มิตซูบิชิ-ทรูผุดโปรเจ็กต์ 5G หนุนดีมานด์ AI จ่อลงทุนไทย

“มิตซูบิชิ” จ่อลงทุนผลิตหุ่นยนต์ในไทยเป็นฐานผลิตเพื่อส่งออกแน่ หากดีมานด์หุ่นยนต์แตะ 1.3 แสนตัว ล่าสุดจับมือ “ทรู คอร์ปอเรชั่น” ดึง 5G เปลี่ยนโรงงาน 4.0 ตั้งเป้า 10,000-20,000 โรง/ปี

นายวิเชียร งามสุขเกษมศรี กรรมการบริหาร บริษัท มิตซูบิชิ อีเล็คทริค แฟคทอรี่ ออโตเมชั่น (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตฮาร์ดแวร์ระบบ automation ครบวงจร เปิดเผยว่า

แผนการลงทุนนับจากนี้บริษัทอาจพิจารณาใช้ไทยเป็นศูนย์การผลิตหุ่นยนต์และระบบออโตเมชั่นเพื่อส่งออกเป็นหลัก เพื่อขยายตลาดไปยังภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ไทยเข้าสู่การพัฒนาอุตสาหกรรม 4.0 ขณะนี้พบว่าอุตสาหกรรมที่ลงทุนใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติมากขึ้นคือรถยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ ส่วนอุตสาหกรรมอื่น ๆ เริ่มมีการนำ 5G เข้ามาร่วมเพิ่มขึ้น จะเป็น e-Commerce กลาง-ใหญ่ อุตสาหกรรมการผลิต consumer products รวมถึงอุตสาหกรรมงานเชื่อม

อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดเป็นแผนลงทุนในอนาคต ว่าจะเกิดการลงทุนได้เมื่อใด ยังต้องสร้างดีมานด์ในประเทศให้เพิ่มมากกว่านี้ เมื่อใดที่ไทยมีความต้องการใช้หุ่นยนต์จำนวน 1.3 แสนตัว/ปี

ซึ่งถือเป็นดีมานด์ที่คุ้มกับการลงทุนเพิ่ม ก็จะเป็นจังหวะที่มิตซูบิชิ อีเล็คทริคฯ จะทำแผนการลงทุนในไทยเพิ่มเช่นกัน

ล่าสุด บริษัทร่วมกับทางบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท เลิศวิลัยแอนด์ซันส์ จำกัด จัดทำโครงการ e-F@ctory Mitsubishi Electric ซึ่งจะเป็นการผนวก factory automation กับ IT

ด้วยการนำเทคโนโลยี 5G เข้ามาบริหารจัดการโรงงานอุตสาหกรรมให้เป็นโรงงานอัจฉริยะ (smart factory) สอดคล้องกับการพัฒนาอุตสาหกรรม 4.0 ซึ่งจะเป็นทั้งการเพิ่มประสิทธิภาพการวางแผนการผลิต

การปรับปรุงคุณภาพ ลดต้นทุนการผลิต ควบคุมค่าใช้จ่าย และความปลอดภัยของข้อมูล คาดว่าจากความร่วมมือกันครั้งนี้จะผลักดันโรงงานอุตสาหกรรมและกลุ่ม SMEs ใช้ระบบอัตโนมัติให้ได้ 10,000-20,000 โรง/ปี จากปัจจุบันมีโรงงานทั่วประเทศรวมกว่า 3 แสนโรง

นายพิรุณ ไพรีพ่ายฤทธิ์ หัวหน้าคณะทำงานและกรรมการยุทธศาสตร์ 5G บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า โซลูชั่น e-F@ctory บนแพลตฟอร์มที่จะโชว์ศักยภาพของเทคโนโลยี 5G

ทำให้เกิดสายการผลิตที่ไม่มีมนุษย์ 100% ให้เกิดขึ้นได้จริง ซึ่ง 5G จะช่วยเรื่องสปีดความเร็วสูงความหน่วงต่ำ และการเชื่อมต่อ IOT ได้อย่างสมบูรณ์

เพราะไลน์การผลิตต้องมีการส่งข้อมูลแบบเรียลไทม์จากตัวเซ็นเซอร์ต่าง ๆ เพื่อนำไปประมวลผลและนำกลับมาบริหารจัดการไลน์การผลิต

นายประพิณ อภินรเศรษฐ์ กรรมการบริหาร บริษัท เลิศวิลัยแอนด์ซันส์ จำกัด หนึ่งในพันธมิตรของ Mitsubishi Electric กล่าวว่า การติดตั้งระบบ factory automation ในสถานประกอบการหรือโรงงานผลิตในยุคอุตสาหกรรม 4.0 เป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องลงมือทำ

ซึ่งหากประเมินคร่าว ๆ ผู้ประกอบการจะใช้เงินลงทุนในการนำโซลูชั่นทั้งหมดมาใช้ภายในโรงงานประมาณ 1.5-1.6 ล้านบาท คุ้มทุนภายในเวลา 4 ปี และยังสามารถขอสิทธิประโยชน์ตามมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพ

จากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ได้เพิ่มเติม โดยจะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปี เป็นสัดส่วน 50% ของเงินลงทุน เป็นต้น

ทั้งนี้ คาดว่าภายในสิ้นปี 2564 จะเห็นการลงทุนด้าน automation factory เกิน 10,000 ล้านบาท (อ้างอิงจากข้อมูลการลงทุนช่วงที่ผ่านมาของ BOI)