กยท.ชี้ ประมูลยางโปร่งใส ส่งมอบ “นอร์ทอีสฯ” เกลี้ยง

ยางพารา

“ณกรณ์” ผู้ว่าการ กยท.เคลียร์ปมอภิปรายล็อกสเป็กประมูลสต๊อกยางเก่า 1 แสนตัน ให้นอร์ทอีส รับเบอร์ย้ำ TOR รัดกุม โปร่งใส ชี้ราคายางเก่า 9 ปี เสื่อมสภาพย่อมไม่ได้ราคาตลาดแน่ ฟุ้งรับเงินส่งมอบจบตามสัญญาแล้วเหลือแค่ซื้อยางเกษตรกร 1 ปี

นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงกรณีการอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี และนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ ประเด็นที่มอบให้ กยท.ประมูลขายยางแผ่นรมควันอัดก้อนและยางอื่น ๆ 104,763.35 ตัน ตามโครงการพัฒนาศักยภาพสถาบันเกษตรกรเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายาง และโครงการสร้างมูลภัณฑ์กันชนรักษาเสถียรภาพราคายาง ให้กับบริษัท นอร์ทอีส รับเบอร์ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ชนะรายเดียว ในราคาต่ำกว่าราคาตลาด ทำให้รัฐต้องสูญเสียงบประมาณชดเชยขาดทุนกว่า 6,000 ล้าน และส่งผลกระทบต่อราคายาง

ณกรณ์ ตรรกวิรพัท
ณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย

“การดำเนินการเป็นไปตามมติคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ เมื่อ 9 มิถุนายน 2563 และมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 3 พฤศจิกายน 2563 เห็นชอบให้ กยท.ดำเนินการระบายสต๊อกยางในโครงการดังกล่าวให้หมดไปโดยเร็ว ซึ่งนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ ย้ำว่า

1.ให้ดูช่วงเวลาที่เหมาะสมในการระบายเพื่อไม่ให้กระทบราคาตลาด

2.เกษตรกรต้องได้ประโยชน์

Advertisment

3.ต้องรักษาผลประโยชน์ภาครัฐ เพราะเป็นเงินภาษีประชาชน และ

4.ต้องทำโดยสุจริตโปร่งใสตรวจสอบได้และถูกต้องตามระเบียบ ที่เน้นย้ำที่สุด คือห้ามทุจริตคอร์รัปชั่นโดยเด็ดขาด ทาง กยท.จึงได้กำหนดทีโออาร์อย่างรัดกุม ทั้งคุณสมบัติผู้เข้าร่วมทั้ง 17 คลัง การวางหลักฐานการเงิน 1 พันล้าน วางหลักประกันอีก 200 ล้าน เพื่อป้องกันไม่ให้มีการทิ้งการประมูลเหมือนปี 2560”

โดยขณะนี้ผู้ชนะการประมูลได้รับมอบสินค้าตามสัญญาเสร็จสิ้นตามสัญญากำหนด 1 เดือน นับตั้งแต่ 29 เมษายน-31 พฤษภาคม 2564 แล้ว ส่วนเงื่อนไขที่ให้ซื้อยางจากสถาบันเกษตรกรอีก 1 เท่าของปริมาณยางที่ประมูลได้ กำหนดไว้ภายใน 1 ปี นับจากวันที่ลงนามในสัญญา

“ประเด็นการประมูลทุบราคายางขายได้ราคา กก.ละ 37 บาท ขณะที่ราคาตลาด กก.ละ 67 บาทนั้น กยท.ยืนยันว่าช่วง 3 เดือนที่จะประมูลเดือนเมษายนยังเป็นช่วงราคาขาขึ้น แต่ที่ได้ราคาต่ำเพราะยางสต๊อกเก่า 9 ปีแล้ว คุณภาพเสื่อม จะขายเทียบราคายางปกติไม่ได้ กยท.ก็มีมาตรการบริหารจัดการยางเป็นอย่างดี นี่จึงไม่เป็นปัจจัยกดดันในด้านราคายาง แต่ช่วยให้ชาวสวนยางได้ประโยชน์”

Advertisment

“และที่สำคัญยังช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายภาครัฐปีละ 132 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าเช่าคลัง 46.248 ล้านบาท ค่าเช่าโกดังโครงการสร้างมูลภัณฑ์กันชนฯ 38.016 ล้านบาท ค่าเบี้ยประกันสต๊อก 35 ล้านบาท ค่าบริหารโครงการ 13 ล้านบาท”