“จุรินทร์” จ่ออัด 8 หมื่นล้าน ประกันรายได้ข้าว ปี 3

ข้าว

จุรินทร์ เดินหน้าประกันรายได้ข้าวปี 3 พร้อมวางงบประมาณรอบนี้ 80,000 ล้านบาท คาดเร่งเสนอ นบข.-ครม. พิจารณาเห็นชอบต่อไป

วันที่ 6 สิงหาคม 2564 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์  เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการ นโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติด้านการตลาด ครั้งที่ 1/2564 ว่า  ที่ประชุมมีมติพิจารณาเดินหน้าโครงการประกันรายได้ข้าวเปลือกปี 3 โดยยังคงดำเนินการตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขเดิมทั้งหมด พร้อมกันนี้ ได้วางวงเงินงบประมาณในการใช้โครงการกันรายได้ไว้ที่ประมาณ 80,000  ล้านบาท  และงบประมาณสำหรับมาตาการเสริมประมาณ 8,000 ล้านบาท  คาดว่าจะเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.)  ซึ่งมีนายกเป็นประธาน ได้ช่วง 23 สิงหาคม 2564 ก่อนที่จะเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป

สำหรับสถานการณ์การประเมินผลผลิตข้าวนาปี 2564/65 คาดว่าจะอยู่ที่ 26 ล้านตันข้าวเปลือก ซึ่งปริมาณเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบจากปีที่ผ่านมา 4.58%  ซึ่งเป็นผลมาจากฝนดี น้ำดี ส่งผลให้ผลผลิตข้าวเพิ่มขึ้น ทั้งนี้  นอกจากโครงการประกันรายได้ยังมีมาตรการเสริมคู่ขนานเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร เช่น สนับสนุนให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวชะลอการขาย ในช่วงที่ข้าวออกสู่ตลาดมากเพื่อป้องกันไม่ให้ข้าวราคาตกจนเกินไป โดยเกษตรกรที่ชะลอขายข้าวจะได้รับเงินช่วยเหลือตันละ 1,500 บาท  ช่วยเหลือดอกเบี้ยเงินกู้ให้กับสหกรณ์หรือสีโรงสีที่เก็บสต๊อกข้าวและไม่ปล่อยออกสู่ตลาด โดนชดเชยดอกเบี้ย 3% และส่งเสริมการส่งออกข้าว โดยช่วยดอก 3% เป็นเวลา 6 เดือน ในเดือนตุลาคม 2564 ถึงเดือนมีนาคม 2565 

“เกษตรกรที่จะเข้าร่วมโครงการสามารถลงทะเบียนได้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 64 ถึง 31 ตุลาคม 64 และภาคใต้ลงทะเบียนได้ตั้งแต่วันที่ 16 มิถุนายน 64 ถึง 28 กุมภาพันธ์ 65 และการจ่ายเงินส่วนต่างจะเริ่มต้นตั้งแต่เดือนตุลาคมถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 65 ส่วนภาคใต้จะเริ่มจ่ายเงินส่วนต่างตั้งแต่เดือนมีนาคม 65 ถึงพฤษภาคม 65”

สำหรับการจ่ายเงินในโครงการประกันรายได้ข้าวเปลือกปี 2 ที่ผ่านมา มีการจ่ายเงินส่วนต่างสูงสุดสำหรับข้าว 5 ชนิดดังนี้ คือ ข้าวหอมมะลิจ่ายเงินชดเชยสูงสุด 42,830 บาทต่อครัวเรือน ข้าวหอมนอกพื้นที่ สูงสุด 41,680 บาทต่อครัวเรือน ข้าวเปลือกเจ้า สูงสุด 36,670 บาทต่อครัวเรือน ข้าวหอมปทุม 26,674 บาทต่อครัวเรือน ข้าวเปลือกเหนียว 33,350 บาทต่อครัวเรือน  ส่วนวงเงินที่ใช้ไปในโครงการประกันรายได้ประมาณ 48,000 ล้านบาท

