ไทยปลอดเชื้อกาฬโรคม้า ปศุสัตว์ขอ OIE คืนสถานะ

นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต
นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต

“ปศุสัตว์” จ่อยื่นขอ OIE คืนสถานะไทย หลังปลอดเชื้อกาฬโรคม้าครบ 150 วัน จากวันพบเชื้อวันสุดท้าย 10 ก.ย. 63 ม้าตายไม่ถึง 3%

นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ได้รับรายงานผลการประชุมเพื่อติดตามความคืบหน้าในการสร้างความร่วมมือคืนสถานะปลอดโรคกาฬโรคแอฟริกาในม้า (AHS) จากนายสัตวแพทย์ชัยวัฒน์ โยธคล รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ ซึ่งได้เข้าประชุมร่วมกับทางองค์การสุขภาพสัตว์โลก (OIE) เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

ได้รายงานว่าไทยไม่พบม้าตายจากโรค AHS มาเป็นระยะเวลาต่อเนื่องนาน 150 วันแล้ว นับจากวันที่ 10 กันยายน 2563 ซึ่งถือว่าเป็นข่าวดีโดยขณะนี้ได้เร่งร่วมหารือบูรณาการทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาแนวทางขอคืนสถานะภาพว่าไทยเป็นประเทศที่ปลอดโรคจาก OIE โดยเร็วที่สุด

รายงานข่าวระบุว่า ก่อนหน้านี้ทางคณะกรรมการแก้ไขปัญหากาฬโรคแอฟริกาในม้า ได้ประชุมครั้งที่ 1/2564 และคณะกรรมการพิจารณาการใช้วัคซีนกาฬโรคแอฟริกาในม้า (AHS) ครั้งที่ 1/2564 เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 โดยมีนายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโตอธิบดีกรมปศุสัตว์ เป็นประธานการประชุม

พร้อมด้วยนายสัตวแพทย์ชัยวัฒน์ โยธคล รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ ผู้เชี่ยวชาญ สำนักควบคุม ป้องกันและบำบัดโรคสัตว์ กองสารวัตรและกักกัน สถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ สำนักกฎหมาย กองความร่วมมือด้านการปศุสัตว์ระหว่างประเทศ กองสวัสดิภาพสัตว์และสัตวแพทย์บริการ กองควบคุมอาหารและยาสัตว์ กองคลัง ผู้แทนภาคมหาวิทยาลัย เอกชน สมาคมผู้ประกอบการผู้เลี้ยงม้า หน่วยม้าทรงประจำพระองค์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช และหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง

Advertisment

ซึ่งในที่ประชุมได้สรุปภาพรวมจากการใช้โปรแกรมจำลองทางระบาดวิทยา เพื่อประเมินการหมดไปของเชื้อไวรัสจากพื้นที่ ประกอบด้วย โซน 1 จ.ปราจีนบุรี นครนายก โซน 2 จ.นครราชสีมา อ.ปากช่อง และโซน 3 เพชรบุรีและประจวบคีรีขันธ์ ทั้งหมดรายงานว่า มีการพบเชื้อครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 10 กันยายน 2563 จากนั้นเป็นต้นมาก็ไม่ได้มีการพบเชื้ออีกเลย นับถึงวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2564 ก็ครบ 150 วัน

และมาถึงปัจจุบันก็ถือว่าเกิน 150 วันแล้ว โดยมีม้าป่วยประมาณ 610 ตัว และตาย 568 ตัว จากจำนวนม้าทั่วประเทศ 18,557 ตัว หรือคิดเป็นสัดส่วนไม่ถึง 3% ของจำนวนม้าทั้งประเทศ

ทั้งนี้ โรคกาฬโรคม้าเกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อเดือนมีนาคม 2563 มีม้าตายกะทันหันที่ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ก็ได้ให้เจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ พบม้าป่วย 11 คอก มีอาการซึม ไม่กินอาหาร มีจุดเลือดออกที่เยื่อบุตา จึงได้เก็บตัวอย่างทางระบาดวิทยามาตรวจสอบพบว่า ม้าเป็นโรคกาฬโรคในม้า

ซึ่งถือว่าเป็นโรคที่พบครั้งแรกในประเทศไทย โดยกาฬโรคในม้าเกิดจากเชื้อไวรัส โดยจะเกิดขึ้นในสัตว์เท่านั้น หรือส่วนใหญ่จะพบเจอในม้า ลา และล่อ ซึ่งเกิดจากการโดนลิ้น หรือยุงกัด สำหรับประเทศที่เคยพบเป็นแบบเฉียบพลันรุนแรง อาทิ อินเดีย ปากีสถาน และโมร็อกโก เป็นต้น จึงได้มีตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหากาฬโรคแอฟริกาในม้า ซึ่งมีนายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เป็นประธานดังกล่าว

Advertisment