพิ่มรายได้จากธุรกิจนี้ให้มากเช่นกัน โดยเฉพาะบ้านสำเร็จรูป

โดยมีพาร์ตเนอร์นักธุรกิจจีนสนใจทำธุรกิจกิจอสังหาฯ บ้านจัดสรรสำเร็จรูปค่อนข้างมาก รอที่จะเข้ามาทำธุรกิจ หลังจากตรุษจีนนี้เชื่อว่าจะเติบโตแน่นอน เพราะเราเองก็อยู่ระหว่างร่วมทุน มีที่ดินพร้อมแล้ว พื้นที่กว่าหมื่นตารางเมตรในมือที่วางไว้ทั่วประเทศ ซึ่งจองไว้แล้ว เราก็รอพาร์ตเนอร์เท่านั้น เท่าที่ได้พูดคุยการลงทุน ตอนนี้คนจีนยังสนใจและพร้อม รอเข้ามาทำธุรกิจในไทยมาก ๆ

ไม่รอการช่วยเหลือรัฐบาล

ทุกคนบาดเจ็บ และต้องยอมรับ บางคนประคองไหว บางคนไปไม่ได้ รัฐบาลก็พยายามอย่างเต็มที่ หากจะให้เสนอเพื่อส่วนรวมไม่ใช่เฉพาะธุรกิจเรา จะเป็นไปได้หรือไม่หากรัฐบาลเว้นการชำระหนี้ หรือช่วยเรื่องเครดิตบูโร ภายใน 2 ปีนี้ให้ยกไปก่อน

หลังจากโควิดจบแล้วค่อยมาเริ่มใหม่ ให้สถาบันทางการเงินมาตรวจสอบและอนุมัติพิจารณากันใหม่ เพราะหลายคนเป็นหนี้เยอะมาก NPL สูงมาก ถ้าถามผมโควิดครั้งนี้และระลอกใหม่รุนแรงไหม รุนแรงนะครับ เรารอดได้ และพอจะทำได้ แต่บางรายไม่ไหวจริง ๆ คงต้องมีทางออกให้เขาได้บรรเทาบ้าง

การเรียนรู้จากวิกฤตโควิด

สุดท้าย “นายเจตน์” ได้บทสรุปว่า เราคงจะต้องเรียนรู้ต่อไปไม่มีสิ้นสุด ถึงจะมีวัคซีนโควิดก็ต้องรู้จักปรับตัวมากกว่าที่ปรับตัวแล้ว คงต้องปรับตัวไปอีกระยะหนึ่ง เพราะทุกวันนี้เราปรับกันเพื่อประคอง แต่เมื่อสถานการณ์ดีขึ้น เวลาผ่านไปต้องทำเชิงรุก และต้องทำให้ดียิ่ง ๆ ขึ้น

ต้องสามารถเปลี่ยนรูปแบบ เปลี่ยนแนวได้ ผมว่าถ้าเราจะทำการค้า หลาย ๆ คน หลายผู้ประกอบการ จะเห็นว่าโควิดน่าจะได้หันกลับมามองธุรกิจของเราเอง ได้ทบทวน วางแผนให้รอบคอบ เผลอ ๆ สิ่งที่สูญเสียไป และผ่านมาแล้ว อาจจะเป็นข้ออ้างปิดช่องความสูญเสียเหล่านั้นได้เพื่อพัฒนาให้ดีขึ้น