กยท.ตั้งโต๊ะแถลง คลายปมราคายางตก ย้ำเดินหน้าสร้างเสถียรภาพราคายางพาราทั้งระบบ

นายธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย คลายปมประเด็นสถานการณ์ราคายางที่เกิดขึ้นว่า ราคายางเป็นไปตามกลไกการตลาด โดยจะปรับตัวขึ้นหรือลงขึ้นอยู่กับความต้องการซื้อและขาย หากย้อนหลังไปในปี พ.ศ.2554 ราคายางพุ่งสูงขึ้นมากที่สุด เนื่องจากมีปริมาณความต้องการใช้ยางเป็นจำนวนมาก ประกอบกับการเก็งกำไร ส่งผลให้เกิดปรากฏการณ์ยางฟีเว่อร์ ไม่เพียงแต่ในประเทศไทยที่มีการปลูกยางพาราเพิ่มมากขึ้น แต่หลายๆ ประเทศก็หันมาปลูกยางเพิ่มขึ้นเช่นกัน ทำให้พื้นที่ปลูกยางในช่วงปี 2553 – 2555 เพิ่มขึ้นประมาณ 11.9 ล้านไร่ ฉะนั้น ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับพื้นที่ปลูกยางเหล่านี้ ซึ่งเริ่มเก็บเกี่ยวผลผลิตได้แล้ว โดยเฉพาะพื้นที่ประเทศผู้ปลูกยางรายใหม่มีผลผลิตเพิ่มมากขึ้นจากปี 2559 สูงมาก เช่น กัมพูชา ผลผลิตเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 33.1 รองลงมา คือ อินเดีย ผลผลิตเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 21.0 และเวียดนาม ผลผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.3 จะเห็นได้ว่า ปริมาณผลผลิตย่อมเข้าสู่ตลาดมากขึ้นเป็นทวีคูณ สะท้อนสู่ความเป็นจริงที่ว่า ผลผลิตยางล้นตลาด (over supply) และนี่คือสถานการณ์ที่ทั่วโลกกำลังเผชิญ โดยเฉพาะประเทศผู้ผลิตยางที่จะต้องรับมือและแก้ปัญหา และในอนาคต ยังคงมีแนวโน้มสูงขึ้น หากเราไม่ปรับวิธีคิด วิธีดำเนินงาน ก็ยังคงเผชิญอยู่กับวัฏจักรการขึ้นลงของราคาแบบเดิมๆ ซ้ำรอยปัญหาเดิมๆ ที่เป็นกับดักความยากจนของภาคเกษตร

“หากพิจารณาสถานการณ์ราคายางในประเทศระยะเวลา 2 เดือนที่ผ่านมา ระดับราคายางในประเทศมีการปรับตัวไปในทิศทางเดียวกันกับราคายางในตลาดล่วงหน้าทั้ง 3 ตลาดของต่างประเทศ (โตเกียว เซี่ยงไฮ้ ไซคอม) ที่มีการปรับตัวลดลงทุกตลาด นั่นหมายถึงไม่เพียงแค่ราคายางในประเทศเท่านั้นที่ปรับตัวลดลง แต่ราคาของตลาดซื้อขายยางล่วงหน้าในต่างประเทศก็ปรับลดลงเช่นกัน ซึ่งเป็นผลมาจากปัจจัยพื้นฐานโดยรวมของโลก และการซื้อขายทำกำไรในตลาดซื้อขายล่วงหน้าทั่วโลก”

​นายธีธัชกล่าวต่อว่า กระแสการวิพากษ์วิจารณ์ในการบริหารจัดการสถานการณ์ยางพาราที่เกิดขึ้น ก่อนอื่นอยากให้ผู้มีส่วนได้เสียในวงการยางพาราไทยทุกคนทำความเข้าใจก่อนว่าบทบาทหน้าที่หลักของ กยท. ในการบริหารจัดการยางพาราของทั้งระบบอย่างครบวงจร โดยเฉพาะประเด็น การพัฒนาระบบตลาดยางในประเทศ กยท.จะทำหน้าที่หลักในการสร้างให้เกิดความมีเสถียรภาพของราคา ลดความเสี่ยงทางการตลาด ฉะนั้น ในช่วงเวลาที่ผ่านมา กยท.มีความพยายามลดความผันผวนของราคายางภายในประเทศผ่านมาตรการต่างๆ ซึ่งหลายมาตรการไม่เคยปรากฏมาก่อนในวงการยางพาราท่ามกลางสถานการณ์ตลาดโลกที่มีการราคาปรับตัวลดลง

