สุดยอด 10 ผู้ประกอบการ รุกจับคู่ธุรกิจออนไลน์ เจาะตลาดอินเดีย

ผู้ชนะการแข่งขันประกวดแผนธุรกิจ DTN Business Plan Award 2020 ลุยจับคู่ธุรกิจสินค้าอาหารและเกษตรแปรรูปแบบออนไลน์กับผู้นำเข้าอินเดีย ชี้! เป็นโอกาสดีในการเจาะตลาด ในช่วงโควิด-19 คาดเกิดมูลค่าได้ 150 ล้านบาทในครั้งนี้

วันที่ 25 มิถุนายน 2564 นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานเปิดกิจกรรมจับคู่ธุรกิจระหว่างผู้ประกอบการสินค้าอาหารและเกษตรแปรรูปไทยกับอินเดียรูปแบบออนไลน์ (ผ่านระบบ Zoom) ณ กระทรวงพาณิชย์ ซึ่งกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศจัดขึ้น ภายใต้โครงการ DTN Business Plan Award 2020 “ชี้ช่องทางโอกาส บุกตลาดด้วย FTA” ว่า การดำเนินการครั้งนี้ได้รับความร่วมมือจากกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ และสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศของไทยประจำอินเดีย ทั้ง 3 แห่ง คือ กรุงนิวเดลี เมืองเจนไน และเมืองมุมไบ ในการเปิดเจรจาธุรกิจออนไลน์

กิจกรรมในครั้งนี้ ได้นำผู้ประกอบการอาหารและเกษตรแปรรูปของไทย 10 ราย ที่ชนะการแข่งขันประกวดแผนธุรกิจมาจับคู่ธุรกิจกับผู้นำเข้าอินเดียผ่านระบบออนไลน์ โดยมีผู้นำเข้าอินเดียให้ความสนใจเข้าร่วมกว่า 33 บริษัท ซึ่งเป็นผู้นำสินค้าอาหาร เครื่องดื่ม และอาหารแปรรูปของไทย เข้าเจาะตลาดอินเดีย

โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งผู้บริโภคอินเดียหลีกเลี่ยงการเดินทางออกนอกเคหสถาน ทำให้มีความต้องการซื้อสินค้าประเภทอาหารและเกษตรแปรรูป อาทิ ธัญพืช น้ำมันพืช เกลือ ถั่ว ขนมทานเล่น และเครื่องดื่ม โดยซื้อผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ซึ่งเป็นที่นิยมในอินเดีย เช่น Amazon, Big Basket, Hallo Basket และ Grover มากขึ้น

“การจับคู่ธุรกิจครั้งนี้จะเป็นประตูและสร้างโอกาสทางการค้าให้กับสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปของไทยในการเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดในตลาดอินเดียให้สูงกว่า 0.6% ในปัจจุบัน รวมถึงประชาสัมพันธ์สินค้าไทยให้เป็นที่รู้จักและจดจำ ซึ่งจะทำให้มูลค่า การส่งออกของไทยในตลาดอินเดียจะเพิ่มมากขึ้นอย่างแน่นอน โดยจากการจับคู่ธุรกิจในครั้งนี้คาดว่าจะมีมูลค่าราว 150 ล้านบาท”

สำหรับผู้ประกอบการ จำนวน 10 ราย ที่เข้าร่วมกิจกรรมจับคู่ธุรกิจ ได้แก่ (1) บริษัท ครูยุ คอทเทจ จำกัด (ผลิตภัณฑ์ธัญพืชอบกรอบชนิดแท่ง) (2) บริษัท ชาร์มมิ่งกรุ๊ป จำกัด (ผลิตภัณฑ์ขนมพริกกรอบ ผสมเมล็ดเจีย) (3) บริษัท เชียงใหม่ไบโอเวกกี้ จำกัด (ผลิตภัณฑ์น้ำมะนาวคั้นสด 100%) (4) บริษัท ไซน์ชายน์ จำกัด (ผลิตภัณฑ์นมถั่วเพื่อสุขภาพ)

(5) บริษัท ทีบีที เทรดดิ้ง จำกัด (ผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มผสมเนื้อว่านหางจระเข้ น้ำองุ่น) (6) บริษัท นาสาร ฟู้ด โปรดักซ์ จำกัด (ผลิตภัณฑ์เงาะอบแห้ง) (7) บริษัท นิวทริ-ไฟว์ ฟู้ด จำกัด (ผลิตภัณฑ์ข้าวกล้องอินทรีย์อบกรอบผสมมันฝรั่ง ผักและผลไม้) (8) บริษัท มาดามแมงโก้ จำกัด (ผลิตภัณฑ์ข้าวป๊อป) (9) บริษัท สมศรีไทยเฮิร์บ จำกัด (ผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มมะกรูดผสมสมุนไพรสกัด) (10) บริษัท หมื่นลี้ โกลบอล เทรด จำกัด (ผลิตภัณฑ์อาหารไทยสี่ภาคตำรับไทยโบราณ)

ขณะที่การใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรี (FTA) ระหว่างไทยกับอินเดีย ได้แก่ FTA ไทย-อินเดีย (บังคับใช้ตั้งแต่ปี 2547) และ FTA อาเซียน-อินเดีย (บังคับใช้ตั้งแต่ปี 2553) ที่ส่งผลให้อินเดียลด/เลิกการเก็บภาษีศุลกากรกับสินค้าส่งออกจากไทยแล้วกว่า 5,220 รายการ เช่น อาหาร ผลไม้ อาหารทะเลกระป๋อง อาหารปรุงแต่ง และผักผลไม้แปรรูป เป็นต้น จะช่วยเพิ่มโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยสามารถสร้างรายได้จากการจับคู่ธุรกิจและส่งออกไปอินเดียได้มากขึ้น และยังถือเป็นความสำเร็จของการร่วมมือกันทำงานระหว่างหน่วยงานในกระทรวงพาณิชย์ด้วย

ทั้งนี้ อินเดียถือเป็นตลาดที่น่าสนใจเนื่องจากมีประชากรกว่า 1,300 ล้านคน โดยในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2564 การค้าไทย-อินเดีย มีมูลค่ารวมกว่า 5,954.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (180,773.4 ล้านบาท) ขยายตัวกว่า 54% จากช่วงเดียวกันของปี 2563 โดยการส่งออกจากไทยไปอินเดียมีมูลค่า 3,280 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (99,000.7 ล้านบาท) ขยายตัวถึง 47%