TDRI มั่นใจ “วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า” มีประสิทธิภาพ

ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ 
ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ 

ประธาน TDRI ขึ้นเวทีสัมมนา “วัคซีนเศรษฐกิจ วัคซีนประเทศไทย” ของประชาชาติธุรกิจ ระบุแอสตร้าเซนเนก้ามีประสิทธิภาพเพียงพอ  และนอกจากไทยจะป่วยด้วยโควิด-19 ยังมีโรคทางเศรษฐกิจ 3 โรคที่ต้องแก้ไข

ผลข้างเคียงแอสตร้าเซนเนก้าต่ำ

วันที่ 17 มีนาคม 2564 ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์  ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวในงาน สัมมนา “วัคซีนเศรษฐกิจ วัคซีนประเทศไทย” ของหนังสือพิมพ์ “ประชาชาติธุรกิจ” กล่าวว่า แม้ว่าการควบคุมโควิด-19 ที่ จ.สมุทรสาคร ดีขึ้นมาระยะหนึ่ง แต่ก็ยังเป็นไฟก้อนใหญ่ที่ยากจะดับหากไม่มีวัคซีน ดังนั้น วัคซีนจึงเป็นเครื่องมือสำคัญ

สิ่งที่เราเรียนรู้จากโควิด-19 แบ่งได้เป็น 2 เรื่อง คือ 1. มนุษย์เสียชีวิตจากโควิด-19 น้อยลง ซึ่งเกิดขึ้นจากหลายสาเหตุ เช่น การรักษาพยาบาลดีขึ้น การมียารักษาอาการที่เกิดจากโควิด-19 และมีความเข้าใจกับการจัดการโรคนี้มากขึ้น

2. มีอาการตกค้างจากโควิด-19 เช่น เมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน มีการวิจัยติดตามผู้ป่วยจากโรคนี้ 6 เดือนหลังจากออกจากโรงพยาบาล พบว่าคนกว่า 76% มีอาการตกค้าง เช่น มีความอ่อนล้า ซึ่งอาการคล้ายกันนี้พบในประเทศฝั่งทวีปตะวันตกด้วย

“ทั้งนี้วัคซีนโควิด-19 ของบริษัทต่าง ๆ ใช้ได้ผลดี และมีความเสี่ยงต่ำ โดยเฉพาะของแอสตร้าเซนเนก้าที่ประเทศไทยเลือก โดยจากข้อมูลการตีพิมพ์ในวารสารทางการแพทย์ เดอะแลนซิต (The Lancet) ประเทศอังกฤษ ระบุว่า ประสิทธิผลวัคซีนแต่ละตัวไม่ได้ต่างกัน โดยหลังจากอังกฤษเลือกวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า และไฟเซอร์ให้คนในประเทศที่มีอายุมากกว่า 70 ปี พบว่าประสิทธิภาพไม่ได้ด้อยไปว่ากัน”

Advertisment

ในขณะเดียวกัน อัตรากการเข้าโรงพยาบาลหลังจากฉีดวัคซีนแล้ว มีอาการรุนแรงน้อยลง จนคนจำหน่วยหนึ่งสามารถหายเองได้โดยไม่ต้องไปพบแพทย์ นอกจากนั้น วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าและไฟเซอร์ให้ผลข้างเคียงน้อยกว่า 0.5% และผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นไม่ได้รุนแรง คล้ายการเป็นไข้หวัดใหญ่ และยังไม่มีการพบผู้เสียชีวิตจากวัคซีนสองตัวนี้

ผู้นำทางการเมืองต้องสร้างความมั่นใจ

“ดร.สมเกียรติ” บอกว่า รายงานของนิตยสาร The Economist ระบุ บางประเทศอย่างสหรัฐอเมริกา อิสราเอล เป็นต้น เป็นประเทศที่จะฉีดวัคซีนครบจำนวนประชากรภายในปี 2564 ส่วนกลุ่มประเทศในยุโรปและแคนาดา จะฉีดวัคซีนครบกลางปี 2565 และประเทศไทยเป็นปลายปี 2565

“แต่ถ้าดูประเทศเพื่อนบ้านของไทย เช่น พม่า ลาว กัมพูชา มีความเป็นไปได้ที่จะฉีดวัคซีนหลังปี 2565 ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อประเทศไทยในการเกิดการระบาดโควิด-19 อีกระลอก”