ขณะที่มาตรการบูรณาการระหว่างรัฐกับเอกชน โดยการจัดตั้งบริษัทร่วมทุนยางพาราไทย จำกัด เป็นกลไกในการแก้ปัญหาราคาเพื่อให้เกิดเสถียรภาพซึ่งนำมาใช้ครั้งแรกในยุคนี้ ซึ่งเป็นกระบวนการให้เกิดราคาอ้างอิงที่ดีขึ้นอย่างเป็นธรรมสำหรับการซื้อขายในตลาดภาคเอกชนทั่วทุกพื้นที่ ด้วยวิธีการเข้าซื้อยางในราคาชี้นำ ณ ตลาดกลางยางพารากยท.ทั้ง 6 แห่ง หมุนเวียนสับเปลี่ยนกัน และบริษัทร่วมทุนฯ จะนำยางพาราที่ประมูลได้ในแต่ละครั้ง นำไปแปรรูปเพื่อจำหน่ายสู่ภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ และตลาดต่างประเทศต่อไป ทั้งนี้ ในช่วงดำเนินการเริ่มต้น จะต้องมีการปรับเปลี่ยน ควบคู่กับการแก้ไขปัญหาร่วมกัน เช่น ในกรณีการขนย้ายยางออกนอกตลาดกลางหลังจากประมูลได้ จะต้องใช้ระยะเวลาและเอกสารในกระบวนการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง แต่ทุกสิ่งทุกอย่างอยู่ภายใต้เจตนารมณ์ในการผลักดันให้มีราคาอ้างอิงที่สูงขึ้นและเป็นธรรมสูงสุดทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคเกษตรกรและสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง

Advertisment

ประกอบกับมาตรการในการสร้างเสถียรภาพยางโดยเพิ่มกำลังซื้อและบริหารจัดการตลาดยางของ กยท. ซึ่งได้มีการกำหนดระเบียบตลาดยางพาราในการประมูลยางผ่านตลาดกลาง กยท. โดยมีการประกาศราคากลางเปิดการซื้อขายแต่ละวันทำการ (Spot market)

ในขณะที่ภาครัฐ มีนโยบายและมาตรการในการส่งเสริมและสนับสนุนแก่ทุกภาคส่วนในช่วงปี 2560 ที่ผ่านมา เพื่อสร้างความเข้มแข็งและพัฒนาอาชีพการทำสวนยาง ตลอดจนการเพิ่มมูลค่าการใช้ยางให้มากยิ่งขึ้น เพื่อกระตุ้นความต้องการใช้และส่งผลต่อราคายางในที่สุด เช่น

1.โครงการสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกรชาวสวนยาง สิ้นสุดโครงการเมื่อเดือนกันยายน 2560 ซึ่ง กยท. ได้จ่ายเงินแก่เกษตรกรเจ้าของสวนยาง เป็นเงิน 6,436,077,525 บาท จำนวน 715,336 ครัวเรือน และจ่ายเงินแก่เกษตรกรคนกรีดยาง เป็นเงิน 4,094,461,350 บาท จำนวน 678,642 ครัวเรือน

2.โครงการสนับสนุนสินเชื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่สถาบันเกษตรกรเพื่อรวบรวมยางพาราภายใต้แนวทางยางพาราทั้งระบบ

Advertisment

3.โครงการสนับสนุนสินเชื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่ผู้ประกอบกิจการยาง วงเงิน 10,000 ล้านบาท โดยรัฐบาลสนับสนุนการชดเชยดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ 3 ต่อปี จำนวนไม่เกิน 300 ล้านบาท

4.โครงการสนับสนุนสินเชื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่ผู้ประกอบกิจการยาง (ยางแห้ง) วงเงินสินเชื่อ 20,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นโครงการที่สามารถดูดซับปริมาณยางแผ่นในประเทศ ขณะนี้ได้ผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทย พร้อมกันนี้ กยท.ได้เสนอขอขยายเวลา การรับสมัครผู้เข้าร่วม

“โครงการสนับสนุนสินเชื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่ผู้ประกอบกิจการยางผลิตภัณฑ์ยาง วงเงิน 15,000 ล้านบาท” ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างรอการนำเข้าพิจารณาในที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ ที่จะจัดขึ้นในเดือนพฤศจิกายนนี้ต่อไป”

นายธีธัชกล่าวเพิ่มเติมว่า นโยบายในปีงบประมาณ 2561 มีการขับเคลื่อนโครงการสำคัญ เพื่อสร้างเสถียรภาพราคา และสร้างความมั่นคงให้แก่ผู้ปลูกยาง ภายใต้กลยุทธ์ 1 ลด 3 เพิ่ม ลด คือ ลดพื้นที่ เพิ่มการใช้ยางพาราภายในประเทศ และเพิ่มรายได้ของคนในประเทศ มาจากมูลค่าเพิ่มที่ได้จากการแปรรูเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ทั้งการรณรงค์ใช้ภายในประเทศ และการส่งออกในรูปของผลิตภัณฑ์ยาง