นอกจากนี้  การผลักดันการส่งออกข้าวได้เร่งรัดให้กรมการค้าต่างประเทศ เร่งเจรจาระบบจีทูจีกับจีน ซึ่งยังมี MoU ค้างการซื้อข้าวจะเข้าอยู่ 280,000 ตัน โดยขอให้มีการเร่งเจรจาให้ซื้อข้าวครบตามที่ได้ทำไว้โดยเร็วที่สุด พร้อมกันนี้  หากเป็นไปได้ช่วงเวลานี้ต้องการขอให้จีนช่วยซื้อข้าวหอมมะลิเพิ่มเติมเพราะราคาข้าวหอมมะลิของไทยสามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก โดยก่อนหน้านี้ที่เซ็นสัญญากับจีนไว้ 20,000 ตัน ได้มีการส่งมอบเรียบร้อยแล้ว  

ส่วนโครงการประกันรายได้เกษตรกรปี 3 กับสินค้าเกษตร 5 ชนิด คือ ข้าวเปลือกเจ้าตันละ 10,000 บาท ข้าวหอมมะลิตันละ 15,000 บาท ราคายางแผ่นดิบ 60 บาท ราคาน้ำยางสด 57 บาท ยางก้อนถ้วย กก.ละ 23 บาท มันสำปะหลัง กก.ละ 2.50 บาท ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ กก.ละ 8.50 บาท และปาล์มน้ำมัน กก.ละ 4 บาท ยังคงเดินหน้าต่อไป โดยแต่ละรายการชนิดของสินค้าเกษตรกก็จะนำเข้าหารือกับคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องเพื่อเห็นชอบก่อนเสนอเข้าคณะกรรมการชุดใหญ่เพื่อเสนอเข้า ครม. เห็นชอบต่อไป  โดยรายการสินค้าที่จะประชุมต่อไป คือ  ข้าวโพดและปาล์มน้ำมัน

เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น 7.67 ล้านครัวเรือน แบ่งเป็นเกษตรกรผู้ปลูกข้าว 4.5 ล้านครัวเรือน ยางพารา 1.78 ล้านครัวเรือน มันสำปะหลัง 5.2 แสนครัวเรือน ปาล์มน้ำมัน 3.7 แสนครัวเรือน และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 4.5 แสนครัวเรือน 

นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน  กล่าวว่า  สำหรับแนวโน้มของราคาข้าวในตอนนี้ปรับตัวลดลงเนื่องจากปัญหาการแพร่ระบาดของโคงิด-19 ส่งผลให้การบริโภคชะลอตัวรวมไปถึงการส่งออกข้าวของไทย  แต่อย่างไรก็ดี  จากแนวโน้มราคาที่อ่อนตันลงส่งผลให้การแข่งขันการส่งออกข้าวของไทยดีขึ้น  ซึ่งต้องเร่งผลักดันการส่งออกต่อไป  ส่วนราคาข้าวเปลือกเจ้าปัจจุบันอยู่ที่  7,000-8,000 บาทต่อตัน  ลดลงจากปีที่ผ่านมาซึ่งอยู่ที่  8,700-9,400 บาทต่อตัน  

นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวว่า  การส่งออกข้าวของไทย 6 เดือนแรกของปี (มกราคม-มิถุนายน 2564)  ปริมาณอยู่ที่  2.17  ล้านตัน  หดตัว  25.68%  เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน  หากดูเฉพาะเดือนกรกฎาคม 2564 การส่งออกข้าวไทยไปในตลาดโลกอยู่ที่ 5.7 แสนตัน  ขณะที่เป้าหมายการส่งออกข้าวไทยทั้งปีอยู่ที่ 6 ล้านตัน  อย่างไรก็ดี  จากนี้ไทยต้องเร่งผลักดันการส่งออกโดยเฉพาะรูปแบบจีทูจ  ทั้งจีน  อินโดนีเซียและบังคลาเทศ  ที่ได้มีการลงนามบันทึกความร่วมมือร่วมกันซึ่งก็จะได้เร่งผลักดันในการส่งออกต่อไป  อย่างไรก็ดี  จากทิศทางราคาข้าวไทยที่อ่อนตัวลงจะทำให้การส่งออกข้าวของไทยจากนี้ดีขึ้น  เห็นได้จากข้าวขาว 5% ไทยราคาอยู่ที่  388 เหรียญสหรัฐต่อตัน  เวียดนามอยู่ที่ 390 เหรียญสหรัฐต่อตัน  และอินเดียอยู่ที่ 385 เหรียญสหรัฐต่อตัน