สาเหตุที่ทำให้บางประเทศเริ่มฉีดวัคซีนช้ามี 3 กลุ่ม หลัก ๆ คือ

Advertisment

1. กลุ่มประเทศยากจน เช่น บางประเทศในแอฟริกา

2. กลุ่มประเทศที่มีประชากรมาก เช่น จีน และอินเดีย

3. กลุ่มประเทศที่ควบคุมการระบาดได้ดี จึงมีความตื่นตัวช้าในเรื่องของวัคซีน เช่น ไทย เกาหลีใต้ และเวียดนาม

ทั้งนี้ ระดับการยอมรับการฉีดวัคซีนในไทยอยู่ในระดับสูง โดยการสำรวจของยูกอฟ (YouGov) เมื่อปลายปี 2563 ระบุว่า ไทยเป็นประเทศที่พร้อมกับการฉีดวัคซีนสูงที่สุดในโลก แต่หลังจากนั้นการยอมรับกรฉีดวัคซีนของคนไทยก็ตกลงมาเรื่อย ๆ

“ดังนั้น การที่ผู้นำทางการเมืองส่งสัญญาณสร้างความมั่นใจให้ประชาชนเป็นเรื่องสำคัญมาก ถ้าหากบางคนในรัฐบาลกลัวการฉีดวัคซีนขึ้นมา และสื่อสารไม่ดี ก็จะทำลายความเชื่อมั่นในวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าของประชาชน”

3 โรคทางเศรษฐกิจ

“ดร.สมเกียรติ” ยกตัวอย่างคำพูดของ ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานบอร์ด TDRI ที่พูดไว้ 4-5 ปีที่แล้วว่า เศรษฐกิจไทยป่วยด้วยโรค 3 โรค ได้แก่ 1.ไข้หวัด 2.ข้อเข่าเสื่อม 3. ขาดความมั่นใจ

เศรษฐกิจแบบโรคไข้หวัดคือ การที่ไทยสามารถได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกได้ทุกเมื่อ เมื่อเกิดสภาพเศรษฐกิจตกต่ำในโลก แน่นอนว่าส่งผลกระทบต่อประเทศไทยด้วย แต่การป่วยแบบนี้เราใช้มาตรการทางการเงินมาช่วยกระตุ้นได้

เศรษฐกิจแบบโรคข้อเข่าเสื่อมคือ ปัญหาโครงสร้างพื้นฐานที่ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยเติบโตลดลง เช่น กำลังแรงงาน และการไม่เพิ่มความสามารถในการใช้เทคโนโลยีดีในประเทศได้ดีพอ

และเศรษฐกิจแบบโรคขาดความมั่นใจคือ การที่ไทยรู้สึกว่าเศรษฐกิจกำลังอยู่ในช่วงขาลง ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะประเทศคู่แข่งอย่างเวียดนาม กำลังอยู่ในช่วงขาขึ้น

ดังนั้น ไทยจึงหวั่นไหวกับข่าวต่าง ๆ ได้ง่าย เช่น โรงงานต่างชาติย้ายออกจากไทยไปตั้งฐานการผลิตที่เวียดนาม มีการรับการลงทุนจากต่างประเทศสูงกว่าไทย และมีการส่งออกสูงกว่าไทย สิ่งเหล่านี้สร้างความกังวลว่าเราจะไม่สามารถแข่งขันได้

“อันที่จริงประเทศไทยมีขีดความสามารถในการแข่งขันที่สูงกว่าเวียดนาม และมีความพร้อมมากกว่า โดยการจัดอับดับการแข่งขันทางเศรษฐกิจของ World Economic Forum (WEF) ปี 2564 จัดให้ประเทศไทยอยู่ที่อันดับ 40 ส่วนเวียดนามอยู่ที่อันดับ 67 ซึ่งไทยชนะเวียดนามทุกตัวชี้วัด แต่ที่น่ากังวลคือ เวียดนามไต่อันดับขึ้นเรื่อย ๆ ในขณะที่ไทยอันดับลดลงเรื่อย ๆ โดยปี 2563 ไทยอยู่อันดับ 38 และเวียดนามอยู่อันดับที่ 77 ดังนั้น หากเราไม่แก้ไขปัญหา สักวันเวียดนามจะแซงหน้าเราได้”