TDRI แปลงร่างกองทุนSME เท 8 พันล้านพัฒนาวิสาหกิจ

แปลงร่างกองทุนเอสเอ็มอี 2 หมื่นล้านสู่ พ.ร.บ.กองทุนพัฒนาวิสาหกิจ หลังพบยอดปล่อย 2 ปี ไปแค่ 12,000 ล้านบาท เหลือ 8,000 ล้าน ติดปัญหาเพียบ กระทรวงอุตสาหกรรมส่งไม้ TDRI ศึกษาใกล้สะเด็ดน้ำ หวังอุ้ม SMEs

แหล่งข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรมเปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ กระทรวงได้มอบให้สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ศึกษาแนวทางจัดตั้งกองทุนพัฒนาวิสาหกิจตามแนวประชารัฐ ภายใต้ พ.ร.บ.กองทุนพัฒนาวิสาหกิจ พ.ศ. … และได้เริ่มเปิดรับฟังความคิดเห็นไปแล้วหลายครั้ง คาดว่าจะได้ข้อสรุปเร็ว ๆ นี้ เพื่อวางแนวทางช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ที่ยังเข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุนที่จากเดิมที่เคยมีกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ (กองทุน 20,000 ล้านบาท) เมื่อปี 2560 ในสมัยนายอุตตม สาวนายน อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

ซึ่งในขณะนั้นจะเป็นรูปแบบของการกระจายงบฯลงไปให้แต่ละจังหวัด เพื่อคัดเลือกผู้ประกอบการ SMEs ที่มีศักยภาพ สามารถไปต่อได้ และรายที่ต้องการใช้เป็นทุนหมุนเวียนเพื่อก่อตั้งกิจการ โดยระบุประเภทกิจการในแต่ละจังหวัดที่ให้การสนับสนุนเป็นพิเศษ

แต่ภายหลังจากที่ตั้งกองทุนขึ้นมา พบปัญหาเรื่องใช้เวลาการพิจารณานานมากถึง 9 เดือน และ SMEs ทั่วประเทศมีกว่า 3.1 ล้านราย แต่เข้าไม่ถึง โดยจากการรวบรวมข้อมูลปี 2560 มีผู้สมัคร 4,179 ราย วงเงิน 21,401 ล้านบาท ผ่านการอนุมัติเบื้องต้น 2,300 ราย หรือประมาณ 55% วงเงิน 11,780 ล้านบาท

และในปี 2561 มีผู้สมัคร 4,732 รายวงเงิน 14,345 ล้านบาท ผ่านการอนุมัติเบื้องต้น 3,427 ราย หรือประมาณ 72% วงเงิน 10,579 ล้านบาท ในปี 2562 วงเงินก้อนดังกล่าวเหลืออยู่ประมาณ 8,000 ล้านบาท และได้มีการโยกไปอยู่ในกองทุนอื่น ๆ เพื่อช่วยเหลือผ่านเครื่องมือของธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME D Bank หรือ ธพว.) และกองทุนยังไม่สามารถหาแหล่งเงินทุนเพิ่มเติมได้เพราะเป็นงบประมาณที่รัฐสนับสนุน

นอกจากนี้ยังพบปัญหาว่า กองทุนไม่สามารถบริหารจัดการหนี้กองทุนได้ และบางจังหวัดไม่สามารถอนุมัติวงเงินให้กับ SMEs ได้เลย เมื่อเงินกองทุนได้ทยอยปล่อยไประยะหนึ่ง ก็จะมีการทยอยคืนตามเงื่อนไขการกู้ แต่กลับต้องเจอวิกฤตโควิด-19 ทำให้บางรายไม่สามารถชำระเงินต้นและดอกเบี้ยได้ทันและกองทุนยังไม่มีการเปิดรับสินเชื่อเพิ่มดังนั้น จึงจำเป็นต้องแปลงร่างกองทุน 20,000 ล้านบาทดังกล่าวให้เป็นกองทุนพัฒนาวิสาหกิจตามแนวประชารัฐ มีกฎหมายขึ้นมารองรับ เพื่อจะมีเงินสนับสนุนระยะยาว

สำหรับกองทุนพัฒนาวิสาหกิจตามแนวประชารัฐ (ตามกราฟิก) จะมุ่งเป้าช่วยเหลือ SMEs ผ่านรูปแบบของสินเชื่อ 3 เฟส คือ เฟส 1 สินเชื่อ SMEs เพื่อเริ่มต้นธุรกิจ, เฟส 2 สินเชื่อหมุนเวียนเสริมสภาพคล่อง, เฟส 3 สินเชื่อเพื่อการขยายกิจการ/การลงทุนมีสถาบันการเงินทั้งรัฐ-เอกชนเข้ามาจัดการ และมีบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เป็นผู้ค้ำประกันสินเชื่อให้ SMEs

โดยเงินของกองทุนพัฒนาวิสาหกิจนี้จะถูกโอนมาจากกองทุน 20,000 ล้านบาทเดิม รวมถึงมีเงินที่รัฐจัดสรรให้จากงบประมาณรายจ่ายประจำปี และรายได้จากทรัพย์สินอื่น ๆ ทั้งนี้จะยังอยู่ภายใต้การบริหารจัดการของสำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเช่นเดิม