40 CEOs พลัส ชง 4 แนวทางเร่งด่วนแก้โควิดถึงมือนายก

นายกฯ เปิดเวที หารือ 40 CEOs พลัส ร่วมกับ หอการค้าไทย เสนอ 4 เรื่องเร่งด่วน แก้ปัญหาโควิด-19

วันที่ 21 กรกฎาคม 2564 นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยภายหลังการประชุมหารือ ผ่านระบบ Video Conference ของคณะผู้บริหารหอการค้าไทย และ 40 CEOs พลัส กับ นายกรัฐมนตรี เรื่องการแก้ไขปัญหาสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ภาคเอกชนมีความเป็นห่วงและกังวล เรื่องการจัดหาและจัดสรรวัคซีนที่ยังไม่เป็นไปตามเป้าหมาย รวมทั้งตัวเลขผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตที่ยังเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และสถานการณ์เศรษฐกิจที่ถดถอยและซบเซาอย่างมาก

ทั้งนี้ หอการค้าไทย และภาคเอกชน 40 CEOs พลัส พร้อมที่จะสนับสนุนและมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา เพื่อฝ่าวิกฤตในครั้งนี้ไปด้วยกันกับภาครัฐ โดยการหารือในครั้งนี้ภาคเอกชนพร้อมให้ข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์จริงที่เกิดขึ้น สำหรับเป็นแนวทางวางแผนเหตุการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต เพื่อที่ทุกฝ่ายจะได้เตรียมการรับมืออย่างมีประสิทธิภาพ โดยได้เสนอแนวทางและความคิดเห็น 4 ประเด็น ดังนี้

1 การควบคุมการแพร่ระบาด เช่น 1.1 จัดสรรและกระจายวัคซีนอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ โดยศูนย์ฉีดวัคซีนนอกโรงพยาบาล ทั้ง 25 ศูนย์ ของภาคเอกชนร่วมกับ กทม. มีความสามารถที่จะเสริมการฉีดและรองรับการกระจายวัคซีนได้ทุกกลุ่มอายุ โดยสามารถแบ่งเบาภาระของโรงพยาบาลได้ 1.2 การจัดยา อุปกรณ์ทางการแพทย์ และมาตรการ Isolation เช่น จัดให้มี Rapid Tests อย่างทั่วถึง สนับสนุนให้เอกชนจัดสถานที่ Isolation จัดให้มียารักษาอย่างพอเพียง เพิ่มจำนวนเตียงผู้ป่วยหนักและ ICU โดยเฉพาะในเขตสีแดงและแดงเข้ม

2 การเยียวยาผู้ประกอบการและประชาชน เช่น 2.1  ขยายมาตรการที่เคยดำเนินการไว้ก่อนหน้านี้ ในกรณีที่นายจ้างต้องหยุดประกอบกิจการตาม คำสั่งของราชการตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อหรือกฎหมายว่าด้วยการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน จากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ที่เกินกว่า 90 วัน ให้ได้รับการช่วยเหลือ 2.2  เร่งรัดออกมาตรการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานต่างด้าว ในอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น

เช่น เร่งรัดการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้กับแรงงานไทยและแรงงานต่างด้าวในประเทศ เร่งรัดขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวทุกกลุ่มที่ใบอนุญาตให้ทำงานสิ้นสุดลงตามผลของ กฎหมาย ตามมติ คณะรัฐมนตรี เร่งรัดการเจรจาเพื่อนำเข้าแรงงานต่างด้าว MOU จำนวน 500,000 ราย พร้อมทั้ง กำหนดแนว ทางการนำแรงงานใหม่เข้ามาโดยต้องปฏิบัติตามมาตรการการกักตัวและตรวจเชื้อโควิด-19 อย่างเคร่งครัดเร่งตรวจเชิงรุกในโรงงาน เพื่อป้องกันภาคการผลิตไม่ให้หยุดชะงัก

3 การกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น 1 .กระตุ้นผู้มีรายได้ และผู้มีกำลังซื้อสูง นำมาตรการ “ช้อปดีมีคืน” กลับมาอีกครั้ง โดยเพิ่มวงเงินไม่ต่ำกว่า 100,000  บาท ซึ่งจะสามารถกระตุ้นให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบได้ไม่ต่ำกว่าแสนล้านบาทภายใน 1 ไตรมาส 2. กระตุ้นเศรษฐกิจจากภาคเอกชนให้ลงทุนเพิ่ม ซึ่งจะทำให้ภาคการลงทุนคึกคัก และเกิดการจ้างงานหลายแสนรายโดยภาคเอกชน ซึ่งอยากให้ได้รับดอกเบี้ยเงินกู้ที่ต่ำพิเศษจากสถาบันการเงิน และสิทธิประโยชน์ทางภาษีจากรัฐบาล และ BOI 3. เร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐ 4. ทบทวนความพร้อมของประเทศในการเข้าสู่ New Economy โดยกำหนดนโยบาย และกฎหมายที่ชัดเจนเฉพาะธุรกิจบางประเภท และกำหนดโครงสร้างฐานภาษีใหม่

4 การฟื้นฟูประเทศไทย เช่น 1 .การฟื้นฟูประเทศไทย เปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาส ตั้งคณะกรรมการร่วมรัฐเอกชน เพื่อแสวงหาโอกาสที่เกิดขึ้นในสถานการณ์โควิด โดยมีตัวอย่างความร่วมมือของ Alliances for Actions (AfA) จากประเทศสิงคโปร์ มุ่งเป้าความสำเร็จในเรื่องที่มี Impact สูง และคนไทยได้ประโยชน์ เช่น เกษตรสมัยใหม่ ท่องเที่ยวคุณภาพสูง การศึกษายุคใหม่ และ Food for future เป็นต้น 2 .การฟื้นฟูเศรษฐกิจ ด้วย Digital Transformation โดยเสนอให้มี Super App. ที่ช่วยอำนวยความสะดวกกับนักท่องเที่ยวแบบครบวงจร ซึ่งต้องเกิดจากการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชน และกำหนดเจ้าภาพที่ชัดเจน

อย่างไรก็ดี จากการหารือนายกรัฐมนตรีพร้อมเปิดให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อน และข้อเสนอแนะของ 40 CEOs พลัส จะนำพิจารณาดำเนินการร่วมกันต่อไป อย่างไรก็ตาม หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย รวมถึงผู้บริหาร 40 CEOs พลัส ขอขอบคุณนายกรัฐมนตรีและคณะ ที่ได้รับฟังข้อเสนอแนะต่าง ๆ จากภาคเอกชนในวันนี้ โดยภาคเอกชนพร้อมที่จะสนับสนุนและบูรณาการการทำงานร่วมกับภาครัฐ เพื่อให้ภารกิจในการควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 เป็นไปอย่างบรรลุเป้าหมาย และเพื่อให้เกิดการฟื้นฟูเศรษฐกิจของไทยให้เข้มแข็งต่อไป