แหลมฉบังเฟส 3 จ่อเซ็นสัญญา ก.ค. 64 EEC-กลุ่ม ซี.พี. นัดถกไฮสปีด

เลขาอีอีซี  clubhouse ปักธง ก.ค. 64 เซ็นปิดดีล “แหลมฉบังเฟส 3” วงเงิน 8.4 หมื่นล้าน ด้าน “ไฮสปีด 3 สนามบิน ยันจ่ายใช้สิทธิ์หมื่นล้าน ต.ค. 64 ไม่มีขอแบ่งชำระชัวร์ พร้อมเผยนัด “ซี.พี.” คุยสร้างโครงสร้างร่วม “ไทย-จีน” ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง

วันที่ 28 มิถุนายน 2564 นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) กล่าวใน Clubhouse ของวิทยุ จส.100 หัวข้อ “EEC ตอบโจทย์ยกระดับประเทศไทยสู่ประเทศพัฒนาจริงหรือ ?” ว่า ในเดือน ก.ค. 2564 นี้ คาดว่าจะสามารถลงนามโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ในส่วนของท่าเทียบเรือ F วงเงิน 84,361 ล้านบาทได้ ซึ่งขณะนี้ความคืบหน้าของโครงการอยู่ระหว่างการพิจารณาร่างสัญญาของโครงการโดยสำนักงานอัยการสูงสุด

ชงอีอีซี-ครม.-ลงนามจบ ก.ค.นี้

หลังจากที่อัยการสูงสุดพิจารณาแล้ว คาดว่าจะมีการนำเสนอร่างสัญญาให้คณะกรรมการอีอีซีและที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ และน่าจะลงนามได้ในเดือน ก.ค. 2564 ตามที่กล่าว

สำหรับโครงการท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 มีกลุ่มกิจการร่วมค้า GPC ประกอบด้วย บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) บริษัท พีทีที แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด (PTT TANK) บริษัท ไชน่า ฮาร์เบอร์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด เป็นผู้ได้รับคัดเลือกภายหลัง ครม.อนุมัติผลประโยชน์ตอบแทนทางการเงินขั้นต่ำ โดยเป็นค่าสัมปทานคงที่เท่ากับมูลค่าปัจจุบันสุทธิ (NPV)ที่ 29,050 ล้านบาท และค่าสัมปทานผันแปรที่ 100 บาทต่อทีอียู ซึ่งค่าสัมปทานคงที่ดังกล่าวต่ำกว่าผลประโยชน์ตอบแทนที่รัฐคาดหมายตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 30 ต.ค. 2561 มูลค่าปัจจุบันสุทธิ (NPV) ประมาณ 32,225 ล้านบาท

ยัน ต.ค. 64 ซี.พี. รับแอร์พอร์ตลิงก์บริหารต่อ

ส่วนความคืบหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ระยะทาง 220 กม. วงเงิน 224,544 ล้านบาท ที่มีการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เป็นผู้รับผิดชอบโครงการ และมี บจ.รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน (กลุ่ม ซี.พี.) เป็นผู้รับสัมปทานระยะเวลา 50 ปี ทางเอกชนยืนยันว่าจะรับมอบระบบรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์โดยจ่ายค่าใช้สิทธิจำนวน 10,671 ล้านบาทภายในวันที่ 24 ต.ค. 2564 นี้แน่นอน

ขณะที่กระแสข่าวว่า กลุ่ม ซี.พี. จะขอเจรจาเพื่อแบ่งจ่ายชำระค่าใช้สิทธิ์แทนการจ่ายงวดเดียวนั้น ขณะนี้ไม่ได้รับทราบข่าวดังกล่าว น่าจะไม่เป็นความจริง

นัดถกสร้าง บางซื่อ-ดอนเมือง

นอกจากนี้ ทางอีอีซีกำลังพิจารณาเจรจากับกลุ่ม ซี.พี. เพื่อขอแก้ไขสัญญาเล็กน้อย หลังจากที่ประชุมคณะกรรมการร่วมเพื่อความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย-จีน (Joint Committee หรือ JC) ครั้งที่ 29 เมื่อวันที่ 25 มิ.ย. 2564 เห็นชอบที่จะปรับงานออกแบบรายละเอียดของช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง ซึ่งทับซ้อนกับโครงการรถไฟความเร็วสูงไทยจีน สัญญาที่ 4-1 ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง

โดยในที่ประชุมให้รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เป็นผู้ก่อสร้างงานโยธาร่วมของไทย-จีน ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง โดยฝ่ายจีนเห็นชอบการออกแบบ ลดความเร็วในช่วงดังกล่าวเป็น 160 กม./ชม.แล้ว ดังนั้น จะต้องเจรจากับกลุ่ม ซี.พี. เพื่อขอแก้สัญญาบางส่วนเพียงเล็กน้อย ในลักษณะของการเร่งเนื้องานการส่งมอบพื้นที่ช่วงดังกล่าวให้เร็วขึ้นจากเดิมที่นำพื้นที่ส่วนนี้รวมอยู่ในการส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างเฟสที่ 3 ช่วงพญาไท-บางซื่อ-ดอนเมือง

ซึ่งความเป็นไปได้ในขณะนี้คือ การเจรจากับ ซี.พี. ขอให้แยกงานส่วนช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง ออกมาทำก่อน เพราะพื้นที่นี้ไม่มีอุปสรรคด้านการรื้อย้ายระบบสาธารณูปโภคมากเท่ากับช่วงพญาไท-บางซื่อ ซึ่งมีกำหนดส่งมอบพื้นที่หลังสุดและจะเริ่มต้นก่อสร้างภายใน 5 ปีหลังลงนามในสัญญา ซึ่งช้าเกินไป ต้องแยกงานส่วนบางซื่อ-ดอนเมืองออกมาดำเนินการก่อน